ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม

583
0
แบ่งปัน

>> ลูกศิษย์ : อารมณ์ตัวโคลง..ตัวโต ตัวเล็ก ตัวลอย..ตัวหาย..ไม่หายใจ..เเสงสว่าง.โยกจนหมุนก็มี..เเต่ล่าสุดอยู่ดีๆมีเสียงดังวิ้งงงงงง.ในหูข้างซ้าย.ดังมากๆ..พร้อมกับรู้สึกว่าจิตมันเดินทาง..คล้ายๆ นั่งในยานไปในอวกาศเเบบนี้ครับ.อยู่ประมาณเกือบหนึ่งนาที.รู้สึกกลัวนิดๆ.เคยได้ยินอาจารย์ท่านอื่นๆ ว่า.อย่าสนใจ.รู้อยู่..เเต่ในใจก็หวั่นๆ.ห้ามไม่ได้เลย.เลยพยายามตั้งสติ..เเต่เเล้วเสียงวิ้งงงๆๆ ในหูเริ่มเบาลงกับจิตที่มันเดินทาง..ช่วงนี้เเม้เเต่ออกสมาธิ.ก็ได้ยินเสียงเเปลกๆ เช่นเสียงสวดมนต์..เสียงดนตรี..บางทีได้ยินคนพูดอยู่ไกลๆ.พยายามตั้งสมาธิจับเสียงนั้น..มันก็ได้ยิน..เเต่ละครั้งที่ผมจะได้อารมณ์เเบบนี่..มันต้องผ่านเวทนา.ปวดเเทบตาย..เเล้วคิดว่าร่างกายเรานี่มันขยะ..ห้ามเจ็บ ห้ามป่วย ห้ามเเก่ ห้ามตายก็ไม่ได้.ตายๆ ไป..มันก็เข้าสู่ภวังค์สมาธิได้ทุกครั้ง.เเละจะเป็นช่วงหนึ่งเเล้วค่อยถอยมาๆ..จนธรรมดา.ก็เลิก..พอจะนั่งอีกถ้าใจคิดอยากเป็นเเบบนั้นอีก..ก็ไม่ได้เเล้วครับพระอาจารย์…

<< พระอาจารย์ : ชโย จึงตั้งธรรม

อาการต่างๆ ที่เป็นที่เกิดในสภาวะจิต ล้วนเป็นการปรุงแต่จากสังขารจิตทั้งนั้น

เพราะสรรพสิ่ง ที่ผัสสะทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง อะไรต่ออะไร ล้วนสมมุติ

แต่ในสมมุตินั้น เราเป็นเจ้าของอยู่

เมื่อสติได้ผัสสะกับการปรุงแต่จิตที่ไม่เคยมีการบันทึก

เป็นธรรมดาที่สัญญาจะทำหน้าที่ บันทึกและผลักไส ความตื่นเต้นแปลกใจในสิ่งที่ไม่เคยผัสสะ ย่อมเกิดเป็นธรรมดา

อาศัยความไม่รู้เป็นเหตุ แต่หากใจตั้งมั่น และได้รับการอบรมจิตมาดีพอ

สิ่งเหล่านี้เจ้าของก็ย่อมรู้เป็นธรรมดาว่า มันก็ปรุงแต่งของมันขึ้นมา เป็นของมันเช่นนั้นเอง

เมื่อเคยชินกับผัสสะ และใจมันวาง

สิ่งเหล่านี้ถึงเกิดมันก็ไม่รำคาญ ใจมันจะมุ่งไปสู่ธรรมที่เป็นจิตละเอียดกว่านั้นอีก เรียกว่า สุข และเป็นอารมณ์เดียว เรียกว่า ใจที่มีจิตเป็น ปฐมฌาน


>> คำถาม : กราบนมัสการพระอาจารย์เจ้า อาการที่เวลาเรานั่งสมาธิแล้วเหมือนหลับแต่ไม่ได้หลับคืออะไรค่ะ ถ้าเราหลับก็ต้องล้มตัวนอนใช่มั้ยค่ะ แต่นี่เรานั้งอยู่พอถอนสมาธิออกมารู้สึกว่าเรานั้งได้นาน หรือว่าเราหลับเพราะมันจะเคลิ้มแบบไม่รู้สึกตัวเจ้าค่ะ

<< พระอาจารย์ : Janthorn …

อาการเหมือนหลับแต่ไม่ได้หลับ บางครั้งก็เป็นอาการเคลิ้มๆ ก็มี

สติมันหายเป็นช่วงๆ ก็มี มันสบายๆ ก็นั่งได้นาน แต่ก็ได้แค่นั่ง

การทำสมาธิจิต สติมันรู้เป็นสัมปชัญญะตลอดเวลา เพียงแต่สภาวะมันหดหาย ไปเรื่อยๆ

เหมือนเราเอาก้อนหินหรือเหรียญ มาตั้งห่างกันซักคืบ

เราจ้องเพ่งไปยังเหรียญใดเหรียญหนึ่ง

ซักพัก อีกเหรียญก็จะหายไป ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงมันก็ไม่ได้หาย

ที่เจ้าของรู้สึกว่าหาย มันเป็นเรื่องของสติที่ไปจับอาการแห่งจิต

ที่มันหดตัวเข้ามา โดยไม่รู้ว่า มันเป็นเรื่องของจิต ที่ตัดความสำคัญรอบๆ ในวัตถุที่เพ่ง

จิตมันหดตัวของมันเอง สติเป็นแค่เครื่องตามรู้ ในอาการแห่งจิต มีเจ้าของการระลึกได้ ว่า มันไม่มี ทั้งๆ ที่มันก็มี

จิตที่หดตัวแคบๆ เข้ามา ๆ จนเหลือแต่อุเบกขากับการผัสสะแห่งอายตนะทั้งหลาย

อายตนะคือช่องทางรับรู้ในการผัสสะ

มันก็ยังมีสติที่ลอยเด่นอยู่สมบูรณ์ด้วยสัมปชัญญะ

นี่..เป็นภาวะสูงสุดแห่งรูปสมาธิแล้ว มันก็มีสติรู้ตัวตลอด แม้จะไม่มีตัวให้รู้เหมือนเหรียญที่ดูว่าหายไปก็เหอะ

จึงอธิบายได้ว่า อาการที่ท่านเป็น มันเป็นอาการแห่งจิต ที่สติกำลังยังอ่อนอยู่

แต่บางคนจิตเข้าถึง อัปปนาสมาธิ นี่..ทุกอย่างก็ดับลงหมดเช่นกัน แม้แต่สติ


>> คำถาม : หากแสงสว่างสีขาวจ้ามากจนตานัยย์ไม่สามารถมองเห็นต้องรีบลืมตานอกออกมา แสดงว่าเป็นแสงสว่างนอกเอกภพแห่งสุญญตา ทว่า ที่แสบตามองไม่ได้ เนื่องจากภูมิเราต่ำกว่า ความจริงแล้ว เอกภพเล็กมาก และเอกภพทับซ้อนสนามพลังงานอันไพศาลอีกที แสงสว่างดังกล่าวคือแก่นแท้ของสนามพลังงานจักรวาลสากล

<< พระอาจารย์ : คำว่าแสงสว่างแห่งดวงจิตหรือโอภาสนี้ ร้อยคนพันคนจะเกิดซักคน

แต่ที่อธิบายกัน ส่วนใหญ่อ่านมา จำมา และใช้เหตุใช้ผลของตัวตนคิดว่าเอาความเป็นจริง

แม้แต่บางคนที่เคยผัสสะ ก็ยังให้นิยามตามความเป็นจริงไม่ถูกก็มี

เป็นเหมือนนักเดินทางที่หลงทางเข้าไปเจอ พอถามทางอีกที มันก็เลยบอกไม่ถูก

เพราะที่เห็น มันเป็นแค่หลงทางเข้าไป ไม่ได้เป็นผู้รู้จักทาง

พวกนี้ พูดเท่าไหร่ ก็เดาเท่านั้น หากตนเองไม่เคยผัสสะ ย่อมพูดไม่ตรงตาม

และที่สำคัญ อาการแสบตาเป็นเวทนาสมมุติ ภูมิเพิมอะไรจะไปสูงต่ำ เอาอาการปรุงมาเป็นแก่นแท้ของสนามพลังงานจักรวารสากล ลิเกแท้แม่คุณ


>> คำถาม : กราบนมัสการยามเช้าเจ้าค่ะ พระอาจารย์อ่านธรรมะท่านแล้วโยมมีความรู้สึกว่าเหมือนพระอาจารย์บวชมานานแสนนาน...แต่ไม่ว่าจะสุขหรือไม่โยมก็ยังอยากเกิดเป็นคนอีกเพราะมีครบทุกอย่างในคนเจ้าค่ะ ดี ชั่วมีหมด

<< พระอาจารย์ : Bunyaporn Insamran

การยังอยากเกิด เป็นธรรมชาติของผู้ที่ไม่ประสพทุกข์ภัยมาบีบคั้น

และปัญญาที่สร้างสมมา มันให้ผลหนักมาทางด้านพอใจอยู่ โดยไม่เห็นตรงตามความเป็นจริง

การเกิดอีก มีรูปใหม่เป็นเรื่องของความทรงจำอื่น ที่ไม่ใช่เรา

จะสุขสบายยังไงแค่ไหน ก็ไม่ใช่เรา

ความเป็นเรา มันมีแค่อัตภาพนี้อัตภาพเดียว จะเกิดอีกหรือไม่เกิดอีก ก็มีแค่อัตภาพเดียว

คำตอบก็เห็นๆ อยู่ในโจทย์ว่า ชาติที่แล้ว เป็นใครก็ไม่รู้ จำอะไรที่คิดว่าเป็นเราได้ไหม

เป็นหมาเป็นหมูเป็นแมวรึเปล่า ก็ไม่รู้ แต่ที่รู้ๆ ชาตินี้เราเป็นคนละ

แล้วชาติหน้า หากเกิดเป็นเป็นไส้เดือน จะว่าไง มันมีสัญญาณอะไรจะมาบอกเราว่า

ตัวเรา จะกลับมาเกิดเป็นคนที่เสวยสุขทุกข์อยู่อย่างนี้อีก

แม้เกิดเป็นคน เราจะไปเป็นเราได้อีกหรือ ในเมื่อชาติที่แล้ว
เรายังไม่รู้เรื่องราวอะไรเลย ว่าเราเป็นใครมาจากไหน

ทำชาตินี้ให้ดีที่สุดเท่าที่ปัญญามันอบรมใจได้เถิด จะเกิดหรือไม่เกิด ยังไงชาตินี้ เราก็ต้องตาย


>> คำถาม : กราบนมัสการครับพระอาจารย์ สาธุธรรม อันเพิ่มความกระจ่างในใจครับ “เหตุแห่งทุกข์ทั้งหลาย

เกิดจากใจที่มีตัณหาผุดขึ้นมาไม่รู้จบ” ผมเป็นทุกข์แล้วครับ เพราะอยากรู้วิธีดับ ตัณหา

<< พระอาจารย์ : ก้องภพ เคารพธรรม..

กิเลสตัณหา เป็นสภาวะธรรมแห่งเหตุปัจจัย เหมือนธรรมตัวอื่นๆ

กิเลสคือความอยาก ไม่อยากและเฉยๆ เหล่านี้ล้วนเป็นกิเลส

กิเลสเป็นสภาวะธรรม ที่อาศัยการปรุงแต่งแห่งจิตสังขาร ที่มีอวิชชาเป็นเหตุ

เพราะเหตุแห่งอวิชชามี จิตสังขารคือการปรุงแต่งจึงมี

การปรุงแต่งนี้อาศัยผัสสะที่มีมาทางอายตนะ

เมื่อผัสสะมี เวทนาจึงมี อาศัยเวทนาเป็นเหตุ ตัณหาที่เกิดจากเวทนาจึงมี

เพราะตัณหามี เป็นเหตุให้เกิดกิเลสที่มั่นหมาย ยึดมั่นเป็นอุปาทาน

นี่..เป็นสภาวะธรรม ที่เป็นธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย ที่เราเรียกกันว่า กิเลส

เรากำหนด ลด ละ เลิก ตัณหาที่ผุดขึ้นมาจากใจไม่รู้จบนี้ได้ โดยใช้สติพิจารณาเหตุที่ผัสสะ

>> คำถาม : ถ้าดับตัณหาได้ ก็จะไม่เพิ่มกิเลส ใช่ไหมครับ

<< พระอาจารย์ : ตัณหาดับไม่ได้ ก้องภพ เคารพธรรม

ที่เขาเรียกว่าดับได้ เกิดจากความเข้าใจว่ามันเป็นของมันเช่นนี้เอง

มันอาศัยเหตุปัจจัยเกิด ที่มันเกิด มันเกิดจากการปรุงแต่งอันเป็นธรรมดา ของการทำหน้าที่แห่งสังขาร

เพียงแต่เกิดมาแล้ว เจ้าของ เลือกที่จะดับหรือเลือกที่จะก่อ

หากก่อ ก็เป็นสมุทัย ดำเนินไปตามทางแห่งมิจฉา ผลก็คือทุกข์

หากดับ ก็เป็นหนทางแห่งมรรค ดำเนินไปตามทางแห่งสัมมา ผลก็คือสงบ เรียกนิโรธะ

ตัณหา มันเกิดจากผัสสะทางอายตนะ ที่มีสัญญาของมันมาแต่เดิมแห่งสังขารอยู่แล้ว ดับไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะอยู่กับมันได้ โดยทำความเข้าใจด้วยปัญญาญานตามความเป็นจริง


>> คำถาม : ธรรมะล้วนๆ เลยขอรับหน้านี้ จิตมุ่งสู่ภายในกาย แต่ต้องทำงานและปรึกษาพูดคุยกับคนอื่นๆ เราก็ต้องใส่ใจในงานและการสนทนาเหล่านั้น แต่จิตก็มุ่งแต่จะเข้ากาย บางครั้งต้องฝืนจนหูอื่อ เกิดการเวี่ยงไปเวี่ยงมา จนบางครั้งรู้สึกการวินงง ถ้าเอาจิตเข้ากายหูอื่อก็คลายไป แต่ทำงานใจก็ต้องอยู่ที่งาน กลับไปกลับมา เกิดการถอนหายใจบ่อยๆเพราะเมื่อใจอยู่ข้างในหายใจเบา เมื่อใจออกนอกก็ถอนหายใจ กระผมอยากรู้ครับว่า จะวางจิตอย่างไรที่มันมุ่งแต่ภายในให้มันเอาข้างนอกด้วย หรือปรับความสมดุลอย่างไรขอรับ

<< พระอาจารย์ : ไม่เข้าใจคำถามของ จริงฤา นะครับ ว่าอาศัยเหตุจากเจตนาอันใด

การที่เราจะทำงาน เช่น พูดคุย ขับรถ เขียนหนังสือ หรือทำอะไร

ธรรมชาติของผู้มีสมาธิ ก็ย่อมปักไปอยู่กับการ มุ่งมั่นในอาการที่กระทำนั้นๆ

หากหลุดออกจากสภาวะนั้น ก็เรียกว่า ตกจากสิ่งที่ตั้งไว้ ความคมชัดแห่งการงานก็ไม่คม

หากหมายถึงการมีสติตามดูตามรู้อาการ แม้เราจะทำการสิ่งใด เราก็ตามรู้อาการของสิ่งนั้นๆ รู้ทีละอย่าง

หากต้องการรู้อารมณ์ภายใน ก็ต้องวางผัสสะนอก

หากจะพูดกับคนด้วย จะขับรถด้วย จะทำงานด้วย จะท่องหรือบริกรรมอะไรด้วยนี่ ไม่ถูก

สมาธิก็ต้องกระทำเป็นอย่างๆ ไป สิ่งอื่น นอกเหนือไปจากขณะปัจจุบันที่แสดงเจตนาอยู่ เป็นสิ่งฟุ้งซ่าน

ไม่ใช่ขับรถไปด้วย ดูลมหายใจไปด้วย หรือท่องพุทธโธไปด้วย ไม่ใช่อย่างนั้น

ทำเช่นนั่น ไม่ถูกกาล กลับไปกลับมาไม่เป็นอารมณ์เดียว แล้วมันจะเป็นสุขได้ไง

ใจมันพะวงอยู่เป็นสอง ขับรถก็มีสติยู่กับการขับรถไป พูดก็มีสติอยู่กับการพูดไป
ไม่ต้องไปดูลมหายใจ หรือมัวแต่ท่องพุทธโธ

คำว่าอยู่กับพุทธโธนี้ หมายถึงการมีสติในสิ่งที่จะทำ


>> คำถาม : ผมพอเข้าใจนิดๆ หน่อยๆ แล้วครับ เมื่อคืนขับรถกลับจากบุญญพลัง แล้วผมไม่ได้เปิดเพลงสวดอย่างที่เคยทำเวลาขับทางไกล ไฟที่แผงหน้าปัทม์มันมืดตื๋อ หายวับไปเลย ไฟมันไม่ได้หายไปไหนครับพระอาจารย์ แต่สมาธิมันไปจดจ่ออยู่กับการขับรถข้ามเขา จนจิตไม่สนอะไรนอกจากเส้นทางข้างหน้า ไฟแผงหน้าปัทม์มันเลยตกโฟกัส ดับหายวับไปเลย พอกลอกตามองหน้าปัทม์อีกที มันก็สว่างตามปกติของมันนั่นแหละครับ

<< พระอาจารย์ : คงเข้าใจแล้วนะแปง ว่าเมื่อเราจดจ่ออยู่กับสิ่งใด สิ่งอื่นย่อมไม่อยู่ในสายตา

เรียกง่ายๆ ว่า มันไม่รำคาญใจ นี่..เป็นจิตที่มีสมาธิ เป็นขณิกสมาธิ มุ่งในสิ่งที่ตนเองกระทำอยู

องค์แห่งฌานก็เหมือนกัน

วิตก วิจารณ์ยังคงมีอยู่ แต่มันหดตัวไม่รำคาญ มันมุ่งหมายแต่ในอาการแห่งปิติ

เมื่อหดตัวจากปิติ เพราะไปมุ่งแต่สุข ปิติย่อมมีอยู่ แต่มันไม่รำคาญ มันไปมุ่งหมายแต่สุข

เมื่อหดไปถึงอุเบกขา สุขนั้นก็มีอยู่ แต่มันไม่รำคาญ มันมุ่งหมายไปสู่อุเบกขา แต่สติยังพร้อมอยู่ และเด่นโพลนสว่างจ้า ด้วยสัมปชัญญะที่ไม่มีสิ่งใดมาทำให้รำคาญ

รูป รส กลิ่น เสียง ผัสสะ ..เป็นเสี้ยนหนามแห่งปฐมฌาน

วิตก วิจารณ์ เป็นเสี้ยนหนาม แห่ง ปิติ

ปิติ เป็นเสี้ยนหนาม แห่ง สุข

สุข เป็นเสี้ยนหนามแห่ง อุเบกขา

อุเบกขา เป็นเสี้ยนหนามแห่งปัญญา

ปัญญา เป็นเสี้ยนหนาม แห่งอวิชชา

อวิชชา เป็นเสี้ยนหนามแห่งการออกจากวัฏฏะ

วัฏฏะ เป็นเสี้ยนหนาม แห่งการเข้าสู่นิพพาน..

พระธรรมเทศนา จากบทธรรม เรื่อง อาการจิตในสมาธิ
ณ วันที่ 15 กันยายน 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง