บาลีเกี่ยวกับโพชฌงค์

บาลีเกี่ยวกับโพชฌงค์

592
0
แบ่งปัน

****** “บาลีเกี่ยวกับโพชฌงค์” ******

<<< คำถาม : กราบพระอาจารย์ครับ

สัมโพชฌงค์ ผมไม่ทราบว่า คนแปลได้ตรงเจตนาแห่งธรรมที่พระตถาคตได้แสดงไว้ไหม

น้อมกราบขยายธรรมแก่เหล่าศิษย์สักเล็กน้อยขอรับ

กราบ กราบ กราบครับผม _/\_

>>> พอจ : ไม่ตรงครับ.. บาลีเองก็ไม่ตรงครับ…

เพราะความหมายแห่งสัมโพชฌงค์ไม่ใช่ให้พิจารณาออกเป็นข้อๆเช่นนั้น

ส้มหนึ่งผล เหมือนองค์คุณแห่งการตรัสรู้

เป็นแค่ท่านแยกชี้ว่า นี่เปลือก นี่ใย นี่เนื้อ นี่น้ำ นี่เมล็ด

ท่านรู้จักเปลือก ท่านจะกินเปลือกหรือ ท่านแค่ชี้ให้เห็นลักษณะเปลือก

ท่านเข้าใจเนื้อ อธิบายได้ในแต่ละส่วน เพื่อรู้จักว่ามันเป็นของมันเช่นนี้

ชี้ให้เห็นอาการ องค์ประกอบของแต่ละส่วน แต่เป็นส้มผลเดียว

แม้ไม่รู้จักส่วนประกอบของส้ม แค่รู้ว่ามันกินได้แล้วชื่นฉ่ำใจ

อุเบกขาสัมโพชฌงค์ มันก็เกิด

สมาธิสัมโพชฌงค์ มันก็เกิด

ความสงบ วิริยะ ปิติ ที่พิจารณาโดยสติ

นี่…เรียกว่าโพชฌงค์ เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ธรรม

ไม่ใช่ไปเจริญ ข้อนั้น ข้อนี้ แล้วจะเป็นสัมโพชฌงค์อะไรขึ้นมา

ผู้มีปัญญาที่อบรมดีแล้ว ย่อมมีสติ

เพราะสติเป็นพื้นฐานเกิดสัมปชัญญะตามรู้ ย่อมเด่นชัดในผัสสะ

เพราะผัสสะเป็นเหตุ จึงเกิดการพิจารณา

เพราะประคองการพิจาณาเป็นเหตุ จึงเกิดปิติ

เพราะปิติเป็นเหตุ จึงเกิดวิริยะ

เพราะวิริยะเป็นเหตุ จึงเกิดความสงบ

เพราสงบเป็นเหตุ จึงเกิดสมาธิ

เพราะสมาธิเป็นเหตุ จึงเกิดอุเบกขา

อุเบกขาในสัมโพชฌงค์นี่เป็นปัญญา

เพราะเกิดปัญญานี่แหละ จีงไม่เข้าไปเสพในทั้งสองส่วน คือ กามสุขัลนุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค อันเป็นธรรมของชาวบ้าน

ผู้ที่มีสติเช่นนี้ ได้ชื่อว่า เป็นผู้เจริญ สัมโพชฌงค์..!!


<<<< ตามที่ท่านมหาเขียนมา มันเป็นบาลี ที่พอกด้วยบาลีแห่งปริยัติ

เรื่องนี้ เป็นบาลี ที่อรรถกถานิยามเขียนใส่ลงไป

เรานี่มันคนไทย

พอได้เชื่อว่าเป็นบาลี เราต่างก็คิดว่า นี่เป็นภาษาโบราณ

เป็นคำพระพุทธเจ้าตรัส เพราะเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าตรัสเป็นภาษาบาลี

บาลีเหล่านี้ เป็นบาลีสมัยใหม่ ที่เขียนเป็นภาษาและความหมายโดยอรรถจารย์ด้านบาลี อธิบายมาเป็นบาลี

การแปล ก็แปลจากบาลีโบราณที่อรรถกถาเขียนขึ้นมาอีกนั่นแหละ

ธรรมชาติของผู้เขียนบาลี ก็คือนักเรียนนักปริยัติ

ผู้ปฏิบัติและผู้เข้าถึง ไม่ค่อยมายุ่งเกี่ยวกับคำในสำนวนอย่างนี้

วิสุทธิมรรคนี่ เป็นงานเขียนง่ายมาก สำหรับผู้ที่มองเห็นธรรม

คนเข้าใจเขียน ก็เขียนเพ้อไปเรื่อยได้

มันเอาหลักการมาจากปริยัติแห่งพราหณ์

ในบาลีพราหมณ์ เขาก็เขียนเกี่ยวกับเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา

พุทธนี่ เป็นเรื่องเห็นแจ้งทางปัญญาล้วนๆ

แต่อาศัยพื้นฐานที่ปรากฏนี่แหละ ในการพิจารณา เพื่อก้าวเข้าไปหาเหตุและผลที่ซ่อนเร้น

เรื่องโพชฌงค์นี่ หมายถึงองค์ตรัสรู้

มันเป็นเหมือนส้มผลเดียว

เพียงแต่ท่านแยกแยะอารมณ์ออกมาให้เห็น

ผู้มีปัญญา เมื่อพร้อมมูลด้วยสติ นี่เรียกเป็นผู้มีสติสัมโพชฌงค์

ผู้มีสติก็ย่อมเจริญ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ นี่เป็นธรรมดา

ผู้เจริญธัมมวิจย ย่อมเกิดปิติ

ผู้เจริญปิตย่อมเกิด วิริยะ

ผู้เจริญวิรยะย่อมเกิด ปัสสัทธิ

ผู้เจริญปัสสัทธิย่อมเกิดสมาธิ

ผู้เจริญสมาธิ ย่อมเกิดอุเบกขา

นี่..มันร้อยเรียงอาการกันมาอย่างนี้

แต่ผู้แปล มันไปแปลอาการเป็นข้อๆ เรื่องๆ

แปลอย่างไม่เข้าใจและรู้เรื่องว่า อาการต่างๆ มันเป็นแค่ส้มผลเดียว

ไม่ได้ให้เจริญเป็นอย่างๆ เป็นชิ้นๆอย่างนั้น

นี่เขาเรียกว่าแปลตรงตัวอย่างแปลพจนานุกรม

แปลกันเช่นนี้ เรียนกันให้ตายก็เข้าไม่ถีงมรรคผล

มันขาดผู้ร้อยเรียงเป็นเส้นด้ายให้เป็นพวงมาลัย…!!

แต่ก็ว่าไปตามที่โลกเขาว่าๆกันไปเหอะ จะได้ไม่ไปขวางโลกเขาสัมโพชฌงค์ ท่านก็ให้ความหมายอยู่แล้วว่า เป็นองค์แห่งตรัสรู้

คำว่าองค์ก็คือ องค์ประกอบแห่งการตรัสรู้

ส้มหนึ่งผล มันก็มีองค์ประกอบแห่งการเป็นผลส้ม

อยู่ๆจะให้มาเจริญเปลือก เพื่อกินเปลือก

อยู่ๆจะให้มาเจริญใย เพื่อกินใย

เช่นนี้ คนแปลโง่หลาย ไม่เข้าใจ ว่าส้มมันมีองค์ประกอบอย่างไร

ไม่ใช่ รู้จักองค์ประกอบ แลัวแยกออกมาพิจารณาเป็นส่วนๆ เพื่อความเจริญในแต่ละส่วนอย่างนั้น

เจริญแยกชิ้น แต่ละชิ้น มันย่อมไม่ใช่ผลส้ม

มันแค่ส่วนหนึ่งในความเป็นผลส้ม

ส้ม…ไม่ใช่อะไรที่เป็นชิ้นๆ ส้ม…คืออะไรที่เป็นชิ้นๆมารวมกัน เรียกว่าส้ม..!!

>>>>> การสวดโพชฌงค์ สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ จริงใหมครับพระอาจารย์

<<<<< ถ้าสวดได้ หมอก็คงตกงานน่ะท่านหนึ่งเดียว..

>>>>> ก็พระพุทธองค์ทรงให้พระอัสสชิสวดโพชฌงค์ เพื่อบรรเทาอาการอาพาธทางกายก่อนเข้านิพพานไม่ใช่หรือ พระอาจารย์จะว่าไง

<<<<< คนแปลบาลีมา เขาแปลออกมาด้วยสำนวนอย่างนั้นนั้นแหละ เขาแปลแบบวิจิตรอักษร ตามพจนานุกรม

พระพุทธองค์ท่านไม่ได้ให้สวดโพชฌงค์อย่างนั้น

หากเป็นจริงอย่างนั้น ข้านี่ขอลาขาดจากพุทธศาสนาแล้ว มันเป็นเรื่องงมงายอย่างโง่และงี่เง่าเลยทีเดียว

พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสแก่พระอัสสชิว่า ” เธอพึงมีสติ ”

คำตรัสแค่นี้นี่แหละ สำหรับปราชญ์ มันก็เข้าใจความหมาย ไม่ได้ให้สวดโพชฌงค์อะไรนั่น

พระอัสสชิท่านเผลอสติไป เพราะเหตุแห่งเวทนามันแรงกล้า

ท่านใช้การภาวนาและสมาธิเข้าข่มเวทนา

แต่เพราะความแรงกล้าแห่งเวทนา สมาธิที่ท่านภาวนาใช้ข่ม จึงไม่เป็นผล

เมื่อได้อัญเชิญพระพุทธองค์มา พระพุทธองค์ทรงได้ตรัสว่า ” เธอพึงมีสติ ”

พระอัสสชินี่ เป็นพระอรหันต์ที่สำเร็จองค์สุดท้าย ในชุดปัญจวัคคีย์

สำเร็จมรรคผลในธรรมแห่งอัตตาและอนัตตา

เมื่อพระพุทธองค์ทรงมาเตือนสติ

ท่านก็เกิดการพิจารณา ระลึกถึงธรรมที่ท่านเข้าถึง ปิติก็เกิด

ปิติเกิด วิริยะ ความสงบใจ สมาธิ และอุเบกขาก็เกิด

มันเกิดเพราะมีสติที่ได้เข้าไปพิจารณาธรรมที่เคยประจักษ์แจ้งมา

นี่เป็นธรรมแห่งองค์ตรัสรู้ เป็นธรรมที่เรียกกันว่า โพชฌงค์

ไม่ได้หมายความว่า ให้สวดโพชฌงค์แบบหัวข้อธรรมแล้วมันจะหาย

พวกเรานี่ เข้าใจแบบนี้กันมาแต่โบราณ เรียกว่าเข้าใจธรรมแบบไสยยะ

ไม่ได้เข้าใจแบบพุทธะ เอะอะอะไร ก็พึมพรัมด้วยบทมนต์ไว้ก่อน

แปลก็แปลกันไม่ออก เก่งอยู่อย่างเดียวคือ โบราณเขาว่ามา

แต่ไม่มีปัญญาตีแตกอักขระคำภีร์อะไร จากอักษรโบราณเหล่านั้นได้เลย..!!

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2559 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง