ทางสายกลางเราเป็นผู้เลือก

ทางสายกลางเราเป็นผู้เลือก

329
0
แบ่งปัน

***** “ทางสายกลางเราเป็นผู้เลือก” *****

เรามองดูรอบๆตัวเราซิ ว่าทุกวันนี้เราเข้าใจอะไรตรงตามความเป็นจริงบ้าง

เราลองนำสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่เรารู้สึกได้ เช่นความดี มาหาความจริงดู

เมื่อกล่าวถึงความดี เช่น สิ่งนั้นดี สิ่งนี้ดี

นี่..เป็นเรื่องของบุคคลชนทั้งหลาย

พอๆ กับ เมื่อกล่าวถึงความชั่ว

นี่..เป็นเรื่องของบุคคลชนทั้งหลาย ที่เขาเป็นกันด้วยความเป็นธรรมดา

แต่ในความเป็นพุทธนั้น..

ไม่ได้ไปอุดตันแค่ความดีและความชั่วแต่เพียงแค่นั้น

ความเป็นพุทธนั้น ความดีและความชั่ว มันยังมีเจ้าของอยู่ เป็นเรื่องของอัตตาทั่วไปทั้งหลาย

เช่น เราบอกว่าสิ่งนี้ดี.

ความดีเช่นนี้ เกิดจากเราบอก หรือสิ่งนี้มันดี

เราบอกว่าสิ่งนี้ชั่ว

ความชั่วเช่นนี้ เกิดจากเราบอก หรือสิ่งนี้มันชั่ว

ทางพุทธนั้น สาวผลที่ปรากฏนั้นเข้าไปหาเหตุ

ฉะนั้น..สิ่งนี้ดีหรือชั่ว มันเป็นผล เหตุมันมาจาก เราที่เป็นเหตุ

เรา..เป็นเหตุ ยัดเยียดความชั่วดี ลงไปในสรรพสิ่ง ว่าสิ่งนี้ชั่วหรือดี

หากสิ่งใดดี นั่นเพราะเกิดจากความถูกใจเรา เราจึงบอกว่าสิ่งนั้นดี

หากสิ่งใดชั่ว นั่นเพราะเกิดจากความไม่ถูกใจเรา เราจึงบอกว่าสิ่งนั้นชั่ว

แท้จริงสิ่งเหล่านั้น ไม่ได้ชั่ว ไม่ได้ดี

ชั่วดี เกิดจากเรา ที่ถูกใจและไม่ถูกใจ ในนิยามที่เรายัดเยียดให้มันเป็น

พุทธนั้นแตกต่างจากศาสนาอื่นเช่นนี้

ต้นไม้ต้นหนึ่ง เราถูกใจ ว่ามันดี มันก็ดี

ไม่ถูกใจว่ามันไม่ดี มันก็ย่อมไม่ดี

ความเป็นจริงต้นไม้ไม่ได้ดีหรือไม่ดี

ความดีหรือไม่ดีเกิดจากเราที่ยัดเยียดลงไปตามความถูกใจและไม่ถูกใจ ในสิ่งที่เกิดจากใจเรา

ถูกใจนี่ เป็นกามสุขัลลิกานุโยค

ไม่ถูกใจนี่เป็นอัตถกิลมถานุโยค

สองตัวนี้เป็นธรรมของชาวบ้านทั้งหลาย ที่อาศัยตัณหาผุดออกมาไม่รู้จบเป็นตัวกระแส

ถูกใจก็ชอบใจ ดีไปซะหมด

ไม่ถูกใจก็ไม่ชอบใจ เลวไปซะหมด

ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง ว่ากันไปตามอารมณ์ใจตน

นี่..ปุถุชน ผู้เป็นสงฆ์ภิกษุ ไม่ควรหลงกระแสเข้าทำการส้องเสพ

หากไหลไปในกระแส นี่เรียกว่าสมุทัย

หากมีสติตรึกตรองตามความเป็นจริงได้ นี่เรียกว่ามรรค

ทั้งสมุทัยและมรรค ต่างมีเหตุเกิดมาจากตัณหาที่ผุดขึ้นมาจากใจไม่รู้จบนี้ทั้งสิ้น

ชาวพุทธผู้มีปัญญา จึงสอดส่งมองเห็นตามความเป็นจริงเช่นนี้

เป็นผู้ที่เลือกหนทางแห่งความพอดี ที่จะเลือกเดินให้แก่ชีวิตไปตามเหตุและปัจจัย

เราเรียกว่าทางสายกลาง

ทางสายกลางเป็นหนทางแห่งวิถีพุทธ

ทางสายกลางไม่ใช่ความว่าง หรือไม่รู้ไม่ชี้ไม่เอาอะไร

ทางสายกลางคือภูมิปัญญาญานที่เกิดมาจากสติปัญญา ที่เข้าใจในหนทางทั้งสองฟาก

ทั้งฟากดีและฟากชั่ว

เจ้าของเป็นผู้เลือกหนทางที่จะเดินได้ตามเหตุปัจจัยของภูมิปัญญาที่มี

เป็นผู้เลือกช่องว่างที่ดีที่สุดในการก้าวเดิน โดยไม่โต่งออกไปข้างใดข้างหนึ่ง ตามคำนิยามของโลกและของตนเอง

ฉนั้น..ทางสายกลางของแต่ละคนจึงมีไม่เท่ากัน ตามเหตุปัจจัยในวาสนาภูมิปัญญา

พวกเราพึงก้าวให้ถึงความเป็นชนในวิถีพุทธ

ความเป็นพุทธะในวิถี จึงจะเกิดกำเนิดขึ้นมาในภูมิจิตวาสนาแห่งการกำเนิด

ขอสาธุคุณในยามเที่ยง.

พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง วันที่ 1 กันยายน 2560