พึงเข้าใจความหมายแห่งการวิปัสสนาและสมถะ

พึงเข้าใจความหมายแห่งการวิปัสสนาและสมถะ

326
0
แบ่งปัน

***** “พึงเข้าใจความหมายแห่งการวิปัสสนาและสมถะ” ****

*** ถาม <<< กราบพระอาจารย์เจ้าค่ะ..พระอาจารย์เจ้าขา..คืออยากทราบว่า..

การที่เราจะเข้าวิปัสสนาเราจะต้องทำให้มากเจริญให้มากหรือว่า..

นั่งแล้วจิตรวมสักพักเราจึงนึก

เอา..ทุกข์..สมุทัย..นิโรธ..มรรค..มาพิจารณา อสุภะ..ร่างกาย..

มโนเอา..หรือเป็นวิปัสสนูปกิเลสไปค่ะ…หรือว่านั่งๆไปเรื่อยๆ..ชั่วโมง2ชั่วโมง..

มันก้อแค่สติระลึกรู้..แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าควรไปวิปัสสนาได้แล้ว..

ถ้าตาในเรายังไม่เห็นร่างกาย..สังขารเสือมสลายไป..เราก้อไม่สามารถไปวิปัสสนาเจ้าค่ะ

*** ตอบ>>> ก่อนอื่นให้เข้าใจก่อน ว่าวิปัสสนาคืออะไร เราจะได้ไม่สบสนคำศัพท์

ปัญหาของชาวพุทธไทยเราก็คือ นำคำบาลีมาใช้ แต่ไม่เข้าใจความหมายแห่งคำ

เมื่อนำมาใช้มากขึ้น การย้อมไปในทางไม่เข้าใจความหมาย มันก็มากขึ้น

ผลแห่งความเข้าใจ มันก็บิดเบือนความหมายออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ

การทำสมาธินี่ เป็นวิปัสสนากรรมฐานตัวหนึ่ง

วิปัสสนากรรมฐานนี่ แยกออกเป็นสองทาง

ทางแรกก็คือ การทำกรรมฐานแบบเพ่ง หรือนิ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ด้วยวิตกนั้นๆ

ทางที่สองก็คือ การทำกรรมฐานแบบคิด หรือพิจารณา ในวิตกนั้นๆ

วิตกก็หมายความว่า สิ่งที่ยกขึ้นมาตั้งเป็นกรรมฐาน

อย่างเช่น ตั้งพุทโธขึ้นมาเป็นวิตก

การเพ่งประคองพุทโธ เป็นวิจารณ์

คำว่าพุทโธนี่ เรียกว่าการบริกรรม

เรานำคำบริกรรมที่เราถูกจริต เช่น พุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอ พองหนอ หรืออะไรก็ตาม

มาเป็นอารมณ์ แล้วประคองการเพ่งนั้นเป็นอารมณ์

เช่นนี้..เรียกว่าการทำสมาธิแบบเพ่ง หรือที่เรียกว่า สมถะ

ส่วนอีกทางหนึ่ง เรียกว่าการคิด หรือพิจารณา

ใช้การนำเอาผัสสะมาพิจารณาเป็นอารมณ์

หรือนำเอาหัวข้อธรรมยกขึ้นมาเป็นวิตกในการพิจารณา

ประคองการพิจารณานั้นๆด้วยการสาวผลไปหาเหตุ

หรือตรึกผลที่มันเป็นไปในขณะนั้น พิจารณาหาความเป็นจริงด้วยเหตุและผล

นี่..ทั้งการเพ่งและพิจารณา ทั้งสองทางนี่ เรียกว่าการเจริญวิปัสสนา

ผลแห่งการเจริญวิปัสสนาก็คือ

ทางเพ่ง เกิดปัญญาทางด้านเจโต

ทางพิจารณา เกิดปัญญาทางด้าน เข้าใจถึงความเป็นจริงแห่งสมมุติที่ยึดเป็นอุปาทาน

การกระทำการวิปัสสนา เป็นการภาวนา

การภาวนา เราภาวนาได้ทั้งสี่อริยาบท คือ เดิน ยืน นอน นั่ง

อาศัยสติและสัมปชัญญะเป็นฐานในการดำเนินจิต

ส่วนวิปัสสนูกิเลสนั้น เป็นอาการแห่งตัวตนที่หลงเข้าไปยึดในอาการที่เป็น

การเกิดอาการใดๆในการภาวนา แล้วเราเอาตัวตนเข้าไปเป็นเจ้าของ

สิ่งนั้นเรียกว่าวิปัสสนูกิเลสทั้งสิ้น

แต่ไม่ใช่ว่า สิ่งต่างๆเหล่านั้นมันจะเป็นวิปัสสนูด้วยตัวและอาการของมันที่เป็น

อย่างเช่น การเกิดโอภาส เกิดแสงสว่างโพลนขึ้นมาในดวงจิตภายใน

ความสว่างนี้เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของอารมณ์ในภวังค์จิต

แต่ผู้ที่เข้าถึงอารมณ์แห่งความสว่าง เข้าใจว่าเราดีแล้วหนอ เราสว่างแล้วหนอ เกิดความมหัศจรรย์ต่อเราแล้วหนอ

การหลงเข้าไปยึดในอาการเช่นนี้ว่าเราเป็น เรียกว่าอุปกิเลส

การเกิดธรรมผุด สติว่องไวเด่นชัด รู้เห็นนั่นนู่นี่ ตาใส สว่างโพลน ฯ

อาการต่างๆที่เจ้าของผัสสะในการภาวนา เกิดความเข้าใจ เกิดความรู้แจ้ง

แล้วเข้าไปยึดว่า เราเป็น เราเข้าถึง เราบรรลุ เราได้ดีแล้วหนอ

ความเป็นเจ้าของด้วยความเข้าใจว่าเราเป็น ในทุกอาการที่มันปรากฏต่อใจ

อาการเหล่านี้ เรียกว่าเป็นอุปกิเลส

อุปกิเลสก็คือ อุปาทานที่เป็นตัวขวางมรรคผลในธรรมทั้งหลาย

อาจารย์เจ้าสำนักต่างๆที่ชี้สอนสมาธิ ส่วนใหญ่ชี้สอนและใช้คำกันไม่ค่อยถูก

บางสำนักห้ามนั่งแช่นิ่ง ห้ามสมถะ ให้ใช้แต่การวิปัสสนา

ด้วยเข้าใจว่า คำว่าวิปัสสนาเป็นการพิจารณาดำเนินมาทางปัญญา

ส่วนทางเพ่งเป็นอาการของพวกฤษีชีไพร

นี่..เขาไม่รู้ว่า เพ่งก็เป็นการวิปัสสนา เป็นหนทางแห่งการเกิดปัญญา ที่เรียกว่าเจโต

ยกตัวอย่างเช่น เรามองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราย่อมเข้าใจในสิ่งที่มองได้ โดยไม่ต้องไปพิจารณาด้วยคำสมมุติ

เรามองเห็นแกงก็รู้ว่าแกง มองเห็นต้นไม้ก็รู้ว่าต้นไม้

นี่เป็นการเพ่งโดยไม่ต้องพิจารณา มันก็รู้ได้ ว่ามันคืออะไร

แต่การพิจารณา เรานำสิ่งที่เพ่งนั้นมานึกคิด มาพิจารณา ว่ามันคืออะไร

ต้นอะไร แกงอะไร ประกอบด้วยอะไร รสชาติอย่างไร ในผัสสะที่เราเข้าไปรู้เห็น

เมื่อพิจารณาลงไปเราถึงเกิดปัญญารู้ชัด ว่าอะไรเป็นอะไร เช่นนี้เรียกว่าการพิจารณา

การเพ่งศพเฉยๆ มันก็รู้ว่าศพ มันเป็นสิ่งปฏิกูลของเหม็นเน่า

หรือจะมายืนท่อง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อะไรต่ออะไร นี่เป็นการเพ่ง

ส่วนการพิจารณา คือการตรอง ตรึก นึกคิด สาวผลต่างๆไปหาเหตุ

เอาศพมาพิจารณา ลึกลงไปมากกว่าตาที่มันมองเห็น และรู้ว่า มันเป็นศพอย่างไร

ไม่ใช่ไปยืนท่องๆๆๆ กับสิ่งที่ตนจำได้หมายมั่นว่าเป็นอย่างไร แล้วจะเรียกว่าเป็นการพิจารณา

นี่..การทำกรรมฐานมันต้องเข้าใจความหมายและอาการต่างๆให้ถูกต้องซะก่อน

ก่อนที่จะไปพูด ไปคิด ไปทำ ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้จะเป็นอย่างไร

ไม่งั้น ชีวิตินี้ การฝึกหัดภาวนา มันก็จะมีแต่เข้าข้างใจตนเอง และเจริญเติบโตขึ้นมาด้วยคำว่า ทำไมๆๆๆๆๆ

หวัดดีเช้าวันจันทร์ ขอให้มีแต่ความสุขในการปฏิบัติที่เข้าใจตรงและถูกต้องกันทุกคน

ขอสาธุสวัสดี..

พระธรรมเทศนา โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง 20 มีนาคม 2560