พิจารณากายในและกายในกาย

พิจารณากายในและกายในกาย

401
0
แบ่งปัน

****** “พิจารณากายในและกายในกาย” ******

เมื่อปีก่อนโน่น ข้าได้อธิบายกายนอกทิ้งไว้ ที่จริงมันก็มีการขยายธรรมอยู่เรื่อยนั่นแหละ

แต่คำถามก็ยังคงมีมาอยู่เสมอ

การพิจารณากายนอก เราพอเข้าใจกันแล้วใช่ไหม

ข้าจะอธิบายคำว่ากายใน…

กายในนี่ก็หมายความว่า

ตัวเราที่เป็นเจ้าของอันน่าหวงแหนนี่แหละ

การพิจารณากายใน ให้มาเห็นตัวเจ้าของ ที่หลงยึดในความเป็นเรา

ว่าตรงไหนหนอ ที่เราเรียกว่ามันเป็นเรา..

ทำไมตัวเราจึงแตะไม่ได้เลย เมื่อความไม่ถูกใจทั้งหลาย มันไหลมาเป็นกระแสสัมผัสใจเรา

ทำไมเรา จึงเกิดความถูกใจ ไม่ถูกใจ เรามันอยู่ตรงไหนกับความเป็นเรือนกายนี้ เราถึงได้หวงแหนกับตัวมันนัก

ตรงไหน ชี้หาลงไป ที่มันหมายถึงตัวเรา

ผม ขน เล็บ ฟัน หนังหรือ ที่เป็นเรา

หรือน้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำมูก เหงื่อไคลที่แสนเน่าเหม็นนี้ มันคือตัวเรา

เราต้องมาหาตัวเรา ที่น่าหวงแหนแตะต้องไม่ได้ ว่าตัวเรามันซ่อนอยู่ตรงไหน ในสกลกายเรือนนี้

ยกมือขึ้นมาดูมัน พิจาณาดูว่ามือที่ยกขึ้นมานั้น มือมันอยู่ตรงไหน

หนังหรือ นิ้วหรือ เล็บหรือ ขนหรือ รึว่า เนื้อที่ซ่อนอยู่ในหนัง หรือเอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก เลือด น้ำเหลืองน้ำหนอง ที่ซ่อนอยู่ข้างใน

นี่..ต้องชี้มา ว่าส่วนไหนมันเป็นมือ หามือให้เจอ

และที่เรียกกันว่า มือเรา เรามันอยู่ตรงไหนของมือ

เราเจ็บมือ เมื่อโดนกรีดโดนทุบ ถ้าตัดมือออก มือจะเจ็บไหม

เจ็บมือที่ขาดออกไปหรือเจ็บตรงรอยแผลที่ขาด..

ถ้ามือเป็นเรา มือก็ต้องเจ็บด้วยแม้ขาดไปแล้ว

แต่ทำไมเราจึงเจ็บแค่ที่แขนตรงรอยตัด

นี่แสดงว่า กายในส่วนที่เป็นมือ มันก็ไม่ใช่เราแน่

มือนี่ เป็นชื่อสมมุติ จริงๆมือนั้นมันไม่มี ที่มีเป็นเพราะหลายสิ่งมารวมกันตามเหตุปัจจัย ที่เราตั้งสมมุติเรียกว่าเป็นมือ

พิจารณาลึกลงไปให้เห็นถึงความเป็นธาตุสี่ มาประชุมรวมกัน

ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไล่เรื่อยไปจนถึงขี้เยี่ยว

แยกเป็นกองๆ กองดิน กองน้ำ กองลม กองไฟ ที่มารวมตัวประชุมกัน

สอดส่งลงไปให้ชัดตามเหตุปัจจัย ว่ากายนี้ที่เรียกว่าเรา เป็นตัวเรา ทั้งก้อนที่น่าหวงแหนนี้ เรามันอยู่ตรงไหนของเรือนกาย

และเรือนกายนี้ ที่เป็นก้อนๆ มันเป็นก้อนเดียวหรือเกิดจากหลายสิ่งมารวมกันเป็นก้อนตามเหตุปัจจัย

และแต่ละสิ่ง มันมีอะไรเป็นตัวตนที่มีเราหลงเข้าไปยึดไปถือว่านี่ก้อนนี่กายแห่งเราอะไรได้บ้าง

เราต้องพิจารณาสอดส่งคลี่คลายออกมา

นี่ เป็นแนวทางการพิจารณา กายใน

เมื่อพิจารณากายในจนประจักษ์แจ้งว่า เรามันซ่อนอยู่ตรงไหน เป็นอย่างไร

ต่อไปก็มาพิจารณา กายในกาย

อะไรคือกายในกาย นี่..ก็ต้องมาขยายความกันอีก..

กายในกายก็หมายความว่า

เรือนกายที่เราหลงยึดนี้ ทั้งกายในและกายนอก มันเป็นสมมุติโปรแกรมที่มีเราสร้างเป็นอัตตา

มันสมมุติอัตตาอย่างไร

อาการเวทนาทางกาย ที่เรารู้สึก จากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์

อาการเวทนาทางกายเหล่านี้ ใครเป็น..!!

หากกายเป็น…เวลาเวทนาทั้งหลายเหล่านี้หายไป ทำไมกายจึงไม่หายไปด้วย

อย่างเช่น…นั่งนานแล้วเกิดปวดขา อาการปวดขา มันเกิดจากขามันปวด หรือเราเป็นเจ้าของการปวดขา

พิจารณาแรก…เราอยู่ตรงไหน ของการเป็นเจ้าของการปวดขา

ถ้าขาเป็นเรา เราต้องบังคับขาเราได้ว่าอย่าเป็นอย่างนั้นซิ อย่าเป็นอย่างนี้ซิ

อย่าเป็นเช่นนั้นเลย อย่าเป็นเช่นนี้เลย

นี่ย่อมแสดงว่า ความปวดนั้น ย่อมไม่ใช่เรา

เรา..ไม่มีในปวด ปวดนั้นเป็นอาการอย่างหนึ่ง ที่มีเราเข้าไปเป็นเจ้าของ

การเป็นเจ้าของนี่ เป็นการหลงตัวหนึ่ง ที่เราไม่ได้พิจารณาสอดส่องลงไปในอาการที่เป็น

เมื่อขาดการสอดส่อง ในอาการที่เป็น อาการทั้งหลายที่เกิดกับกาย มันก็จะเหมาว่าเรามันเป็น และเป็นเจ้าของทุกเรื่อง

เมื่อหาเราไม่เจอในเรือนกายที่เป็น แต่เวทนาอันเกิดจากการปวดมันยังแสดงอยู่

ปวดนี้ มาจากไหน เราจริงๆนั้นไม่ได้ปวด เพราะพิจาณาโดยถ่องแท้แล้วด้วยปัญญา แต่ขามันปวด

ก็ต้องพิจารณาลงไปอีกว่า ที่ขาปวด ขามันปวด หรือการปวด มันมาจับอยู่ที่ขา

หากขามันเป็นตัวปวด เมื่อเวลาคลายปวดด้วยเหตุปัจจัย ทำไม..ขามันจึงไม่หายไปกับอาการที่มันปวดขึ้นมาด้วย

แสดงว่า ขาเองก็ไม่ได้ปวด ที่ปวด มันเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง ที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิด

ขาที่เป็นส่วนหนึ่งของกายนี้ ไม่เกี่ยวกับการปวด

การปวดเป็นเวทนาตัวหนึ่ง ที่มาอาศัยขาแสดงออกในอาการปวด ที่เราเรียกว่า เวทนา

นี่..พอเข้าใจไหมในการพิจารณา กายในกาย

ที่ว่านี้เป็นการพิจารณาทางช่องทางกายวิญญาณ

มันยังมีทางจักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาและมโนวิญญาณอีก

เมื่อเราพิจารณาในส่วนที่เป็นกาย ทั้งกายใน ทั้งกายนอก และพิจารณากายในกาย

เราจะเห็นว่า กายนี้ ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีความรู้สึกอะไรใดๆ ไม่หิว ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ง่วง ไม่อะไรทั้งสิ้น

อาการทั้งหลายที่กายเป็น และมีเราเข้าไปเป็นเจ้าของอาการ

ทั้งหมดมันเป็น เวทนา

นี่..การพิจารณากาย ทั้งกายใน ทั้งกายนอก ทั้งพิจารณากายในกาย เราย่อมเห็น เวทนา..

จริงๆแล้ว ธรรมทั้งหลายนั้น ไม่ได้ง่ายสำหรับปุถุชน

ปุถุชนแค่อ่าน แค่จำ และนำเอาคำมาแปลมาตีความหมายตรึกตรองและทึกทักภาษาเอา

การเจริญพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม มันก็เลยไม่เข้าถึงมรรคผล

กาย เวทนา จิต ธรรมนี้ เป็นการเจริญ เพื่อเข้าไปสู่หนทางแห่งปัญญา

มันเป็นการเจริญมรรคเพื่อถอดถอนอุปาทาน ในอัตตาแห่งความเป็นตัวตน

ความเป็นสุญญตาใช้ช่องทางแห่งการเจริญภาวนาในช่องทางนี้เพื่อให้เกิดปัญญา

การเรียนรู้ที่เกิดปัญญาและช่องทางธรรม มันต้องอาศัยผู้ชี้ ที่เข้าใจและเกิดปฏิภาณทางธรรม

การเรียนรู้และท่องจำอ่านจากตำรา เป็นแค่เพียงลายแทงฉลากยาเพื่อแค่ให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร มันก็แค่นั้นเอง..

พระธรรมเทศนา วันที่ 8 ตุลาคม 2559 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง