พุทธะแห่งมหายาน

พุทธะแห่งมหายาน

341
0
แบ่งปัน

****** “พุทธะแห่งมหายาน” *****

เมื่อวานได้ว่าถึงความแตกแยกของเหล่าหมู่สงฆ์ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ว่าแตกออกมาเป็นนิกายต่างๆมากมาย

แต่หลักๆก็คือนิกายฝ่ายเหนือและนิกายฝ่ายใต้ ฝ่ายเหนือนี่ เรียกว่า นิกายมหายาน และพวกมหายานนี่ เขาเรียกฝ่ายใต้ว่าพวก หีนยาน

เรามาว่ากันถึงมหายานกันหน่อย เพราะดูว่ามหายานนี่ จะยิ่งใหญ่กว่าหีนยานเอามากๆ

นิกายมหายานแห่งพุทธนี่ เกิดขึ้นเมื่อใหร่ ใครเป็นผู้ริเริ่มนี่ ยังไม่ปรากฏชัด มันเป็นเรื่องของความคิด และเห็นต่างจากการกดดัน จากการสังคายนานี่แหละเป็นเหตุ

การเห็นต่างและจุดประกายแห่งการเพ่งโทษ ทำให้เกิดการเห็นต่างทางความคิด และลามไปถึง การวางจิต การปฏิบัติที่เอาตนเองเข้าไปตรึก

การขาดการชี้แนะที่ถูกต้องทางธรรม ทำให้เหล่าสาวกรุ่นหลังๆพากันคิดและทึกทักธรรมเอาเอง ด้วยความคิดว่า น่าจะเป็นเช่นนั้นเช่นนั้น น่าจะเป็นเช่นนี้

พระเจ้ากนิษกะมหาราช กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ กุษาณะ ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภ์พระองค์แรกของนิกายมหายาน

ผู้ที่สำคัญและมีอิทธิพลที่สุด ทำให้นิกายมหายานเจริญรุ่งเรืองและวางรากฐานอย่างแน่นหนาก็คือ ท่านคุรุนาคารชุน

นอกจากนี้ยังมีคณาจารย์อื่นๆอีกที่วางรากฐานเช่น พระอัศวโฆษ พระอารยะเทวะ พระวสุพันธุ โอ๊ยย.อีกเยอะแยะ จำไม่ไหว

พวกเขาถือว่าพระไตรปิฏกนั้น ยังไม่เพียงพอต่อเรียนรู้การบรรลุมรรคผล ชาวพุทธะมหายานต้องดำเนินแนวทางมาทางพระโพธิสัตว์มรรคด้วย

ไม่ใช่จะให้เดินตามรอยแต่อริยมรรคตามแนวคำสอนแต่เพียงอย่างเดียว

มนุษย์มีมากมายต่างแยกแยะภูมิออกเป็นดุจดอกบัวสี่เหล่า ทุกเหล่าควรได้รับความเสมอภาค ที่จะได้บรรลุมรรคผลเท่าเทียมกัน

ผู้ที่แจ้งธรรม ควรสละตนเพื่อนำพาผู้อื่น ไปสู่ความพ้นทุกข์ด้วยวุฒิภาวะจิต ที่เป็นพระโพธิสัตว์

พระพุทธองค์กว่าจะขนเหล่าสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้ พระพุทธองค์ต้องบำเพ็ญการเป็นพระโพธสัตว์ มาอย่างยาวนาน

เพราะการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์นี่แหละ ธรรมแห่งอริยมรรคทั้งหลาย มันจึงเกิดก่อขึ้นมาให้เหล่าสัตว์ได้พากันพ้นทุกข์ได้มากมาย

ไม่ใช่เหล่าสาวก จะพากันเห็นแก่ตัวคับแคบ หนีพ้นด้วยธรรมแห่งอริยมรรคไปแต่เพียงผู้เดียวเฉพาะตนอย่างพวก หีนยาน

มหายานในอินเดียเองก็แตกนิกายแยกออกไปอีกมากมาย แต่ที่หลักๆมี ราว 4 นิกายคือ

1 นิกาย สูญยวาทหรือมาธยมิก ผู้ก่อตั้งคือ คุรุนาคารชุน

2 นิกายวิชญานวาทหรือ โยคาจาร ผู้ก่อตั้งคือ ท่านไมตรีนาถ

3 นิกายจิต อมตวาท ใครเริ่มก็ไม่รู้ จำไม่ได้

4 นิกายพุทธตันตระหรือมนตรยาน ซึ่งต่อมาได้พฒนาเป็น วัชระยาน

นิกายมหายานยังแยกย่อยทางความคิดขยายแตกออกไปอีกหลายลัทธินิกาย ตามความเห็นแห่งผู้นำสำนักตน

แต่หลักของลัทธิมหายานมีอุดมคติ 3 ประการที่ดำเนินสอดคล้องมาในทางเดียวกันนั่นก็คือ

1 ใช้หลักมหาปัญญา

2 ใช้หลักมหากรุณา

3 ใช้หลักมหาอุบาย

*** ในหลักของมหาปัญญา ฝ่ายมหายานไดอธิบายหลักอนัตตาซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษในพุทธศาสนาออกไปอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง พิสดารมากมายยิ่งกว่า พวกเถรวาท

พวกมหายานใช้คำว่า สูญญตาแทนคำว่า อนัตตา พวกเขาถือว่าบุคคลจะพ้นทุกข์ได้ ก็ด้วยการเข้าถึงความเป็นสูญญตาเท่านั้น

ซึ่งต้องเข้าถึงทั้งสองส่วน แยกเป็นบุคคลสูญญตาและธรรมสูญญตา

การละอัสมิมานะเป็นบุคคลสูญญตา ทำให้ก้าวขึ้นไปเป็นพระอรหันต์

แต่การละในสรรพสิ่งแม้แต่ความยึดมั่นในพระนิพพานซึ่งถือเป็นภูมิพระโพธิสัตว์ชั้นสูง เป็นธรรมสูญญตา

*** ในหลักของมหากรุณา ได้แก่การตั้งจิตมุ่งไปสู่พุทธภูมิ ไม่มุ่งไปแต่เพียงอรหันต์ภูมิ

ในทัศนะมหายานเห็นว่า การเป็นอรหันต์ภูมินั้นช่วยผู้คนได้น้อย มันคับแคบ

การสร้างบารมีของพวกเขาจึงย่อลงมาเหลือ 6 แทนทีทจะสร้างบารมีให้เต็มทั้งสิบทัศน์คือ

1 สร้างบารมีด้านทาน

2 สร้างบารมีด้านศีล

3 สร้างบารมีด้านขันติ

4 สร้างบารมีด้านวิริยะ

5 สร้างบารมีด้าน ฌาน

6 สร้างบารมีด้านปัญญา

*** ในหลักมหาอุบาย คือพระโพธิสัตว์จะต้องประกอบด้วยกุศโลบายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเหล่าสัตว์ทั้งหลาย

ปฏิภาณและไหวพริบในการเข้าถึงธรรมชาติแห่งจิตของเหล่าสัตว์แต่ละภาวะมันไม่เหมือนกัน

ธรรมต่างๆมากมายที่ไม่เคยมีในฝ่ายเถรวาท ได้ถูกสร้างขึ้นมาเป็นอุบายเพื่อการชักจูงจิตให้เกิดการเห็นจริงต่อพุทธวิสัยในแต่ละบุคคล

แทนการท่องบ่นและฝักไขว่อยู่แต่ตำราโดยไร้ปัญญาญานที่จะขบคิดตีแตกออกมาเป็นรูปธรรม

พวกเขาเชื่อว่า สรรพสิ่ง ไม่มีความเกิดขึ้น ไม่มีความดับ ไม่มีความขาดสูญ ไม่มีความเที่ยงแท้ ไม่มีอรรถแต่อย่างเดียว ไม่มีอรรถนานาประการ ไม่มีการมา ไม่มีการไป

ทุกสิ่ง ล้วนเป็นสูญญตา ไร้ความสำคัญ ไร้ความจริง ไร้สาระ ที่จะนำมาเป็นธรรม

นี่..เราว่าถึงหลักแห่งมหายานที่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นพุทธศาสนา

ความเป็นพุทธนี่ เป็นอิสระทางความคิด เป็นเรื่องของปัญญาล้วนๆ

ความเชื่ออันเป็นศรัทธา ที่ไม่เสมอด้วยปัญญา ย่อมแยกแตกหน่อกันออกไปตามกระแสแห่งความคิด

สิ่งที่นักปฏิบัติไม่รู้ก็คือ ความเป็นธรรมชาติที่มันเป็นธรรมดาของมันเช่นนั้น

ไม่ว่าจะเป็นพุทธนิกายไหน ส่วนใหญ่มุ่งไปสู่ความมืดมนที่คิดเอาเองด้วยอัตตาแห่งความเป็นตน

เอาการตรึกจากตำรา เอาการตรึกจากการฟัง เอาการตรึกจากการคิดเอง

สิ่งเหล่านี้เป็นอัตตาที่นำพานักปฏิบัติเข้าไปสู่ห้วงแห่งความมืดมนทางธรรม

ต่างฝ่ายต่างมีความเชื่อและความคิดเห็นว่า

เมื่อถึงที่สุด ความเป็นพุทธจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนี้ เป็นปาฏิหารเป็นสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ

เอาบทบัญญัติแห่งคำอักขระแต่โบราณ มาแปลมาตีความด้วยความเห็นแห่งทิฏฐิตน

พุทธศาสนานั้นไม่ได้ลึกซึ้งหรือลึกซึ้งจนไขว่คว้าไม่ได้หรือไขว่คว้าได้ในอัตภาพ

พุทธศาสนาชี้ให้เห็นความเป็นจริงอันเป็นตัวเราและสรรพสิ่งว่ามันเป็นของมันเช่นนี้

การอยู่อย่างเรียนรู้อย่างมหายานก็ถูก

การศึกษาปฏิบัติตามตำราคำบัญญัติแห่งพระไตรปิฎกมันก็ถูก

ตัวเลขระหว่างกลางของผู้ถือฝ่ายยืนยันความคิดตนในแต่ละด้าน

ย่อมมองเห็นเป็น 9 และ 6 ถูกต้องและผิดกันในแต่ละฝ่าย

พุทธศาสนานั้น ไม่ได้มองด้วยความเห็นต่างเช่นนั้น

พุทธศาสนามองเห็นทั้งสองฟาก และย้อมแต่ละฟากด้วยเหตุและปัจจัยในแต่ละกาลที่เป็นสมมุติสมควรตามเหตุปัจจัย

พุทธนั้นไม่มีใครบรรลุก็ถูก มีผู้บรรลุนั้นก็ถูก

เหตุปัจจัยในการมีหรือไม่มี หากเป็นผู้มีเจ้าของ มันก็แค่ถูกในฟากที่ตนมีที่ยืนเท่านั้น

นี่เป็นความจริงที่นิกายต่างๆยังคาดไม่ถึง

จะมหายานก็ดี เถรวาทก็ดี มหานิกายก็ดี ธรรมยุติก็ดี

ตราบใดที่ยังตรึกอยู่ด้วยความเป็นนิกาย

ความมืดมนแห่งอัตตาย่อมท่วมท้นใจเจ้าของอย่างไม่มีวันพบแสงสว่างทางแห่งปลายอุโมงค์
ส่วนข้านั้น ไม่สนความเป็นนิกาย ไม่ขึ้นกับนิกายแห่งสาวกที่ตรึกไปตามความคิดตน

ข้าขึ้นตรงต่อความเป็นพุทธะ ไม่ได้บวชมาเพื่อขึ้นตรงต่ออำนาจตัณหาอันเป็น โมหะของความคิดองค์กรนิกายใดๆ

เรา..จะเดินก้าวกันไปด้วยกัน ดุจเพื่อนดุจญาติ ดุจพี่ ดุจน้อง ที่แสวงหาความพ้นทุกข์

เช้าวันเสาร์นี้มาช่วยขนเหล็กกัน หวัดดีเช้าวันเสาร์..!!

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 โดยพระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง