เข้าใจว่าอัตถกิลมถานุโยค เป็นการทรมานกาย

เข้าใจว่าอัตถกิลมถานุโยค เป็นการทรมานกาย

272
0
แบ่งปัน

***** “เข้าใจว่าอัตถกิลมถานุโยค เป็นการทรมานกาย” *****

ขอสาธุคุณให้มีแต่ความสุขความเจริญยามเช้า…

มีนักธรรมหลายท่าน บอกเล่าชี้สอนนักปฏิบัติทั้งหลายว่า..

เนสัชชิก.. เป็นอัตถกิลมถานุโยค

เพราะเป็นการกระทำตนให้ลำบาก

นี่..แปลความและเข้าใจอย่างมักง่าย

ข้าจะแปลธรรมอย่างป่าๆ ให้ฟัง

เผื่อใครจะได้เอาตำราที่ตนคิดว่าแปลมาถูก จะได้นำมาคัดค้าน

ในบทธรรมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนาของพระพุทธชินสีห์เจ้า

มีคำว่า กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตถกิลมถานุโยค

พวกแปลว่า อัตถกิลมถานุโยค คือการกระทำตนให้ลำบาก

เมื่อแปลเช่นนี้ ไม่มีการขยายความออกมา ก็เหมือนเหล่าคำแห่งพุทธวจน ที่หลายคนยึดๆกัน

คือต่างตีความกันเองด้วยความมั่วๆ เอา และยึดถือกันไปเอง ด้วยความเชื่อและความศรัทธาอย่าไร้หูรูด

คำว่าอัตถกิลมถานุโยคนี่

พวกไปเอาการทรมานกาย ที่พระพุทธองค์ดำเนินทางมา

เอามารวมตีความ ว่าเห็นไหม..

การกระทำตัวให้ลำบากเช่นนั้น มันไม่เข้าถึงธรรม

อาการกระทำเช่นนั้น มันเป็น อัตถกิลมถานุโยค

นี่..พวกตีคลุมความหมายกันไปอย่างนี้

เพราะเหตุนี้ การงดอาหาร การงดนอน การนั่งสมาธิหรือปฏิบัติ อะไรอย่างอุกกฤษฎ์

ที่ทำให้เกิดการทรมานแห่งกาย

เจ้าพวกนี้เหมารวมเป็นเรื่องของคำว่า อัตถกิลมถานุโยคทั้งสิ้น

พวกนี้จึง ชี้การปฏิบัติอย่างสบายๆ เดิน นอน นั่ง อย่างสบายๆ

เรียกว่าปฏิบัติเอาใจกิเลส ด้วยข้ออ้างว่า มันเป็นอัตถกิลมถานุโยค

แต่พวกไม่รู้และยอมรับว่า..

การกระทำเช่นนั้น มันเป็น กามสุขัลลิกานุโยค

มันเป็นอาการแห่งตัณหาปฏิบัติ ที่ออกมาจากกามกิเลสที่เป็นตัวขวางมรรคผลเช่นกัน

คำว่า อัตถฯ และ กามสุขัลฯ

ต่างเป็นช่องทางแห่งสมุทัยทั้งคู่

คือเกิดจากตัณหาที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จบจากใจดวงนี้

ความหมายคำเหล่านี้ มันเป็นธรรมของชาวบ้านทั่วไป ที่เขาเป็นกัน

นั่นก็คือ ความถูกใจและไม่ถูกใจนั้นเอง

หากถูกใจ นี่..เป็นกามสุขัลลิกานุโยค

หากไม่ถูกใจ นี่..เป็นอัตถกิลมถานุโยค

สองตัวนี้เป็นธรรมอันเป็นธรรมดาของชาวบ้านทั้งโลก

ที่มีและเป็นกันเป็นธรรมดา

ถูกใจ ก็มีความสุข ไม่ถูกใจ ก็เป็นความทุกข์

เรียกว่า เป็นใจอ่อนแอที่ตกไปในกระแสแห่งตัณหาที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จบ

กระแสแห่งตัณหานี้ เมื่อใจไหลไปในกระแสของมัน

ท่านเรียกว่าสมุทัย.. ผลก็คือทุกข์

ทั้งอัตถกิลมถานุโยคและ กามสุขัลลิกานุโยค

ต่างเป็นกระแสแห่งตัณหาที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จบ

นี่..ความหมายที่มีมาในปฐมเทศนา ในปฐมบท ธรรมจักกัปปวัตนสูตร

ความถูกใจเรียกว่ากามตัณหา นี่ เป็นกามสุขัลลิกานุโยค

ความไม่ถูกใจก็เป็นกามตัณหา นี่ เป็นอัตถกิลมถานุโยค

กระแสสองตัวนี่ เป็นสมุทัย

เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันจะดำเนินไปทาง ภวตัณหาและวิภวตัณหา

คือความสุขและทุกข์ในการทะยานอยาก ในความอยากมีอยากเป็น ในสิ่งที่เป็นตัณหา

และความทะยานอยากในการที่ไม่อยากให้มันเปลี่ยนแปลงไปจากกระแสแห่งตัณหาที่มีขึ้นมาแล้ว

นี่..ขยายกว้างออกมาอีกนิดนึง ให้พอรู้ร่องแห่งความหมาย

ความสุขและทุกข์ทั้งหลายที่เราไขว่คว้า มันเป็นตัณหาที่ขวางมรรคผล

ท่านจึงแสดงให้เห็นถึงหนทางที่เรียกว่า มันเป็นสมุทัย

สมุทัยก็หมายถึงหนทาง แต่เป็นความหมายของหนทางที่ดำเนินมาทางทุกข์

มันยังมีอีกหนทาง ที่มีความหมายว่าหนทางเหมือนกัน

แต่ใช้คำว่า… มรรค

มรรคนี้หมายถึงหนทาง ที่ดำเนินมาในทางดับ สงบ จากทุกข์

ทั้งมรรคและสมุทัย ต่างมีความหมายว่าหนทางทั้งคู่

เป็นเพียงแต่ มันมีผลไม่เหมือนกัน

หนทางแห่งสมุทัย ผลคือทุกข์ เวียนวนต่อไปในวัฏฏะไม่มีที่สิ้นสุด

หนทางแห่งมรรค ผลคือสงบ เป็นการดับภพที่จะก่อเกิดเหตุแห่งวัฏฏะ

ทั้งมรรคและสมุทัย อันเป็นเหตุแห่งทุกข์และนิโรธะ

ต่างเป็นเป็นผลของเหตุที่ มาจากตัณหาที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จักจับจากใจนี้ทั้งสิ้น

ตัณหานี้มีเหตุมาจากเวทนา

เวทนานี้ มีเหตุมาจากการปรุงแต่งเจตสิกที่เกิดจากผัสสะ..

ความหมายแห่งคำว่า อัตถกิลมถานุโยค

อันอรรถกถาจารย์แปลออกมาว่า…

เป็นการกระทำตนให้ลำบากนั้น

เป็นความหมายว่า มันจะทำให้เกิดทุกข์ อันมีเหตุมาจากสมุทัย

เป็นทุกข์อันเกิดจากความไม่ถูกใจ ไม่ชอบใจ อันเป็นอัตตาตัวหนึ่ง ที่เจ้าของหลงยึดด้วยอำนาจแห่งอุปาทาน

อัตตานี้ เป็นอุปาทานสมมุติ ที่เจ้าของได้ย้อมกันมาด้วยการไหลไปในกระแสแห่งตัณหา

ใจเช่นนี้ เป็นใจธรรมดาของเหล่าสัตว์ทั้งหลาย ที่ต่างมีใจครอง

นักบวชนี่ ไม่ควรไหลไปในกระแสเช่นนั้น

เพราะเป็นกระแสธรรมแห่งชาวบ้าน

นักบวชพึงมีสติ ตรึกตรองและพิจารณาตัณหาเหล่านี้ที่ผุดขึ้นมาจากใจไม่รู้จบ

การพิจารณาตรึกตรองตัณหาที่ผุดขึ้นมาด้วยอำนาจแห่งสติ และปัญญา

นี่เป็นหนทางเดินแห่งมรรค

ผลแห่งกระแสแห่งตัณหานั้น มันก็จะทุเลาเบาบางจางคลายลงมา

จนถึงที่สุดก็จะดับแห่งตัณหา

เช่นนี้เรียกว่าการเจริญหนทางแห่งมรรค

ผลอันเรียกว่านิโรธะอันหมายถึงดับความเร่าร้อนในตัณหานั้น มันก็จะเกิด

นี่เป็นธรรมแห่งอริยสัจ อันเป็นปฐมบทแห่งธรรมเทศนา

ที่มีคำและความหมายแห่งคำว่า..

อัตถกิลมถานุโยค ที่เราต่างเข้าใจกันด้วยความไม่รู้ความหมาย

เช้านี้ขอสาธุคุณสวัสดี..

พระธรรมเทศนา โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง วันที่ 9 พฤษภาคม 2560