อาการปิติในสมาธิ

อาการปิติในสมาธิ

391
0
แบ่งปัน

***** “อาการปิติในสมาธิ” *****

เมื่อวานข้าได้อธิบายแนวทางในการวางจิต เพื่อให้การทำสมาธิเกิดมรรคผลขึ้นมา

หากเรารู้เห็นตรงตามความเป็นจริงด้วยปัญญาว่า

ธรรมชาติของใจคนเรา มันก็ปรุงแต่งไปตามธรรมดาของมันเช่นนี้แหละ

เราห้ามมันไม่ได้หรอก มันไม่ใช่เรา มันทำหน้าที่ของมันไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น

เป็นแต่เรานี่แหละ มันอยากจะให้ได้ดั่งใจ

เมื่อไม่ได้ดั่งใจ และขาดผู้ชี้แนะที่ถูกต้อง ความอึดอัดขัดใจที่ไม่ได้ดั่งใจเรา มันก็เลยเกิด

นั่งไม่ได้บ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง คิดมากบ้าง ไม่สงบบ้าง

นี่..เราไม่เข้าใจธรรมดาที่เป็นธรรมชาติของใจ เรามันหลงไปเป็นเจ้าของอาการของมันซะเอง

สมัยก่อนในสมัยโบราณ เขาฝึกสมาธิในด้านไม่ทำความรู้สึกกับอะไร

เราเรียกกันว่า อรูปฌาน

พระพุทธองค์ ทรงมาพิจารณาแล้วว่า การนั่งสมาธิโดยไม่ทำความรู้สึกกับอะไรนี่ มันเหมือนเรือที่ขาดหางเสือ

การมีสติ สัมปชัญญะที่หล่อเลี้ยงการทำสมาธิ และรู้เห็นตรงตามความเป็นจริงนี่ มันจึงจะเกิดปัญญา

นี่..แนวทางแห่งพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเพียงศาสนาเดียวที่กระทำสมาธิมาในแนวทางเช่นนี้

ทีนี้การทำสมาธินี่ หากขาดปัญญา มันก็จะเจริญมาทางมรรคผลไม่ได้ มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ

มันจะแช่นิ่ง ไม่หือไม่อือ ต่อสิ่งใด หรือตกใจในอาการที่เกิดที่เป็นว่าตนเป็น

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า ธรรมของใจ มันปรุงแต่งของมันเป็นธรรมดา

เราก็ไม่ควรที่จะไปเดือดร้อนใจ ในอาการของมันที่เป็น

หากเดือดร้อน มันก็เป็นนิวรณ์ หากไม่เดือดร้อนและเข้าใจมันรู้จักอาการของมัน มันก็เป็นสัมมาสมาธิ

ใจที่ประคองวิตกที่ตั้งขึ้นมา เมื่อทำบ่อยๆ ย้อมบ่อยๆ
การหดตัวของใจมันก็เกิด

เหมือนเรามองลงไปบนพื้นที่ลายๆ เรามองจุดใดจุดหนึ่ง ด้วยการเพ่งจุดนั้นลงไป อย่างไม่หวั่นไหว

เมื่อเกิดการหดตัวของใจ รอบๆจุดที่เราเพ่ง มันจะเริ่มเบลอ

นั่นแหละ ธรรมชาติของมันละ มันหดตัวเข้ามา ไม่ให้ความสำคัญรอบๆในสิ่งที่เพ่ง

หากมองเหรียญสองเหรียญ ตั้งห่างกันซักคืบ

เพ่งเหรียญใดเหรียญหนึ่ง เมื่อเป็นสมาธิ อีกเหรียญหนึ่งมันก็จะหายไป

สิ่งเหล่านี้ที่ข้าอธิบายให้ฟัง เราต้องลองดูเอง ผลก็จะเกิดกับเราเอง

ปัญญาเราลูบคลำในสิ่งที่ข้าบอกได้เอง
ยืนยันได้เอง ธรรมมันจะฟ้องการชี้แนะของภูมิผู้ชี้

การเพ่งเหรียญ จนอีกเหรียญหายไป จนเกิดความชัดเจนขึ้นในใจเรา

เช่นนี้ เรียกว่าเรากำลังเข้าสู่ปฐมฌาน

ปฐมฌานก็คือ มีสติรู้วิตก คือการนำเหรียญมาเป็นตัวเพ่ง

สติรู้วิจารณ์ คือการประคองใจเฝ้าเพ่งเหรียญ

สติรู้ปิติ คือการรู้ชัดว่าเหรียญหายไป

สติรู้สุข คือรู้ชัดว่าเหรียญมันอยู่ที่เดิมไม่ได้หายไปไหน

อาการรู้ทั้งหมดที่เกิดขึ้น รวมเป็นอารมณ์เดียว เรียกว่า เอกคตารมณ์

คือรู้ชัดทั้ง วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เป็นอารมณ์เดียว

