มีสมาธิย่อมเห็นความจริง

มีสมาธิย่อมเห็นความจริง

368
0
แบ่งปัน

**** “มีสมาธิย่อมเห็นความจริง” ****

เรื่องสมาธินั้น หลายคนมีปัญหา

ปัญหานั้น คือความอยากที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จบจากใจนั้นแหละ

หากเราใหลไปตามกระแส มันก็จะเป็นสมุทัย

หากเราเข้าใจความเป็นธรรมดาของมัน ก็จะเป็นมรรค

มันเป็นหลักอริยสัจ ที่เป็นธรรมชาติแห่งความจริงที่เราต่างไม่ค่อยรู้กัน

ความไม่รู้นั้น ทำให้เราไม่เข้าใจธรรม ธรรมในที่นี้หมายถึงธรรมชาติของมัน

ครูอาจารย์มักสอนให้เรานั่งหลับตา และบริกรรมอะไรซักอย่าง

ก็เพื่อให้ใจเรามันมีจุดศูนย์รวม

การบริกรรมนั้น จะบริกรรมอะไรก็ได้ เอาให้มันชินซักคำ

จะพุทโธ สัมมาอรหัง นะมะพะทะ ยุบหนอ หรืออะไรก็ตาม บริกรรมได้ทั้งนั้น

ใจที่มันมีที่ตั้ง มันก็จะจรดจ่ออยู่กับสิ่งที่มันเพ่ง

ทีนี้ ธรรมชาติของใจ มันก็ปรุงแต่งเรื่อยไปของมันนั่นแหละ

เมื่อมีอาการเพ่งลงไป จนเกิดสมาธิคือความตั้งมั่น

สิ่งที่พบเห็นอย่างแรกนั่นก็คือ การปรุงแต่งของใจที่ไม่มีที่สิ้นสุด

นี่..ตรงนี้เป็นธรรมชาติของมัน เราพึงทำความเข้าใจอาการของมันด้วยปัญญา

การจะไปบังคับมันให้เป็นไปตามความรู้สึกนึกคิดเรา ว่าจะให้เป็นอย่างนั้น นั่น นี่

เช่นนี้ เป็นการฝืนธรรมชาติ ที่จะสร้างความอึดอัดให้แก่ใจเรา

และมันก็เป็นไปไม่ได้ ที่จะได้ตามใจของเราซะด้วย

ถึงจุดหนึ่ง มันก็ปรุงแต่งของมันไปตามธรรมชาติล่ะ

หากเรามีปัญญาเข้าใจธรรมดาของมัน ผู้ชี้ผู้สอนท่านก็จะให้เรานั้น ดึงกลับมาสู่คำบริกรรมใหม่

คำบริกรรมนั้น เป็นตัวตั้งขึ้นมาเพื่อให้ใจได้ยึด บาลีเรียกว่า วิตก

เมื่อกลับมาตั้งคำบริกรรมใหม่ ก็ให้ประคองคำนั้นด้วยการเพ่งลงไป

การประคองคำบริกรรมนั้น บาลีท่านเรียก วิจารณ์

วิจารณ์คือการประคอง เป็นการเพ่งในวิตกเพื่อตั้งมั่นตามกำลังของสัมปชัญญะ

เมื่อเพ่งประคองแล้ว ระลึกขึ้นมาได้ว่า ใจมันเกิดการปรุงแต่งไปอย่างอื่นตามธรรมชาติของมันแล้ว

ก็ให้ดึงกลับมาที่วิตกใหม่ มาเริ่มคำบริกรรมใหม่

การระลึกได้ว่าหลุดไปจากคำบริกรรม เรียกว่า สติ

สตินี่เป็นเครื่องระลึกรู้ ที่เป็นธรรมชาติ แห่งเจตสิกปรุงแต่ง

มันเกิดการระลึกรู้ขึ้นมาได้ด้วยอำนาจแห่งผัสสะภายใน

ที่เห็นการปรุงแต่งใหลไปตามเหตุและปัจจัยในมโน

เมื่อเกิดการระลึกได้ เราก็ดึงกลับมาตั้งต้นใหม่ด้วยวิตกที่เราตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์รวมใจ

นี่..เมื่อเรารู้จักธรรมชาติธรรมดาของมันเช่นนี้ การทำสมาธิ มันก็จะไม่เกิดอุปกิเลสในใจเรา

อุปกิเลสนี่เป็นการหลงผิดแห่งอาการจิต เป็นภวตัณหาและวิภวตัณหาอย่างหนึ่ง

คือการทะยานอยากในสิ่งที่ทำไห้ได้ดั่งใจ

และการยึดมั่นในสิ่งที่ได้ ไม่อยากให้มันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

อารมณ์สองตัวนี้ เป็นอุปกิเลสในการทำสมาธิ บาลีเรียกว่านิวรณ์

นิวรณ์นี่เป็นอุปกิเลสขวางกั้นมรรคผลที่จะให้มันเกิด

ทีนี่เมื่อเข้าใจโดยปัญญาที่ตรงดีแล้วถึงธรรมชาติของใจมัน

การทำสมาธิก็จะง่ายขึ้น ไม่อึดอัดใจเจ้าของที่มีตัณหาผุดขึ้นมาไม่รู้จบ

เราหลับตานั่งบริกรรม จะบริกรรม หรือจะเพ่งลมหายใจเฉยๆ เราก็ว่ากันไป

เมื่อเกิดการเพ่ง มันก็เหมือนเอาใจทั้งหมดมาหยุดดู

เหมือนเราหยุดดูอะไรซักอย่าง เมื่อเพ่งพินิจดู มันก็จะเห็นรายละเอียด

หากมองผ่านๆ ลายละเอียดเราก็จะไม่เห็น นี่เป็นธรรมดา

การทำสมาธิก็เช่นกัน

เมื่อเกิดการเพ่ง มันก็จะเห็นการปรุงแต่งขอใจที่มันปรุงออกมาโดยไม่รู้จบ

นี่เราเห็นธรรมชาติของใจมัน ใจมันมีธรรมชาติของมันเป็นอย่างนี้

บางคนบอกว่า ให้ตามรู้อาการปรุงของมัน

เช่นนี้จะเป็นการรวมใจให้เป็นหนึ่งไม่มีวันได้

เพราะใจนั้น มันปรุงขึ้นมาได้โดยไม่รู้จบ มันจะเสียเวลาทั้งชีวิตกับธรรมชาติธรรมดาของใจมัน

พึงเข้าใจมัน เมื่อเรามองเห็นความจริงของมัน ว่ามันปรุงของมันเป็นธรรมดา

เราก็ดึงกลับมาตั้งวิตกใหม่ และประคองใจใหม่ ไม่ให้ใจมันใหลไปตามกระแสที่มันปรุง

ง่ายๆแค่นี้ เพียงแต่เราต้องมีปัญญา ทำความรู้จักตามความเป็นจริงของมันเสียก่อน

ธรรมชาติของใจมันปรุงแต่งของมันเป็นอย่างนี้

หากใหลไปตามกระแส ก็จะเป็นสมุทัย

หากมีปัญญาเข้าใจในธรรมชาติของมัน ก็จะเป็นมรรค

สมาธินั้น มันใช้ความเคยชิน ทำซ้ำๆให้ใจมันรวมกันเป็นหนึ่งเดียว

แต่อย่าไปคาดหวังว่ามันจะรวมเป็นหนึ่งเดียวได้ดั่งใจเรา

เพ่งซักพัก เดียวมันก็กลับไปปรุงแต่งตามธรรมชาติของมัน

เราห้ามมันไม่ได้ แต่เรามีปัญญารู้อาการธรรมชาติของมันได้

เมื่อรู้จักอาการของธรรมชาติใจมัน

เราก็จะไม่อึดอัดขัดข้อง ว่าทำไมเราจึงไม่เป็น ไม่เกิดสมาธิให้ได้ดั่งใจเรา

สมาธิเราเกิดแล้ว เมื่อเราเห็นชัดด้วยปัญญาเรา ว่ามันมีการปรุงแต่งเป็นธรรมชาติของมัน

เราก็กลับไปตั้งต้นวิตกใหม่ อย่าไปเดือดร้อนกับข้ออ้างการไม่ได้ดั่งใจของกิเลสเรา

เมื่อเข้าใจได้เช่นนี้ การทำสมาธิของเราก็จะเจริญก้าวหน้า

ความตั้งมั่นที่ตั้งวิตกขึ้นมา และประคองไว้ เป็นอำนาจหน้าที่ของเราที่เฝ้าเพ่งดู

เรามีหน้าที่แค่นี้ ถ้าระลึกได้ว่าหลุดไปจากการเพ่งประคอง เราก็ดึงกลับไปสู่วิตกใหม่

การทำสมาธินั้น มันก็แค่เจริญ วิตก วิจารณ์ๆๆๆๆๆๆ ไปเรื่อยเช่นนี้

ทำจนใจมันเคยชิน เรียกว่าหมั่นย้อมใจเราให้อยู่
ในกรอบใหม่เช่นนี้ให้ได้

การจับลิงใส่คอกกั้น การดิ้นรนมันก็มีเป็นธรรมดา

มันเหมือนการที่เราจับวัวเทียมเกวียน วัวมันก็จะเดินสะเปะสะปะไปตามใจธรรมชาติของมัน

เรามีหน้าที่บังคับมันด้วยแซ่เพื่อให้มันเข้าสู่ทาง

เมื่อมันเริ่มออกนอกทาง เราก็ดึงกลับด้วยแซ่ ให้มันกลับเข้ามาในหนทาง

เมื่อทำจนชิน วัวมันจะรู้หนทางของมันเอง ว่ามันจะต้องเดินไปบนเส้นทางแบบไหน

เมื่อความเคยชินเกิด เราเจ้าของก็แค่นั่งเฝ้าดูอยู่บนเกวียนเฉยๆ ไม่ต้องไปดึง ไปหวดอะไรมันอีก

วัวมันก็จะนำเราไปตามเส้นทางโดยธรรมชาติของมัน เรามีหน้าที่แค่นั่งเฝ้าดูวัว

เช้าๆเช่นนี้ เราพึงลุกขึ้นมานั่งสมาธิกันเล็กน้อย ก่อนออกไปทำงาน

เข้าใจในอาการของใจ ว่าธรรมชาติของมันเป็นเช่นไร

เราก็จะไม่อึดอัดใจ ว่าทำไม ใจเราถึงไม่เป็นสมาธิ ชอบคิดนู่น นี่ นั่น ฟุ้งซ่านไปเรื่อย

ให้เข้าใจว่า นั่นเป็นธรรมดาของมัน

เมื่อเข้าใจธรรมดา

การทำสมาธิจะที่ตรงไหน เวลาใด ใจเราก็มีความสุข ไม่ทุกข์ร้อนและอึดอัดใจ

สมาธินั้น พึงประกอบด้วยปัญญา

การดึงดันให้ได้ดั่งใจ มันก็เหมือนแมลงวันบินชนกระจกใส

มันไปไม่ได้มันก็จะไป

แมลงวันบินชนกระจกใส มันเป็นวิสัยคนโง่ ที่ดึงดันจะทำสมาธิ

สวัสดีเช้าวันพฤหัส..ขอให้มีแต่ความสุขความเจริญ

พระธรรมเทศนา โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง ณ พุทธอุทยานบุญญพลัง จ.กาญจนบุรี วันที่ 20 กรกฎาคม 2560