ขวางโลก..ด้วยหลักกาลามสูตร

ขวางโลก..ด้วยหลักกาลามสูตร

363
0
แบ่งปัน

**** “ขวางโลก..ด้วยหลักกาลามสูตร” ****

มีหลายท่านเป็นโรคกังขา ขี้สงสัย มากปัญญา จนงมงายในปัญญาที่มี

เป็นโรคพวกลัทธิ Scepticism คือกังขาและตั้งข้อสงสัยไม่มีที่สิ้นสุด

คนพวกนี้มักอ้างหลักกาลามสูตรในการใช้ทิ่มแทง ในสิ่งที่ตนอวดตัว

อ้างพระพุทธเจ้าท่านทรงตรัสว่าอย่าเชื่ออย่างนั้น อย่าเชื่ออย่างนี้

แต่ดูเหมือนให้เชื่อตัวเองเหมือนเจ้าลัทธิบางสำนัก ที่ใช้คำอ้างพระพุทธเจ้า ห้ามไม่ให้เชื่อครูคนไหน

ให้เชื่อแต่ตำราที่กล่าวอ้างและยัดเยียดความคิดตน ว่านี่เป็นพระพุทธเจ้าพูด

พวกนี้มักเอาพระสูตรก๊อปมาแปะแล้วทิ้งไว้ให้อ่าน เหมือนเป็นการดูถูกภูมิปัญญาผู้อื่น ว่าด้อยค่าไม่รู้จักความเป็นจริง

ข้านี่มักจะต้องมาอธิบายพระสูตรเหล่านี้ ให้เจ้าพวกนี้ฟัง

แต่พออธิบาย มันก็ไม่ฟัง มันบอกว่า เป็นคำสาวก มันฟังแต่พระพุทธเจ้าพูดเท่านั้น

และมันก็ไปก๊อปพระสูตรมาแปะๆๆๆ ด้วยความโก้หรูประจานความโง่ของสมองกลวงๆ

ข้าทำอะไรซักอย่าง หรืออธิบายอะไร ก็จะมีเจ้าพวกลัทธิ Scepticism นี้ เอาพระสูตรมาแปะและกล่าวข้อกังขา

ว่าพระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้เชื่อ และถ้าจะเชื่อ ต้องเชื่อพระพุทธเจ้าเท่านั้น

นี่ปัญหาของพวกสมองกลวง ที่เอาคำแปลมาเป็นพระพุทธเจ้าพูดแล้วขาดการวินิจฉัย

จึงดูเป็นเด็กน้อยท่อง ก.กา ที่ไม่รู้ว่า จะเอา ก.กาไปทำอะไร และหมายความว่าอย่างไร

ในหลักของกาลามสูตร ปัญหาว่าด้วยกาลามสูตร ข้าจะขยายให้ฟังพอสังเขป

กาลามสูตร หรือเกสปุตตสูตร เป็นพระสูตรในมหาวรรคที่ 2 ทุติยปัณณาสก์ ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย

ขอยกข้อพระสูตรมาเลย เดี๋ยวมันจะบอกว่าข้ามั่วเองอีก

หลักกาลามสูตร เป็นพระสูตรที่ชาวพุทธ รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

ด้วยเหตุที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัส มอบเป็นแนวทางการพิจารณา ไตร่ตรองความเชื่อ ในเจ้าลัทธิต่างไว้ 10 ประการ

ตามปกติแล้ว การอ้างหลักกาลามสูตร พวกมักจะหยิบมาเฉพาะในส่วนของ 10 ข้อที่อ้าง เพื่อใช้ฟาดฟันยกตนข่มท่าน ว่าอย่าไปเชื่อ

อันเป็นแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงมอบไว้เป็นบรรทัดฐาน แก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตตนิคม

แยกออกมาเป็นข้อๆพอแปลความไว้ราวๆนี้

1. มา อนุสฺสเวน ได้แก่ อย่าเชื่อถือ แม้โดยถ้อยคำตามที่ได้ฟังมาว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้.

2. มา ปรมฺปราย ได้แก่ อย่าเชื่อถือ แม้โดยถ้อยคำที่จำทำตามๆสืบๆ กันมาของคนหมู่มาก.

3. มา อิติกิริยาย ได้แก่ อย่าเชื่อถือว่า ได้ยินว่าข้อนี้เป็นอย่างนี้ ข้อนี้เป็นอย่างนั้นด้วยข่าวลือ

4. มา ปิฏกสมฺปทาเนน ได้แก่ อย่าเชื่อถือ ตามข้อความนี้ ตามตำราที่เขาว่า.

5. มา ตกฺกเหตุ ได้แก่ อย่าเชื่อถือ โดยการตรึกตรองจากความคิดเราที่เข้าใจเอา.

6. มา นยเหตุ ได้แก่ อย่าเชื่อถือ แม้โดยการถือเอาตามนัยตามรูปแบบคาดเดาของเรา.

7. มา อาการปริวิตกฺเกน ได้แก่ อย่าเชื่อถือ แม้โดยการตรึกตามเหตุการณ์ เข้ากับความเห็นของตน.

8. มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา ได้แก่ อย่าเชื่อถือว่า เข้ากับทฤษฏีที่พิจารณาดีแล้ว ทนต่อการพิสูจน์ จึงถือเอา.

9. มา ภพฺพรูปตาย ได้แก่ อย่าเชื่อถือ โดยคิดว่า ภิกษุนี้เหมาะสม ควรเชื่อถือถ้อยคำของภิกษุนี้ได้.

10. มา สมโณ โน ครุ ได้แก่ อย่าเชื่อถือว่า พระสมณะรูปนี้เป็นครูของเรา เราควรเชื่อถือถ้อยคำของพระสมณะรูปนี้ได้.

เมื่อพิจารณาโดยสามัญสำนึก ตามความเป็นจริงแล้วจะเห็นว่า อย่าว่าแต่ลัทธิต่างๆ เลย

แม้แต่พุทธศาสนาก็จะไม่รอดจากบ่วงกังขาสงสัยทั้ง 10 ข้อเช่นกัน

เพราะทั้ง 10 ข้อล้วนแต่กระตุ้นให้เกิดกังขาไม่มีที่สิ้นสุด และถึงที่สุดอะไรๆ ก็ล้วนเชื่อถือไม่ได้

อ้างข้อหนึ่งก็จะไปติดอีกข้ออ้างอีกข้อหนึ่ง ข้อสงสัยก็จะหลุดออกไปจากบ่วงกังขาไม่ได้

หากปฏิบัติตามทั้ง 10 ข้อ คนผู้นั้นไม่เพียงแต่จะกลายเป็นพวกลัทธิ Scepticism ที่ได้แต่ตั้งข้อกังขาไปทั่วเท่านั้น

แต่ยังจะต้องวิ่งไล่งับเงาตัวเองไปชั่วตลอดกัลปาวสาน ด้วยความกังขาของตัวเองที่ไม่มีที่สิ้นสุด

นี่คือปัญหาของการอ้างกาลามสูตร เพราะที่อ้างมา
มันเป็นเพียงข้ออ้างแค่ส่วนแรกเท่านั้น

มันเอา 10 ข้อ ข้อห้ามยกมาฟาดยกมาข่มผู้อื่นว่าพระพุทธเจ้าท่านห้ามไม่ให้เชื่อ ทั้ง 10ข้อนี้

พวกนี้ไม่รู้หรอกว่า มันยังมีส่วน ต่อขยายที่ถูกละเลยไปอย่างไม่น่าเชื่อของผู้นำมากล่าวอ้าง

10 ข้อตรวจกังขาข้างต้นนั้น พุทธองค์ทรงให้ไว้เพื่อยุติความสับสนของชาวกาลามะ

หลังจากถูกปั่นหัวโดยเจ้าลัทธิต่างๆ ที่อ้างตัวว่าดีแล้วใส่ไคล้ผู้อื่น

ชาวกาลามะจึงฟุ้งซ่านสับสนไม่รู้จะเชื่อใคร นี่ยังมีพระสมณะโคดมก็มากล่าวอ้างว่าเป็นพระพุทะเจ้าอีก

จะมีหลักอะไรให้พวกเขาได้เชื่อถือกันได้ ว่าเจ้าลัทธิเหล่านี้ คือศาสดาที่เป็นผู้พ้นโลกควรค่าแก่การเดินตาม

พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสทั้ง 10 ข้อนี้ไว้ให้แก่พราหมณ์ชาวกาลามะ

ทั้ง 10 ข้อมีไว้เพื่อปิดทางความฟุ้งซ่านทางความคิด เพื่อให้ชาวกาลามะ กลับมาเพ่งที่ตัวเอง

ให้ตัวเองเป็นผู้พิพากษา อย่าได้ไปเชื่อใครตามหลัก 10ข้อนั้น

แต่ผู้พิพากษานั้น จะตัดสินตามอำเภอใจมิได้ จะต้องมีบรรทัดฐานในการตัดสิน

พระพุทธองค์จึงทรงมอบบรรทัดฐานให้ ในช่วงที่ 2 ของพระสูตร

ซึ่งไอ้พวกชอบยกพระสูตรมาฟาดฟันผู้อื่น มันไม่เคยรู้เรื่องอะไรกับเขาในส่วนนี้เลย

บรรทัดฐานนั้นก็คือ การใช้โลภ โกรธ หลง เป็นตัววัด บุรุษบุคคลที่เราสมควรจะเชื่อถือ

บุรุษบุคคลใด ยังมีสิ่งใดที่กระทำ ที่แสดงออกเจือปนด้วยอกุศลทั้ง 3 นี้

สิ่งนั้นๆที่เหล่าบุรุษบุคคลกระทำ ไม่มีประโยชน์ ไม่ควรเชื่อถือ

สิ่งใดกระทำแล้วเป็นไปด้วยความ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นประโยชน์พึงพอเชื่อถือบุรุษบุคคลนั้นได้

พระพุทธองค์ทรงยกตัวอย่าง ที่พระพุทธองค์ทรงสละแม้ความเป็นกษัตรย์ ทรัพย์ ความสะดวกสบาย ด้วยการออกบวช

นี่เป็นการแสดงถึงความไม่โลภในสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต่างปรารถนา

ทรงกล่าวถึงความโกรธ ความหลง ในนัยเดียวกัน ด้วยความเป็นพระพุทธองค์

โดยทรงใช้วิธีซักถามชาวกาลามะเป็นข้อๆ ว่า อย่างนี้ๆ ดีหรือไม่อย่างไร

เมื่อทรงเห็นชาวกาลามะยอมรับว่า การไม่เบียดเบียนกันอย่างนี้ๆ การไม่ทำตามอกุศลมูลทั้ง 3 เป็นสิ่งประเสริฐ จึงทรงขยายความสืบต่อไปอีกปริยาย

จากนั้นพระพุทธองค์ทรงแจกแจงว่า บุคคลที่ไม่มีโลภ โกรธ หลงนั้น

ย่อมไม่พฤติละเมิดศีล 5 คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ

บุคคลที่ไม่ประพฤติเช่นนี้ ขึ้นชื่อว่าไม่ใช่คนเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นภัยต่อตัวเองและผู้อื่น และตัวเองจะเป็นสุขด้วย

จึงสรุปได้ว่า 10 ข้อขจัดกังขานั้นมีจุดประสงค์ให้เราเพ่งมาที่ตัวเอง รักษาตัวเองในการดำเนินไปตามทางแห่งหนทางที่ถูกต้อง

เมื่อจดจ่อกับตัวเองแล้ว มีสติพอแล้ว ไม่คลอนแคลนไปตามคติผู้อื่นแล้ว

ให้ใช้ศีล เป็นบรรทัดฐานรักษาใจ หากพบว่า คำสอนนั้นๆ คตินั้น ไม่ตรงกับศีล ที่เป็นหลักของเครื่องอยู่

ก็อย่าพึงเชื่อ อย่าน้อมรับ เพราะจะเป็นหนทางนำไปสู่อันตรายแก่ใจที่จะดิ่งไปในอบายภูมิ

อันว่าการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การคบชู้ การพูดเท็จ มิใช่หลักของศาสนาพุทธเท่านั้น

มันเป็นหลักของทุกๆศาสนา ผู้ใดละเมิดก็เป็นอันตรายทั้งสิ้น ไม่ต้องรอชาตินี้ชาติหน้า

แต่ถ้าอยากจะให้สุขยิ่งๆ ขึ้นไป ก็ให้มีพรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ธรรมทั้ง 4 ประการนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธ เพราะเป็นหลักสากล ที่ทุกศาสนาเขามีไว้เป็นหลักประจำใจกันอยู่แล้ว

เมตตาคือความรัก กรุณาคือความสงสาร มุทิตา คือความยินดีที่เขาได้ดี ไม่มีริษยา

ส่วนอุเบกขาคือการมีสติ ทำใจหนักแน่นไม่หวั่นไหวในอารมณ์ และเป็นเครื่องประคองไม่ให้รักมาก สงสารมาก และยินดีมากเกินไป

ทั้งศีล 5 และพรหมวิหาร 4 นี้ พระพุทธองค์ทรงให้ไว้เป็นบรรทัดฐาน ต่อจาก 10 ข้อตรวจกังขา ที่ชาวกาลามะสงสัย

หากมีแต่ตรวจสอบกังขาโดยไม่มีศีล ไม่มีธรรม ก็จะหลงสงสัยไม่มีสิ้นสุดอยู่เรื่อยไป

พระพุทธองค์ก็ทรงล่วงรู้ว่า คนที่มีกังขามากนั้นจะสงสัยไม่สิ้นสุด

อีกทั้งยังมีจำพวกเห็นว่า พระองค์อาจดึงให้เขาเข้าศาสนาด้วยวิธีการนี้

จึงทรงเสริมให้ชัดเจนอีกว่า การปฏิบัติศีล 5 และพรหมวิหาร 4 นั้น

หากเชื่อถือในผลก็จะได้รับผลในโลกหน้า สุ่สุคติภูมิ หรือเป็นพระอริยะเช่นไร

แต่หากไม่เชื่อนรกสวรรค์ การถือศีล 5 และพรหมวิหาร 4 ก็ยังนำสุขมาให้ชีวิต

พระพุทธองค์ทรงตรัสแสดงแก่ชาวกาลามะว่า

… ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้

มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ 4 ประการในปัจจุบันว่า

1. ถ้าปรโลกมีจริง ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วมีจริง เหตุนี้เป็นเครื่องให้เราเมื่อแตกกายตายไป

จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ (ถ้าเชื่อโลกหน้าและผลกรรม การไม่เบียดเบียนตนเองและผู้นอื่น จะเป็นปัจจัยให้ไปสู่สุขคติ)

2. ก็ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วไม่มี เราไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์เป็นสุข บริหารตนอยู่ในปัจจุบันนี้

(ถึงไม่เชื่อเรื่องโลกหน้าและผลกรรม แต่ถ้าไม่เบียดเบียนตัวเองหรือใครๆ ก็เป็นสุขแล้วในปัจจุบัน)

3. ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ชื่อว่าทำบาป เราไม่ได้คิดความชั่วให้แก่ใครๆ ไหนเลยทุกข์จักมาถูกต้องเราผู้ไม่ได้ทำบาปกรรมเล่า

(ถ้าเราไม่ได้ทำอกุศลกรรมอันใด คือกระทำด้วยโลภ โกรธ หลง ถึงไม่เชื่อเรื่องมรรคผล หรือโลกหน้า ชีวิตก็ยังเป็นสุขได้)

4. ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ไม่ชื่อว่าทำบาป เราก็ได้พิจารณาเห็นตนว่าเป็นคนบริสุทธิ์แล้วทั้งสองส่วน

(ถ้าเราประกอบกุศลอันใด ถึงไม่เชื่อโลกหน้าและผลกรรม ก็ยังขึ้นชื่อว่าเป็นคนบริสุทธิ์ เป็นที่ควรแก่การสรรเสริญ)

แล้วทรงตรัสสรุปว่า

“ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่มีเศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ 4 ประการนี้แลในปัจจุบัน ฯ”

หลังจากได้ไตร่ตรองแล้ว ชาวกาลามะจึงเข้าใจ ประกาศเป็นพุทธมามกะตลอดชีวิต

สรุปว่า หากจะอ้าง 10 ข้อตรวจกังขาของกาลามสูตร พึงพิจารณาพ่วงท้ายด้วยว่า

สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมานั้น สอดคล้องกับศีล 5 และพรหมวิหาร 4 หรือไม่ด้วย

ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหามาก ถึงขนาดส่งผลให้เป็นคนขวางโลก หากว่ากันในทางพุทธก็คือขวางมรรคขวางผลกันเลยทีเดียว

เราพอสรุปหลักกาลามสูตรโดยนัยและโดยย่อตามที่กล่าวมานี้

ก็ขอให้ผู้ที่มีสมองแค่ก๊อปแปะๆๆเพื่อฟาดฟันผู้อื่น ควรนำไปเพิ่มรอยหยักในสมองตนบ้าง

เผื่อใจจะได้สูงขึ้นความรอบรู้ธรรมมันจะได้ไม่วนอยู่แต่ในอ่างที่วนเวียนฟาดฟันผู้อื่นโดยไม่รู้จบ..

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 โดย พระอาจาาย์ธรรมกะ บุญญพลัง