ทีนี้ เมื่อทำบ่อยๆ มันก็จะเกิดความเคยชิน

ใจมันก็จะหดตัวเข้าไปอีก

การหดตัวนี้ วิตกวิจารณ์มันจะจางคลายหายไป

ใจมันไม่ได้ใส่ใจเรื่องเหรียญที่ตั้ง หรือการเฝ้าเพ่งประคองเหรียญ

ถ้าเป็นคำบริกรรม หากถึงขั้นนี้ คำบริกรรมต่างๆที่ตั้งขึ้นมาและเฝ้าเพ่งประคอง มันจะจางคลายหายไป

ที่จริงมันก็ไม่ได้หายไปไหน มันก็ยังเหมือนเหรียญอีกเหรียญ ที่มันดูหายไป ทั้งๆที่มันก็ยังตั้งอยู่ข้างๆนั่นแหละ

แต่มันหยาบเกินไปซะแล้วที่ใจจะไปให้ความสนใจในรายละเอียดของคลองจักษุ

นี่เป็นอาการใจที่เข้าสู่โหมดของกำลังแห่งปิติ

ตอนนี้ หากอธิบายโยงมาจากเมื่อวาน ที่คุยกันถึงเรื่องการเทียมวัวนั่งเกวียน

เมื่อวัวมันรู้หนทางที่มันต้องเดิน เราก็ไม่จำเป็นต้องลงแซ่ ดึงมันให้เข้าสู่เส้นทางอีกต่อไป

หน้าที่เรา เราแค่เอามือกอดอกนั่งสบายๆ ดูวัวพาเราสัญจรไปในหนทางที่มันก้าวเดิน

หน้าที่บังคับวัวเราหมดแล้ว ที่เหลือแค่นั่งเฉยๆดูวิว ทิวทัศน์ ตามหนทางที่เราไม่เคยเห็นกันไป

ทีนี้..เมื่อกลับมาเทียบกับการเพ่งเหรียญ จนเหรียญด้านข้างหายไป

เช่นนี้ เราเรียกอาการทางจิตตามบาลีนี้ว่า ” ปิติ ”

ปิติก็คือ อาการทางจิตที่แสดงออกมาทางภวังค์

เรานี่บังคับบัญชาอะไรมันไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติของการปรุงแต่งทางภวังค์มัน

หากเราล้อมวงกันเพ่งเทียน เทียนนั้นเป็นวิตก การประคองการเพ่งนั้นเป็นวิจารณ์

เพ่งเทียนจนภาพรอบข้างคือผู้คนหายไป เหลือแต่เปลวเทียน เด่นขึ้นมาในจักษุ เป็นปิติ

ธรรมเหล่านี้ ข้าได้ชี้ชัดและสอนน้องๆให้เรียนรู้เป็นประจำของที่นี่

มันเป็นธรรมขั้นเด็กน้อย สบายๆง่ายๆ แต่บางคนก็ยังทำกันไม่ได้ กำลังใจยังอ่อนเกินไป

จะเป็นเหรียญเป็นเปลวเทียน หรือคำบริกรรมใดๆ เมื่อเข้าสู่โหมดปิติ

ความแปลกประหลาดทางใจที่ไม่เคยพบไม่เคยเห็น มันก็จะเกิดไปตามวิสัยภูมิ

เมื่อเกิดปิติหนาแน่น ใจมันหดตัวเข้ามา
วิตกวิจารณ์มันก็จะหยาบ และจางคลายหายไป

ใจมันจะเพ่งไปที่ “ปิติ” เป็นอารมณ์

วิตกนี่ ซ่อนอยู่ในความตั้งใจที่จะทำ

วิจารณ์ ซ่อนตัวอยู่ในวิตก

ปิติ ซ่อนตัวอยู่ในวิจารณ์

สุข ซ่อนตัวอยู่ในปิติ

อุเบกขาซ่อนตัวอยู่ในสุข

นี่..ธรรมชาติของจิตมันเป็นของมันอย่างนี้

ทีนี้เมื่อใจมันเข้ามาเพ่งอยู่ในปิติ

ผู้ที่ไม่ได้รับการอบรม ไม่ได้รับการชี้แนะ ไม่ได้มีที่ตั้งแห่งใจ ในที่นี้เราเรียกว่าศีล

บางคนก็จะตกอกตกใจในอาการที่เป็น หลายคนสะดุ้งเพ้อคลั่ง วิกลวิกาลทางจิตไปเลยก็มี

เรียกว่ากรรมฐานแตก เมื่อแตกแล้วกลับมาเหมือนเดิมได้ยาก

ผู้ที่มีความตั้งมั่น มีครูบาอาจารย์อบรม มีปัญญารู้เท่าทันอาการแห่งจิต

มันก็เหมือนเรานั่งบนเกวียนแล้วมองออกไปตามเส้นทางที่เกวียนมันพาเราสัญจรไป

อะไรแปลกๆที่พบเจอตามทางสัญจร มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั่นไปตามเหตุและปัจจัย

เรามันเป็นแค่ผู้สัญจรมาพบเห็นก็เท่านั้น

ผู้รู้เท่าทัน มันก็ไม่เป็นอัตรายต่อใจเจ้าของที่นั่งชมอยู่บนเกวียน

ปัญหาของผู้เข้าสู่โหมดปิติก็คือ การเข้าไปเป็นเจ้าของอาการ

การมีกำลังปัญญาที่อ่อนแอ ไร้ครูบาอาจารย์ผู้รู้แจ้งทางจิตชี้แนะ

กรรมฐานโทษ มันก็จะเกิด

ที่เกิด เพราะเราเข้าไปเป็นเจ้าของในอาการที่เป็น

ที่เราเข้าไปเป็นเจ้าของในอาการที่เป็น

ก็เพราะว่า เรานั้นมีสติและสัมปชัญญะเข้าไปรู้เห็นอาการปรุงในภวังค์จิต ที่มันมีและมันเป็น

จริงๆมันก็คือฝันนี่แหละ เรียกและเข้าใจง่ายๆอย่างนี้ดีกว่า ไม่ต้องบาลีให้ปวดหัว

มันฝันทั้งๆที่มีสติสัมปชัญญะมันทำงานอยู่ ความเป็นเจ้าของอาการทั้งหลายมันก็เลยมี

นี่..ธรรมชาติของใจมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย

ปิตินี่ ส่วนใหญ่เราไม่รู้จักมัน

ที่รู้จัก ก็รู้จักมาจากตำราที่เขาเขียนๆ และแปลๆกันมา

มันเป็นอาการปิติทางกายวิญญานด้านเดียว

ไอ้ที่เกิดอาการ ตัวพอง ขนลุก น้ำตาใหล ตัวหมุนติ้วๆ คันยุ๊บยิ๊บ ไฟฟ้าช๊อต หรืออะไรๆนี่

มันเป็นอาการปิติทางกายวิญญาน

มันยังมีปิติทาง มโนวิญญานอีก ทางโสตวิญญานอีก ทางฆานะ ทางชิวหา ทางจักษุวิญญานอีก

มันมีอีกเยอะแยะนักไอ้น้อง

รู้ธรรมรู้ให้มันกว้างขวาง รู้แค่ตีบตันตามตำราและตรึกนึกคิดเอา การชี้สอนในสมาธิมันก็จะแคบ

ผู้ฝึกตามก็จะไม่เกิดมรรคผล

ช่วงเดือนสิงหาข้าจะชี้สอนแนวทางแห่งสมาธิจิต เพื่อมรรคผลที่จะเกิด

ใครว่างและปรารถนาจะเข้าใจและชี้สอนผู้อื่นได้ ก็ขอเชิญที่เกาะกลางน้ำ

ปิตินั้นมีหลากหลายอาการ เดี๋ยวว่างข้าจะชี้ให้เห็นเหตุและอาการต่างๆ ที่เราเป็นกัน

จะได้รู้จักมันซะ จะได้ไม่หลงและโดนหลอกจากพวกรู้ดีเพ้อพก ว่าเป็นนั่นเป็นนี่

ขอให้ฉลาดกันขึ้นมาเสียที่ ตื่นขึ้นมามีดวงตาเห็นธรรมที่ใจเราจับต้องได้

วันนี้ขอสาธุสวัสดีกับวันศุกร์ปลายสัปดาห์ ขอให้ร่ำรวยๆและมีแต่ความสุขความเจริญ….

พระธรรมเทศนา โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง

ณ พุทธอุทยานบุญญพลัง จ.กาญจนบุรี วันที่ 21 กรกฎาคม 2560