รู้ธรรมต้องรู้ธรรมชาติแห่งจิต

รู้ธรรมต้องรู้ธรรมชาติแห่งจิต

359
0
แบ่งปัน

**** “รู้ธรรมต้องรู้ธรรมชาติแห่งจิต” ****

หวัดดีกับทุกคนนะจ๊า

เหตุการณ์ทั้งดีและร้าย

ถูกใจ ไม่ถูกใจ

ทั้งผิดและถูก

มันผ่านไปแล้ว ปล่อยให้มันผ่านไป

ทำวันนี้ให้ดี เริ่มทำความดีใหม่ได้ตลอดเวลา

สำคัญ… หากวิบากอะไรมา พึงทำใจ ยอมรับมัน

วิบากทางกายก็มี รับยากหน่อย

เพราะเราดันเป็นเจ้าของ แม้พระอรหันต์ ท่านก็หลีกไม่พ้น

วิบากทาง วาจา ที่มากระทบ มาให้ผล มันแค่อากาศ ไม่มีพิษสง

แต่ที่มีพิษสง เพราะเจ้าของ ดันมารับวิบากทั้งหลาย ว่ากูโดน

วิบากทางใจ ที่เกิดภายใน และมากระทบ ก็เป็นอากาศ

เราเอาอากาศ มาทำร้าย ทำลายตัวเรา

เพราะหลงยึดอากาศที่เกิดจากสัญญา เป็นเหตุ

ความทุกข์จึงเกิดมาด้วยประการฉะนี้แล..

ทุกข์เกิด เพราะความหลงไปเป็นเจ้าของทุกข์..

ทั้งๆ ที่ทุกข์ทั้งหลาย มันเกิดจากสมมุติ

ที่เราไม่เข้าถึงความเป็นทุกข์

ว่ามันเป็นของมัน เช่นนั้นเอง

แค่มีเรา.. เข้าไปเสือก..

>> ลูกศิษย์ : สาธุครับ พอจ. รับได้นิดหน่อยก็ยังดี ปัญญามีแค่นี้ครับ

<< พระอาจารย์ : เรื่องพวกนี้เราอ่านหนุกหนานน่ะเป็ด มันเป็นวิสัยแห่งภูมิปัญญาเห็น

มันเกินโลกของเราไปหน่อย แต่ก็อยากจะนำมาให้เรามองเห็นช่องทางบางอย่างที่เราไม่เห็น

เผื่อวันใดเกิดญาณเห็น มันจะได้ยืนยันกับใจเราได้ว่า อ้อ..มีคนเคยบ้าก่อนเราเหมือนกัน ฮ่าๆๆ

>> ลูกศิษย์ : เมื่อประมาณอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมไปอยู่เขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่าผาผึ้ง เป็นถ้ำที่ชัยภูมิ และได้ฟังธรรมจากพระท่านหนึ่ง

ที่มีผู้หนึ่งบอกว่าพระรูปนี้จะเป็นปฏิสัมภิทาญาณ ในอนาคต

ตัวท่านเองก็บอกกล่าวว่าธรรม ส่วนใหญ่ท่านจะแสดงให้ผู้เทวดาหรือดาบสฟัง

ส่วนผมฟังแล้ว มันละเอียดเกินกว่าปัญญาจะรับได้ รับได้นิดเดียวเท่านั้น

ผู้อ่านอ่านเล่นๆ นะครับ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าท่านเป็นถึงขั้นไหน

<< พระอาจารย์ : ธรรมชาติของผู้รู้นะ…เป็ด จะเป็นอย่างนี้ เมื่อเจอเราจะได้ รู้ว่า เป็นผู้รู้จริงหรือไม่

– ถามธรรมข้อไหน อธิบายได้เลย ไม่มีการนึก หรือคิดว่าจะเอาไงดี

– พูดตามภูมิผู้ฟัง ผู้ฟัง ฟังแล้ว รู้เรื่อง เข้าใจง่าย แต่แย้งไม่ได้

– หากพูดเรื่องเหนือโลก จะมีเหตุมีผล และช่องทาง อันดำเนินไปสู่ทางแห่งความรู้นั้น

– ผู้ฟัง ฟังแล้วแจ่มแจ้ง แม้จะไม่เข้าใจ เพราะภาชนะรองรับไม่พอ

– ไม่พูดไกลเกินจริง มีเหตุผล รองรับคำพูด

– เรื่องเหนือโลก พิสูจน์ไม่ได้ เลื่อนลอย เพ้อฝัน คุยเฉพาะคนศรัทธาและใกล้ชิด

– ไม่เอานรกมาขู่ นำสวรรค์มาล่อ

– ตอบได้ทุกคำถาม ชัดเจน รู้ง่าย ฟังง่าย เทียบเคียงอุปมาได้เห็นชัด

– ไม่อ้างความเป็น ปัจจัตตัง ตนเองรู้คนอื่นไม่รู้

– ฟังแล้วเห็นแจ้งตามภูมิปัญญาของผู้ฟัง

– ธรรมจากตำรา ไม่ยกมาทั้งดุ้นเพื่ออวดภูมิแห่งภาษา และฟาดฟันใคร

– ชี้นำแต่ธรรมแห่งมุติโตทัย คือธรรมที่ดำเนินมาทางดับ ในอัตภาพนี้

เอาพอคราวๆ เช่นนี้แหละ เป็ด เราจะกราบได้อย่างเต็มหัวใจ

>> ลูกศิษย์ : ทุกอย่างมันเกิดที่ใจรับรู้ แล้วก็ตัดมันออกที่ใจ ทราบค่ะ แต่บ้างเรื่องเราอยากตัดออก! ไปแต่ไปรับรู้แล้วตัดไม่ได้

อย่างเช่นเรานั่งรถผ่านเห็นคนแก่ สติไม่ดีเดินอยู่กลางถนนมืดอยู่คนเดียวกลางถนนด้วย

ถ้ารถกระบะใหญ่ๆ จะวิ่งเร็วก็จะชนคนแก่คนนี้

ในเมื่อตา เป็นผัสสะ ให้เราเห็นรับรู้เราจะปล่อยว่างได้หรือ เราจะไม่ช่วยหรือ ?

เราก็ต้องเข้าไปเสือกไปยุ่ง เพราะสงสาร เราปล่อยวางแล้วเราจะไม่ใจดำไปไหม?

เราควรจะปล่อยวางยังไงคะ? ในเมื่อมนุษย์ต้องมีเมตตาธรรมต่อกัน?

กราบเรียนถามพระอาจารย์ด้วยค่ะ? กราบสาธุในธรรมทานค่ะ

<< พระอาจารย์ : ตอบ…แจง Erika Thongbai

การปล่อยวางนี้ ไม่ใช่ความหมายว่า เราไม่เอาอะไร หรือไม่ทำอะไร

เราเอาความหมายแห่งตัวตนสมมุติบัญญัติ

เข้าไปเป็นความหมายแห่งการปล่อยวาง เหมือนเราปล่อยสิ่งของ เช่นนี้ เข้าใจผิด

การปล่อยวางนี้ ไม่มีผู้ปล่อยเลย แต่เริ่มต้นที่มีผู้ปล่อยก่อน คือจากผู้เป็นเจ้าของ ที่เป็นเจ้าของปล่อย

ปล่อยวางเบื้องต้นนี้ ใช้สติ จากการพิจารณา เป็นไปตามเหตุปัจจัย อย่างเช่นการทำทาน

การทำทาน เราปล่อยวางวัตถุ แต่เรายังไม่ปล่อยวางในผลแห่งทาน

สูงขึ้นไปกว่านั้น ปล่อยวางแม้ผลแห่งทาน แต่เรายังไม่ปล่อยวาง อภัยทาน

สูงขึ้นไปกว่านั้น ปล่อยวาง อภัยทาน แต่เรายังไม่ปล่อยวาง ธรรมทาน

สูงขึ้นไปกว่านั้น ปล่อยวาง ธรรมทาน แต่เราไม่ปล่อยวางการเกิด

สูงขึ้นไปกว่านั้น ปล่อยวางการเกิด แต่เราไม่ปล่อยวางภพ

สูงขึ้นไปกว่านั้น ปล่อยวางภพ แต่เราไม่ปล่อยวาง อุปาทาน

สูงขึ้นไปกว่านั้น ปล่อยวางอุปาทาน แต่เราไม่ปล่อยว่าง ตัณหา เวทนา ผัสสะ อายตนะ นามรูป ไล่ไปยังอวิชชา

การปล่อยวางมันก็จะวางลงไปเรื่อยๆ จนที่สุด ก็จะไม่มีผู้วาง ตรงนั้น จึงได้ชื่อว่าวางจริง

เราวางอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้วางอีกอย่างหนึ่ง เหตุเพราะความไม่รู้เป็นเหตุ

ธรรมชาติทุกอย่างมันมีเหตุปัจจัยเกิด

คนแก่เดินกลางถนนมืดๆคนเดียว เราวางไม่ได้เกี่ยวกับความปลอดภัยของเขา

นี่อาศัยผัสสะเกิด เกิดแล้วเราก็ปรุงของเราไปทำให้ทุกข์

เราจะวางหรือไม่วาง คนแก่แกก็เดินอยู่เช่นนั้นแหละ

หากเราหวังดี ก็พึงบอกแก ถ้าแกไม่ฟัง เราก็ทุกข์กับความดื้อของแกอีก

ฉะนั้น การปล่อยวางในที่นี้ก็คือ ทำให้ดีตามเหตุปัจจัย

เราพึงยอมรับในสิ่งที่จะเกิดและไม่เกิดในสิ่งที่เราคิดวิตกซะ

>> ลูกศิษย์ : ทุกอย่างมันเกิดที่ใจรู้ แล้วก็ตัดมันออกจากใจ ทราบค่ะ

<< พระอาจารย์ : แล้วใจมันอยู่ตรงไหนละ แจง

คำถามแจง มันมีหลายคำถามซ้อนในหนึ่งกาลแห่งคำถาม มีทั้งความคิด ความสงสาร ความรู้สึก

การตัด การวาง กระบวนการผัสสะ คำถามมันปนรวมกัน และต่างกาลต่างเหตุปัจจัยกัน

การปล่อยวางก็อย่างหนึ่ง การผัสสะก็อย่างหนึ่ง ความรู้สึก ก็อย่างหนึ่ง ความเห็นก็อย่างหนึ่ง

ความเสือกเข้าไปยุ่ง ก็อย่างหนึ่ง ความมีเมตตา ก็อย่างหนึ่ง

หากปนเปแยกไม่ออก ว่าอะไรเป็นอะไรในกระบวนการเหล่านี้ มันก็วางไม่ได้หรอก

อธิบาย ก็จะไม่เข้าใจ ภาชนะรองรับเข้าใจเป็นอย่างๆ มันไม่พอ

ตอนวัวขวิด ท่านพาหิยะตาย พระพุทธองค์เจ้าท่านก็ทราบ แต่ท่านก็ต้องปล่อยให้วัวขวิด

พระพาหิยะ ที่กำลังหาบาตร หาจีวรเพื่อบวช

อย่างนี้ พระพุทธองค์ก็คงใจดำซิ ไม่มีเมตตาธรรมต่อชีวิตที่กำลังจะบวชหรือ..

บางอย่างก็ต้องวางเพราะรู้เหตุปัจจัย ที่ต้องเกิด

บางอย่างก็ต้องยึด เพราะมีเหตุปัจจัยต้องเข้าไปยึด จะวางหรือยึด ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าเป็นผู้วางหรือไม่วาง

การวางทางพุทธศาสนาคือ การยอมรับในสรรพสิ่งว่า มันเป็นของมัน เช่นนั้นเอง

ไม่ใช่ว่า เราจะเข้าไปเสือกหรือไม่เสือก พระอรหันต์ ท่านยอมรับและวางไปตามเหตุปัจจัย

แต่คนทั้งหลาย วางเพราะอาศัยถูกใจ พอไม่ถูกใจ กูก็ไม่วางอะไรทั้งนั้น…

>> ลูกศิษย์ : พระอาจารย์ที่เคารพ ! ทำไมต้นไม้ถึงได้สูงใหญ่ได้ขอรับ ?

<< พระอาจารย์ : หากตอบอย่างธรรม เพราะตัวเราเล็ก เราก็เลยดูสูงใหญ่น่ะครับ ชาลี

ถ้าตัวเราใหญ่ เราก็จะดูว่ามันเล็ก ความจริง มันไม่ได้เล็ก ไม่ได้ใหญ่ดั่งที่เราเห็นหรอกครับ

สูงใหญ่หรือเล็ก เกิดจากใจดวงนี้ ยัดเยียดสมมุติน่ะครับ

หากตอบอย่างชีวภาพ..

พันธุ์ไม้ผ่านกาลยาวนาน มีอายุยืนยาว และเป็นไม้ยืนต้น เรียกว่าต้นยาง

หากไม่มีใครตัด มันใหญ่เป็นธรรมชาติของมัน เพราะมันเป็นพันธุ์ไม้ใหญ่

ในความใหญ่ มีเรื่องราวมากมายในด้าน ฟิสิกส์ ที่อาศัยความร้อนหนาว แร่ธาตุที่สมดุล สถานที่อากาศพอเหมาะ

และที่สำคัญ อยู่ในแหล่งที่มนุษย์เข้าไม่ถึง หรือมนุษย์ อนุรักษ์ไว้ ด้วยจิตที่สำนึกไม่ดุร้ายต่อต้นไม้ทั้งหลาย ให้มีอยู่คู่ผืนโลก.

การสาธยายธรรม ย่อมมีตื้นลึกบางหนา อันเป็นภูมิของผู้รู้

ธรรมเหล่านี้ตื้น สำหรับผู้มีปัญญา

แต่ลึกและตามรู้ยาก ต่อผู้ที่คิดเอา นึกเอา

ธรรมที่ลึก แต่มีช่องทาง ทางเหตุ ทางผล ให้เป็นเครื่องรองรับ มันน่าศึกษา

ธรรมเช่นนี้หายากที่จะมีใครนำออกมาแสดง พรั่งพร้อมด้วยเหตุผล

ฟังๆ กันไว้ อย่าไปคาดหมายว่า ผู้รับ จะต้องรู้ตามได้เสมอไป

แต่แผ่นดินกว้างใหญ่ ย่อมมีผู้มีปัญญา เข้าไปถึงและเห็นว่า…

เออ …แท้แล้ว สรรพสิ่งเกิดจากใจเราปรุงแต่งเองจริงๆ มันจะได้มี เครื่องยืนยัน ว่าเรา ไม่ได้บ้า..อยู่คนเดียว

พระธรรมเทศนา โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง วันที่ 9 มิถุนายน 2557