อาสนะเดียว

อาสนะเดียว

377
0
แบ่งปัน

****** “อาสนะเดียว” ******

<<< ขอถามพระอาจารย์หน่อยครับเรื่องคำว่า “อาสนะเดียว” นี่ หมายความว่าอย่างไรที่ถูกต้องครับ

ผมบวชเข้ามาไม่นานไม่เข้าใจจริงๆ เรื่องมีอยู่ว่า ผมท้องเสียมาแต่กลางคืน ตอนเช้ากำลังฉันข้าวเกิดปวดท้อง ฉันได้ไม่กี่คำจึงลุกออกไปเข้าห้องน้ำ

เมื่อกลับมาก็ไม่กล้าฉัน กลัวจะเป็นสองอาสนะ ผมฉันมื้อเดียวเหมือนพระอาจารย์ครับ

ส่วนพระที่ฉันสองครั้ง เช้ากับเพลนี่ถือเป็นสองอาสนะหรือเปล่าครับ ในพระธรรมวินัยท่านให้ฉันอาสนะเดียวครับ ผมสงสัยครับ ถามพระผู้ใหญ่ผมก็ไม่กระจ่างครับ

หากเป็นการรบกวนพระอาจารย์ไม่ต้องตอบก็ได้นะครับ

>>>> หวัดดีพ่อหนุ่ม..!! ขอให้มีความเจริญทางธรรม

การบวชเข้ามาเป็นภิกษุสงฆ์นั้น หลักธรรมวินัยนี่สำคัญ หากต้องการได้ดีทางด้านมรรคผล

ผู้บวชใหม่ที่ขวนขวายหาความรู้และปฏิบัติจริงน่ะ มีเยอะแยะ เป็นแต่ผู้อยู่เก่าไม่อธิบายถ่ายความรู้ให้แก่ภิกษุใหม่เท่าที่ควร

ถึงถ่ายทอด หรือเรียนนักธรรม ก็เรียนรู้อย่างไม่เจาะลงไปอย่างกระจ่างแจ้งในอักขระความหมายแต่โบราณ

ข้าเป็นพระป่า ไม่ได้ร่ำเรียนนักธรรมอะไรกับเขาหรอก ความหมายตำราที่แปลๆกันมานั้น ข้าไม่ค่อยจะเอามาเป็นสรณะเท่าใหร่

ข้าฟังไว้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตนักบวชเท่านั้น พรรษาแรกๆข้าก็เคยเกิดปัญหาคำถามแห่งการปฏิบัติเช่นนี้แหละ

ที่ถามมาเกี่ยวกับคำว่าอาสนะเดียวนั้น ไม่ใช่อย่างที่เข้าใจเช่นนั้นน่ะพ่อหนุ่ม

คำว่าอาสนะเดียวนี่ ท่านหมายถึงรับแค่ครั้งเดียว ไม่ได้หมายถึงการนั่งบนอาสนะอะไรนั่น

ท่านกำลังฉันแล้วเกิดขี้แตก ท่านลุกขึ้นไปขี้ได้ นี่..ไม่เป็นไร

ขี้เสร็จจะกลับมาฉันต่อ นี่..ก็ไม่เป็นไร ยังถือว่าเป็นอาสนะเดียวอยู่

ส่วนผู้ที่ฉันสองมื้อ เช้ากับเพล นั่นก็ถือว่าเป็นอาสนะเดียว ไม่ใช่สองอาสนะ

คำว่าอาสนะเดียวนี่ ใช้กับสถานที่ด้วย อย่างเช่นในวัด หรือที่ไหนก็ตามที่เราอาศัยอยู่พักพิงสถานที่เดียว

นี่..ถือเป็นอาสนะเดียว ไม่ว่าจะกี่มื้อลุกกี่หนก็ตาม

คำว่าอาสนะเดียวนี่ ท่านบัญญัติเอาไว้เพื่อป้องกันภิกษุสงฆ์ที่มักมากน่ะ เข้าใจว่างั้น

เช่นรับนิมนต์บ้านนี้ เสร็จแล้วไปรับกิจนิมนต์บ้านอื่นต่อ รีบๆฉันเพื่อไปที่อื่น

นี่..อย่างนี้ ถือว่าเป็นสองอาสนะ เช่นนี้ท่านปรับอาบัติเลยทีเดียว

ภิกษุเลว รับกิจนิมนต์ที่หนึ่งฉันเพียงเล็กน้อย เพื่อหวังไปฉันอาหารอีกที่หนึ่ง ทำให้ชาวบ้านผู้นิมนต์ เกิดความน้อยอกน้อยใจ

อีกที่หนึ่ง เมื่อไปแล้ว ก็ฉันได้น้อย ทำให้อาหารข้าวของเหลือบานเบอะ

ภิกษุพวกนี้ รับกิจนิมนต์มากที่ ก็เพื่อหวังปัจจัยลาภสักการะจากผู้นิมนต์

สมัยโบราณ เหล่าต่างศาสนาหรือพวกเดียร์ถีย์ ต่างก็เอาเรื่องเช่นนี้มาเพ่งโทษว่าศิษย์สาวกของพระสมณโคดมนั้น เป็นพวกมักมาก

ผู้ปฏิบัติผู้ประพฤติดีท่านเดือดร้อน จึงได้พากันไปฟ้องต่อพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ท่านจึงบัญญัติเป็นข้อห้ามขึ้นมา เพื่อไม่ให้ภิกษุเกิดความมักมาก

นี่..เรื่องมันก็มีอยู่ราวๆนี้

แต่เดี๋ยวนี้ สงสัยงานมันชุก ภิกษุยุคหลังนี่กิจนิมนต์เยอะ เช้า สาย บ่าย เที่ยง ต่อด้วยเย็น ค่ำและดึก เพื่อหาตังค์

ยิ่งเป็นพระผู้ใหญ่แก่พรรษาแล้วนี่ ยิ่งงานเยอะ พวกสวดปาฏิโมกข์เดินสายรับตังค์นี่ก็เยอะ

วันละสองสามงานช่วงเข้าพรรษา นี่ก็พวกหาตังค์ เหตุเพราะเข้าใจความหมายในปาฏิโมกข์ไม่ถูก

คือคำว่าภิกษุนี่ บวชมาเพื่อประกาศสัจธรรมก็มี อยู่เพื่อสัจธรรมนี่ก็มี แสวงหาสัจธรรมก็มี ประทุษร้ายพระสัจธรรมก็มี

อยู่ที่เราว่าจะเป็นภิกษุแบบไหน ใครจะเป็นอย่างไร หากเขายังมีอคติในสัจธรรมอยู่

เราเข้าไปยุ่ง มันเสียเวลาเปล่า เขาไม่ฟัง

และหากยังอยู่กับกลุ่มก้อนที่เป็นพวกประทุษร้ายต่อพระสัจธรรม จะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนา

การบวชที่ทรงคุณชีวิตนี้ มันก็จะเป็นโมฆะ ที่โมฆะเพราะหาหนทางแห่งสัจธรรมที่ถูกต้องไม่เจอ

ขอให้ท่านโชคดีเป็นภิกษุเนื้อนาบุญในพุทธศาสนา ให้ชาวบ้านเขาได้มีที่โมทนาอย่างชื่นปิติใจ

ขอสาธุคุณให้มีแต่ความสุขความเจริญ…

พระธรรมเทศนา วันที่ 19 ตุลาคม 2559 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง