******* “อยากรู้คำว่าภวังค์จิต” ******
<<< คำถาม :กราบพระอาจารย์ธรรมกะ
พวกผมถกกันถึงเรื่องภวังค์จิตกัน คำๆนี้มีอยู่ในพระไตรปิฏกหรือไม่
ผมเคยอ่านธรรมของพระอาจารย์ และเคยผ่านตาว่า พระอาจารย์ก็เคยกล่าวถึงคำว่าภวังค์จิตออกมาเหมือนกัน
พระอาจารย์พอจะขยายความและอธิบายคำๆนี้ออกมาให้ปรากฏชัดเจนได้ไหม
ผมเชื่อพระอาจารย์ ผมไม่เชื่อใคร ผมเชื่อได้ว่าพระอาจารย์ย่อมขยายคำๆนี้ออกมาให้ทุกคนได้ประจักษแจ้งได้
ด้วยความเคารพครับ
>>> พระอาจารย์ : ไปค้นตำรามารึยังที่ถามมานี่..
<<< ค้นแล้วครับ แต่ไม่เข้าใจที่ตำราอธิบายมามีในวิสุทธิมรรค
>>> พระอาจารย์ : ช่วยตอบหน่อยข้าจะฟัง
<<< ศิษย์ : คำนี้หนูอ่านในธรรมพระอาจารย์เมื่อคืน แต่หนูก็ไม่เข้าใจความหมาย ได้ยินพระอาจารย์พูดบ่อยๆ
หนูก็ยังถามตัวเอง ภวังค์จิต คืออะไร..
<<< ศิษย์ : ภวังค์จิต คือ ความทรงจำที่เกิดขึ้น ขณะจิตว่างรึเปล่าครับ อิอิ
<<< ศิษย์ : จะให้อธิบาย ยังงัย.. เรียบเรียงซักครี่
<<< ศิษย์ : รู้แค่ว่าภวังค์จิตทำงานเมื่อเราเราหลับครับ คงคล้ายๆแมมโมรี่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ครับ
<<< ศิษย์ : ขบวนการของสัญญาที่ถูกบันทึกไว้
<<< ศิษย์ : สิ่งต่างๆที่สะสมอยู่ในจิตเมื่อกายแตกดับ ก็จะกลายเป็นภวังค์จิตที่มี่ข้อมูลต่างๆอยู่ในนั้น แฮๆ
<<< ศิษย์ : สำหรับปอ ภวังค์จิตเหมือนข้อมูลที่เก็บไว้ในไดร์ฟ C หรือ D ของคอม ไม่แสดงผลหากเราไม่เปิดมัน พะยะค่า พระเจ้าตาาาาาาาาา
<<< ศิษย์ : สัญญาความจำค่ะ
<<< ศิษย์ : หนูขอตอบตามปัญญาที่มีนะคะ ภวังค์จิต ในความเข้าใจของหนูคือ เป็นภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่เราอยู่ในสมาธิ แล้วระลึกสิ่งนั้นๆได้ เช่น ตอนนอน มันก็มีภวังค์จิตเกิดขึ้น โดยที่เราจำความฝันนั้นได้
<<< ศิษย์ : ภวังค์จิต คือ อาการที่จิตมันปรุงแต่ไม่มีเราเข้าไปเป็นเจ้าของเหมื่อนเวลาฝันครับ
<<< ศิษย์ : เป็นจิตที่ไร้สภาวะอยู่เหนือการควบคุม
เราจึงไม่สามารถบังคับบัญชา ให้มันอยู่ในความควบคุมของเราไม่ได้ไป
ซึ่งมันมีความแตกต่างกันจากวิถีจิต เราสามารถควบคุมมันได้
<<< ศิษย์ : เราอยู่ในภวังค์จิตตลอดเวลาอยู่เเล้ว…คือ การเปลี่ยนอารมณ์หนึ่งไปสู่อารมณ์หนึ่ง นี่คือนัยยะของอภิธรรม
เเต่จิตตกภวังค์เเบบเราเข้าใจ คือ อาการเหม่อ อาการไม่รู้ตัว ภวังค์จิตนัยยะอภิธรรม ไม่เกี่ยวกับสมาธิ เเต่มันคือสภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนเเปลงของอารมณ์..
<<< ศิษย์ : ภวังค์จิต คือ ภาวะที่ตนเองหลับ หรือเข้าสมาธิจนสมาธิรวมตัว และเข้าสู่ภวังค์จิต ภวังค์จิตจะปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆที่เคยประสบพบเจอมาทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยไม่มีเราเข้าไปเป็นเจ้าของ เรามีหน้าที่เป็นแค่ผู้ดูในอาการปรุงแห่งภวังค์จิต
<<< ศิษย์ : ผมก็เคยสงสัยครับ ในเรื่องของจิต
แต่เดี๋ยวนี้ เฉย ๆ แล้วครับ กับเรื่องของจิต
>>> พระอาจารย์ : เรื่องภวังค์จิตนี่ ข้าอาจจะยังไม่ได้อธิบาย หรืออธิบายไปแล้วมั๊ง เรื่องภวังค์จิตนี่ ในบาลีน่ะมี
แต่ความหมายที่อรรถกถาจารย์แปลออกมาน่ะอาจไม่ตรงกับความหมายนัก แปลออกมาเข้าใจยากไป ไม่ใช่ว่าข้าจะไปเก่งกว่าอรรถาจารย์
แต่ความหมายที่แปลออกมา มันแปลแบบพจนานุกรม มันจึงอาจไม่ตรงจุด
และไม่ได้เขียนคำความหมายของคำว่า ภวังค์จิตขึ้นมา ในคำแห่งการแปล
จริงๆความหมายนี้ ในบาลีท่านก็อธิบายคลุมลักษณะ
แต่ไม่ได้ใช้คำว่า ภวังค์จิต
คำว่าภวังค์จิตนี่ มันเป็นคำแต่งสมมุติ ที่ให้ความหมายแห่งลักษณะ
ซึ่งอธิบายแยกออกมาเป็นซ้ายขวา นั่นก็คือ ภาวะการเกิดมามีรูป ตกแต่งรูปมาตามวิบากจิตเรียบร้อยแล้ว นี่เป็นมูลเหตุของที่มาแห่งคำว่า ภวังค์จิต
เมื่อรูปยังเกิดไปตามวิบาก จิตมันจะแยกออกเป็นสองส่วน คือ ภวังค์จิต และวิถีจิต
นี่..สองคำนี้ เป็นสมมุติคำที่ใช้เรียกภาวะรูปที่ได้เกิดกำเนิดออกมาเป็นรูปแล้ว
ส่วนที่ยังไม่เป็นรูป ท่านใช้สมมุติคำว่า ภวังค์วิญญานและวิถีวิญญาน
นี่..ข้าจะอธิบายอย่างป่าๆโดยไม่ต้องไปอิงตำราให้เสียเวลา
ภวังค์วิญญาน คือ วิญญานที่ยังไม่มีรูป
ส่วนวิถีวิญญานนี่ คือ วิญญานที่มีรูปแล้ว
วิถีวิญญาน เป็นอาการของวิญญานที่ใช้เส้นเอ็นกล้ามเนื้อ ประสาทสัมผัส เรียกว่า มีช่องต่อทางอายตนะที่มีรูปตามวิบากกุศลและอกุศล
ภวังค์วิญญานนี่ เป็นพลังงานที่มีแต่ข้อมูลบันทึก ยังไม่มีรูปอันเกิดจากกุศลและอกุศลวิบาก มาให้ผล
ทีนี้ ไอ้วิถีวิญญานนี่แหละ มื่อมาก่อเป็นรูป มันแบ่งออกเป็น ภวังค์จิตและวิถีจิต
นี่..ข้าชี้ไปถึงเหตุที่มาให้พอเข้าใจกันพอคร่าวๆ
ไอ้ภวังค์จิตนี่ พูดง่ายๆว่ามันเป็นอาการจิตเข้าสู่โหมดดับโปรแกรมทางอายตนะรูป เช่น ทางตา หู ลิ้น จมูก กาย และใจด้วย
สิ่งที่มันทำงานอยู่นั้น เป็นเรื่องของจิตที่เป็นภวังค์ปรุงแต่งด้วยตัวมันเองล้วนๆ
การปรุงแต่งนี้ เราจะไปใช้คำว่า เป็นมโนไม่ได้
เพราะมโนนี่ เป็นความรู้สึกนึกคิดที่มันเป็นโปรแกรมหนึ่งของวิถีจิต
ในภวังค์จิตนี่ มันไม่มีเราเข้าไปเป็นเจ้าของอาการที่มันปรุงแต่งอะไรได้เลย
เราจึงไม่นับว่ามโน เป็นอาการของภวังค์จิต
มโนนี่ก็คือใจ หรืออารมณ์ที่เราปรุงแต่งขึ้นมาด้วยสติที่ปรุงไปได้ทั่ว อาศัยผัสสะ
แต่ในภวังค์จิตนี่ มันมโนเอาด้วยตัวเราและสติไม่ได้
มันปรุงแต่งของมันไปตามเรื่องตามราวที่ไร้หางเสือบังคับ
การเข้าสู่ภวังค์จิตนี่ก็คือ อาการที่เราหลับนั่นแหละ
การหลับเป็นอาการพักทางวิถีจิต แต่จิตนั้น มันไม่ได้พักหรือหยุดปรุงแต่ง
เมื่อโปรแกรมทางรูปพัก จิตมันก็เข้าสู่โหมดภวังค์จิต
มันมาปรุงแต่งทางภวังค์ของมันต่อ และมันปรุงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ไอ้ที่เราจำได้ว่าเราฝันนั่นฝันนี่เป็นตุเป็นตะนั่น
มันเป็นอาการของสติที่มันพอจะระลึกได้เท่านั้น
เรียกว่า เป็นคนหลับไม่ค่อยสนิท
คนที่หลับไม่ค่อยสนิทนี่ สติไม่ได้ดับอย่างหมดจรด
สติที่หลงเหลืออยู่นั่นแหละ จะเป็นตัวระลึกถึงเรื่องราวที่เราคิดว่าเราฝัน
ฉะนั้น..จริงๆแล้วความฝันน่ะมันเชื่ออะไรไม่ได้
แต่ที่ฝันเห็นนั่นเห็นนี่นั่น และเกิดตรงไปตามที่ฝัน
นั่นเป็นเรื่องของการปรุงที่แสดงผลของเหตุที่เคยบันทึกมา
ทุกอย่างมันมีรอบของมัน ซึ่งแต่ละคนบันทึกกันมาไม่เท่ากันอีก
เรื่องพวกนี้ ต้องมาฟังกันเฉพาะหน้า
การตีความหมายจากอักษร ย่อมไม่ตรงและเข้าไม่ถึงเท่ากับการอธิบายสด
ภวังค์จิตนี่ มันจะดับประสาทกล้ามเนื้อเส้นเอ็น ที่แสดงความรู้สึกแก่เจ้าของ
มันไปแสดงการปรุงในภวังค์ที่เป็นธรรมชาติวิบากของมันโน่น
ทีนี่..บางคนที่นั่งสมาธิ
จิตมันก็สามารถตกเข้าไปสู่ภวังค์ได้เหมือนกัน โดยไม่ต้องหลับ
แต่เป็นภวังค์ ที่มีสติลอยเด่นอยู่
อาการแรกของโหมดเข้าสู่จิตที่มีภวังค์ในการนั่งสมาธิก็คือ ปิติ
ปิตินี่ เป็นอาการจิตตกเข้าไปสู่ภวังค์ แต่เป็นภวังค์ที่มีสติลอยเด่นอยู่
ความรู้สึกทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางผัสสะอะไรต่อมิอะไร มันก็ยังปรากฏให้เจ้าของระลึกได้
แต่สิ่งที่เจ้าของระลึกได้นั้น มันไม่จริงในวิถีจิต
มันเป็นเรื่องจริงในภวังค์จิต ที่มันปรุงแต่งขึ้นมา
สิ่งที่มันปรุงนี่แหละ มันส่งผลไปถึงสติที่แสดงตนในความเป็นเจ้าของ
เจ้าของจึงรู้สึกอย่างนั้น รู้สึกอย่างงี้ เช่น ตัวโยกคลอน ตัวหมุน เหม็นซากศพ ขนลุกขนชัน น้ำหูน้ำตาไหล
อาการทั้งหลาย ที่จิตมันปรุงขึ้นมานี่ ที่เจ้าของรับรู้ ท่านเรียกว่า ปิติ
และอาการปิติในบางเรื่อง กายมันก็แสดงอาการออกมาให้เจ้าของเป็นด้วย เช่น น้ำตาไหล อาการยกมือยกไม้ หรือฟ้อนรำ เห็นนั่นเห็นนี่
มันเหมือนเจ้าของสัมผัสอาการต่างๆได้ด้วยตัวเจ้าของเอง
แต่จริงๆมันเป็นอาการปรุงแต่งทางภวังค์จิต เป็นแต่สติที่เด่นชัด มันระลึกเรื่องราวต่างๆที่ปรุง กลายมาเป็นเราปรุง และเป็นเรา ที่เป็นผู้แสดง
นี่..ถ้าอธิบายมันก็จะขยายไปเยอะ
มันต้องมาอธิบายคู่ของมัน คือ วิถีจิตอีก
ไอ้สองตัวนี้ มันเหมือนกลางวันกะกลางคืน
แต่ไอ้น้องเขาถามมาแค่อาการของกลางคืน
ข้าก็อธิบายพอรู้ร่องของกลางคืนที่เรียกกันว่า ภวังค์จิตก็พอ
คืนนี้โอเค ข้าง่วงแล้ว..!!
พระธรรมเทศนา วันอังคารที่ 20 กันยายน 2559 โดยพระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง