รู้จักขันธ์ห้าอย่างลึกซึ้งและตรงตามความเป็นจริง

รู้จักขันธ์ห้าอย่างลึกซึ้งและตรงตามความเป็นจริง

431
0
แบ่งปัน

***** “รู้จักขันธ์ห้าอย่างลึกซึ้งและตรงตามความเป็นจริง” *****

ธรรมอย่างป่าๆที่ดูเหมือนขวางโลกสมมุติ..

หวัดดียามเช้า..

>> มีคำถามจากหลวงพึ่นุ้ยมาว่า… นมัสการครับพระอาจารย์

กระผมอยากไห้พระอาจารย์ช่วยเมตตาอธิบายคำว่า เวทนา สังขาร และ วิญญาน ในปฏิจจสมุปบาท

และ คำว่า เวทนา สังขาร วิญญาน ในขันธ์ ๕ ไห้ฟังหน่อยครับ

ว่าเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร เมตตาด้วยครับ ผมโง่จริงๆ ครับ แยกไม่ออกเลย ยิ่งคิดยิ่งงงครับ

<< พระอาจารย์ : นี่พระเขาถามมา… ข้าจะอธิบายพอสังเขป

จริงๆ พวกเราทั้งหลายก็ไม่ได้สนใจสิ่งเหล่านี้หรอก ข้ามๆ ไปไม่ต้องฟัง ไม่ต้องอ่าน

คำว่าขันธ์ห้านี่.. ที่เราทราบจากการแปลๆ มาว่า มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญานและรูปกายนี่

ข้าเข้าใจว่ามันคนละความหมายกับที่เราเข้าใจกันน่ะ

มันใช้คำสมมุติประโยคเดียวกัน แต่ความหมายจากแหล่งเหตุมันแตกต่างกัน

ท่านบอกว่า ขันธ์ห้าเป็นทุกข์

อย่างเวทนาเป็นทุกข์

แต่สุขเวทนามันก็มี

จะบอกเป็นทุกข์อย่างเดียวนั้นไม่ได้

ความจริงความหมายมันสูงกว่านั้น แต่เราแปลออกมาว่าเป็นทุกข์

อย่างเวทนานี่ มันเป็นอาการที่ปรุงสำเร็จออกมาแล้ว

คือมีเรารู้แล้ว ว่าเป็นเวทนา แต่เรามันเอาคำว่าเวทนา มาเป็นอาการแห่งกายเกิด

คือเจ็บปวดทางกาย

เราอาจไม่รู้ว่า เวทนานั้น มันมีหลายช่องทาง

การเจ็บปวดนั้น เป็นอาการเวทนาทางกายวิญญาณ

มันยังมีเวทนาทาง มโนวิญญาณอีก

คือความไม่ชอบใจทั้งหลายที่มาผัสสะ

หรือแม้แต่ความชอบใจ มันก็เป็นเวทนา

นอกจากนี้ เวทนาทาง จักษุวิญญาณ คือทางตา มันก็มี

คือเห็นรูปที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ นี่ก็เป็นเวทนา

เวทนาทางโสตวิญญาณ คือทางหู ได้ยินเสียงชอบใจหรือไม่ชอบใจ นี่ก็เวทนา

ทางลิ้น ทางจมูก อะไรไปเรื่อยแหละมันก็มี

นี่.เวทนามันเกิดได้หลายช่องทาง

ไม่ใช่เกิดแค่ทางกายอย่างเดียวอย่างที่เราเข้าใจ

ทีนี้..

เวทนาทั้งหลาย ที่ผัสสะแล้วเกิด ทาง ตา หู ลิ้น ฯ ที่เราเป็นเจ้าของนี่

ที่ลึกลงไปมันก็ไม่ได้ เกิดตรง ตา ตรงหู ตรงลิ้น ตรงกาย ตรงรส อะไรนี่อีก

สิ่งเหล่านี้ มันเป็นแค่ช่องทางผ่านเท่านั้น ไม่ใช่ตาเวทนา หูเวทนา อะไรอย่างนั้น

เวทนานี่ มันอาศัยช่องทางเหล่านี้ผัสสะ เพื่อไปปรุงทำให้เกิดเวทนา

เวทนาตัวนี้ มันเป็นความรู้สึก ความรู้สึกนี่มันอาศัยเหตุปัจจัยอีก

ตัวเวทนาที่เราเข้าไปเป็นเจ้าของว่าเรารู้สึกนี่ มันเป็นเวทนาที่ปรุงเสร็จสำเร็จเรียบร้อยแล้ว

เมื่อปรุงเสร็จสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เราจะมาบอกว่า เวทนาเป็นหนึ่งกองขันธ์

ที่เราเรียกว่าขันธ์ห้านั้น มันก็เลยดูเหมือนเข้าใจเฝือๆ ไป

เพราะเมื่อปรุงเสร็จแล้ว มันเป็นเวทนา ที่มีทั้งถูกใจและไม่ถูกใจ

เราจะมาบอกว่าเวทนาเป็นทุกข์ เพราะมันเป็นหนึ่งในขันธ์ห้า เหตุเพราะฟังมาว่าขันธ์ห้าเป็นทุกข์

มันก็เลยดูตลกๆ ขัดแย้งในคำแห่งความหมายประโยควลีอยู่

เพราะสุขเวทนามันก็ยังมีอยู่ ที่มีเพราะมันปรุงแต่งออกมาเรียบร้อยแล้ว

เราจึงเป็นสุขหรือทุกข์ตามเหตุปัจจัยในตัณหาและอุปาทาน

ปฏิบัติธรรมแล้วเป็นสุข นี่ก็เป็นเวทนา

กระทำอะไรแล้วเป็นสุข นี่ก็เป็นเวทนา

นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นี่ก็เป็นเวทนา

เมื่อสอดส่งธรรมลงมาเห็นเช่นนี้ คำว่าขันธ์ห้าเป็นทุกข์นั้น มันชักจะไม่ตรงตามความเป็นจริงซะแล้ว

ความหมายอาจเข้าใจกันเป็นเช่นนั้น เพราะฟังเขาว่าๆกันมา

ความถูกใจไม่ถูกใจนี่ มันเป็นอาการแห่งจิตที่เรียกว่าเป็นเวทนา

ถูกใจ ก็เป็นเวทนา

ไม่ถูกใจ ก็เป็นเวทนา

คือมันปรุงเสร็จสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เวทนามันจึงเกิด

สุขใจนี่เป็นกาม เรียกว่า กามสุขัลนุโยค

ทุกข์ใจนี่ก็เป็นกาม เรียกว่าอัตถกิลมถานุโยค

ทั้งสองตัวนี่เป็นเวทนาที่ปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว

มันมีทั้งทุกข์และสุข ที่มีเราเข้าไปเป็นเจ้าของ

สัญญา ก็เหมือนกัน เราเอาความจำได้หมายมั่นมาเป็นสัญญาในกองขันธ์ห้า

สัญญาที่เราเข้าใจนั้น มันเป็นความทรงจำ

มันเป็นเวทนาตัวหนึ่ง ที่มีความรู้สึกและระลึกขึ้นมาได้ว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้

สัญญานี่ก็ปรุงเสร็จเรียบร้อยไปแล้วเหมือนกัน

สังขารที่เราเข้าใจ มันเป็นการปรุงแต่งไปตามความทรงจำในสัญญา

มันตรึกไปตามอาการที่มันเคยจำ

บางทีเราเอาความคิดนี่แหละมาให้ความหมายแห่งสังขาร

สังขารตัวนี้ก็เป็นเวทนาตัวหนึ่งที่เรารู้สึกได้

วิญญานที่เราเข้าใจ มันเป็นอาการรู้นั่นรู้นี่

เราเข้าใจว่า นี่แหละคือตัววิญญาณ

ตรงนี้มันก็ดูเฝือๆ อีก เพราะรู้นั่นรู้นี่นี่ มันเป็นอาการเวทนา

สรุปก็คือ..

เราเอาความเจ็บปวด ความทรงจำ ความคิดปรุงแต่ง และรู้นั่นรู้นี่ เป็นขันธ์ห้า

อาการทั้งหมดนี่ จริงๆ แล้วมันเป็นเวทนาที่มีตัณหา อุปทาน ภพและชาติ ในปฏิจจสมุปบาท ที่เกิดขึ้นแล้ว

คือมันปรุงครบหมดแล้ว

จะบอกว่ามันเป็นขันธ์ห้า ที่เป็นทุกข์ไม่ได้

เพราะมันปรุงออกมาแล้วถูกใจ มันก็ยังมี

เฉยๆ มันก็มี มันมีทั้งสุขและทุกข์

แต่ไม่ว่าจะเรียกอย่างไร เข้าใจอย่างไร

มันก็เป็นแค่สมมุติคำภาษาตัวหนึ่งเท่านั้น

เป็นเพียงแต่เราฟังๆ จำๆ เขามาพูด

เราขาดผู้วิเคราะห์ชี้แนะธรรมที่ตรงตามความเป็นจริงให้เห็นตรงเท่านั้น

เวทนาในปฏิจจสมุปบาทจึงไม่ใช่เวทนาในกองขันธ์ห้า

เพราะมันปรุงแต่งเรียบร้อยแล้วจากเจตสิกที่มีเหตุมาจากผัสสะ ในอายตนะ

ทีนี้..

มันยังมีเวทนาอีกตัว ที่เราไม่รู้จัก

มันเป็นเวทนาอีกตัวที่ลึกลงไปจากที่ว่ามา..

นั่นก็คือเวทนาภายใน

มันเป็นเวทนา ที่เป็นขั้นตอนการปรุง

มันมีเหตุปรุงมาจากผัสสะ

เวทนาตัวนี้.. ไม่มีใครเข้าไปเป็นเจ้าของได้

มันเป็นเวทนาที่เป็นโปรแกรมจิตที่มันมีมาตามธรรมชาติของมัน

และธรรมชาตินี้ ก็มีเหตุปัจจัยของมันอีก

เวทนานี้ มันเป็นโปรแกรมฝังอยู่ในนามรูป

ความหมายเวทนานี้ มันคนละตัวกับเวทนาที่ปรากฏอยู่ในปฏิจจสมุปบาท

ในปฏิจจสมุปบาทนั้น…

มันปรุงเรียบร้อยแล้ว ท่านจึงนำมาเป็นหัวข้อร้อยเรียงในปฏิจจสมุปบาท

เพื่อมองให้เห็นร่องทางที่เป็นเหตุให้เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติเป็นเส้นทางไปในกฏอิธทัปปัจจยตา

อิธทัปปัจจยตา ก็คือหลักเหตุหลักผล อาศัยสิ่งหนึ่งไปยังสิ่งหนึ่ง

ทีนี้… เวทนาในนามรูปนี่ ตรงนี้มันจึงจะเรียกได้ว่าขันธ์ห้า อย่างที่เราเข้าใจ

ที่เรียกว่าขันธ์ห้า…

เพราะมันอาศัยนามรูปเกิด

ไม่ได้อาศัยเวทนาในปฏิจจสมุปบาทเกิด

นามรูปก็คือ นามสี่ รูปหนึ่ง

นามก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน อาศัยรูปอีกหนึ่ง

มันคนละตัวกับ เวทนา สังขาร และวิญญานในปฏิจจสมุปบาท

สังขารในขันธ์ห้านี่ มันเป็นเจตนาจิต เป็นเจตสิกปรุงแต่งทำให้เกิดวิญญานในนามขันธ์

ถ้าเรามองเห็นตรงนี้ด้วยปัญญาและพอมีภาชนะธรรมรองรับอยู่บ้าง

เราจะเห็นว่า…

ขันธ์ห้าที่เราเข้าใจกันนั้น มันคนละความหมายแห่งบาลีที่แปลๆ กันมาละ

มันใช้ประโยคภาษาตัวเดียวกัน

แต่ความหมายมันคนละกาลกัน

มันยังมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญานในนามรูปอีก

และนามรูปนี่ เป็นผลของวิญญาณ

เพราะวิญญาณมี… นามรูปจึงมี

ที่วิญญาญมี… เพราะจิตสังขารมี

ที่จิตสังขารมี… เพราะอวิชชามี

วิญญานตัวนี้ มันก็คนละตัวกับวิญญาณในนามขันธ์อีก

เอาละ..

ข้าอธิบายให้เห็นชัดๆ และตรงตามความเป็นจริงแล้วว่า..

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เราเข้าใจกันมานั้น

ที่จริงมันคือ เวทนาที่อาศัยเรียงร้อยกันมาในปฏิจจสมุปบาท

มันไม่ใช่ความหมายแห่งกองขันธ์ที่มีอยู่ในนามรูป

เราเข้าใจว่า ขันธ์ห้านั้นเป็นทุกข์

ก็เพราะเราเอาความทุกข์เวทนาที่ปรุงเสร็จแล้ว เกิดความไม่ชอบใจ มาเป็นความทุกข์ในขันธ์ห้า

มันยังมีสุขเวทนา ที่ปรุงเสร็จแล้วเช่นกัน

ทั้งทุกข์และสุข มันเป็นเวทนาที่ปรุงเสร็จแล้ว เราเข้าไปเป็นเจ้าของได้

เมื่อเข้าใจได้ตรงเช่นนี้

เราก็จะเข้าใจได้ว่า…

ขันธ์ห้าในความหมายจริงๆ ไม่ใช่ตัวเวทนาที่ปรุงแล้วเสร็จในหัวข้อแห่งปฏิจจสมุปบาท

หรือจะเป็นสัญญา สังขาร วิญญาณอะไรนั่น

ความทรงจำ ความคิด ความรู้ มันเป็นเวททนาที่ปรุงเสร็จแล้ว

และจะเข้าไปปรุงต่อด้วยสันตติความเป็นอัตตาแห่งสมมุติเรา

มันไม่ได้เป็นตัวกองขันธ์ในนามรูป ที่อาศัยวิญญาณเกิด

บาลีท่านก็ชี้มาว่า…

ขันธ์ห้า มันอาศัยนามรูปเกิด

ขันธ์ห้า ไม่ได้อาศัยเวทนาเกิดซักหน่อย

เรื่องพวกนี้ ข้าอธิบายให้พระที่พอเข้าใจหลักอภิธรรม

พวกแกมันก็มึนงง มั่วๆ กันไป

ไว้คราวหน้าข้าจะอธิบาย

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญานในนามรูปให้ฟัง

มันจะได้เข้าใจว่า ขันธ์ห้าจริงๆ ที่เราเข้าใจ เพราะใช้สมมุติภาษาตัวเดียวกันนั้น

มันคนละกาลกันอย่างไร พวกแกอย่าเพิ่งมึน

วันนี้พอแค่นี้ก่อน ขอสาธุสวัสดี

พระธรรมเทศนา โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง วันที่ 20 เมษายน 2560