วิญญานที่แตกต่างนิโรธที่แตกต่าง

วิญญานที่แตกต่างนิโรธที่แตกต่าง

307
0
แบ่งปัน

****** “วิญญานที่แตกต่างนิโรธที่แตกต่าง” *****

ขอสาธุคุณให้มีแต่ความเจริญ…

>> คำถาม : เพราะ มีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ในปฏิจจสมุปบาท วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท กับ วิญญาณในขันธ์ ๕ ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไรครับท่านอาจารย์ ?

<< พระอาจารย์ : ต่างกันที่ตรงมีรูปและไม่มีรูป

วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท เป็นอาการของจิต ที่ปราชญ์สอดส่องลงไปด้วยปัญญา

วิญญาณในขันธ์ห้า เป็นตัวยืนยันสมมุติในภวังค์ที่สังขาร เจตนา สัญญา มันมาปรุงแต่งผัสสะ ที่ปราชญ์สอดส่องลงไปเห็นด้วยเช่นกัน

วิญญาณที่เนื่องด้วยรูป อาศัยผัสสะทางอายตนะรูป

วิญญาณที่เนื่องด้วยจิตสังขาร อาศัยอวิชชา ที่ผัสสะด้วยอายตนะแห่งธรรมธาตุ

วิญญาณที่เนื่องด้วยรูป อาศัยอายตนะ แยกออกไปเป็น

จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานะวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญาณ

และในแต่ละช่องแห่งผัสสะวิญญาณ

แยกออกเป็น เวทนาที่เป็นสมมุติให้เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ อีกมากมาย

วิญญาณในส่วนที่เรียกว่า ผี หรือสัมภเวสี ก็เป็น วิญญาณอีกอย่างหนึ่ง ที่แตกต่างไปจากวิญญาณที่กล่าวมาอีก

เรื่องวิญญานนี่ มันใช้สมมุติคำเดียวกันไปตามกาล ตามเหตุปัจจัย

มันต้องนำมาขยายเป็นเรื่องๆ

ในปฏิจจสมุปบาท วิญญานมันแทรกซึมลงมาตั้งแต่ อวิชาไปยันชาติ

เพราะมันเวียนเป็นวัฏฏะ อาศัยอิธทัปปัจจยตาเป็นเครื่องปรุงคล้องจองกันไป

ส่วนวิญญานในขันธ์ห้านี่ เป็นการยืนยันของโปรแกรมจิตที่ปรุงขึ้นมา ก่อนจะเป็นเวทนาสมมุติ

เวทนาสมมุติก็เป็นวิญญานตัวหนึ่ง ที่เป็นผลมาจากการปรุงเหมือนโคตรเหง้าเดิมของมัน คือจิตสังขาร

จิตสังขารมันปรุงมาจากอวิชา เวทนาสมมุติ ก็โดนปรุงมาจากนามขันธ์ที่อาศัยรูปเช่นกัน

เรียกกระบวนการปรุงเช่นนี้ ว่า เจตสิก..!!

ยิ่งอธิบายพวกแกก็พากันปวดหัวอีก ไปนอนกันเหอะไป..

>>>> คำถาม นิโรธในอริยสัจสี่ กับนิโรธในสมาธินี่ ตัวเดียวกันรึเปล่า…

<<<< พระอาจารย์ นิโรธในอริยสัจสี่ กับนิโรธ ในสมาธินี่คนละอย่างกัน

นิโรธในหลักอริยสัจนี่ เป็นหลักเครื่องดำเนินชีวิต ในการที่จะอยู่กับโลก

เป็นผลมาจากทางเดินแห่งมรรคด้วยสติปัญญา

ทำให้ผัสสะที่เร่าร้อน มันสงบลงด้วยเหตุด้วยผลด้วยความเข้าใจ

โดยสติปัญญาและสมาธิของเจ้าของ

มันสงบด้วยกระแสแห่งตัณหาที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จักจบ

ไม่ใช่รู้อริยสัจแล้วจะเป็นผู้บรรลุธรรมอะไรแบบนั้น อย่างที่เข้าใจ

อริยสัจนี่เป็นเครื่องชี้ให้เดิน เป็นหลักเหตุหลักผลในการเดิน ว่าเจ้าของจะเลือกมาทางเดิน ฟากก่อ หรือฟากดับ

ผู้บรรลุธรรม ท่านชี้หลักอริยสัจไว้ให้เป็นเครื่องดำเนิน

พวกเรามักเข้าใจหลักอริยสัจ โดยการท่องจำ

รู้แบบหัวข้อ รู้แบบการอ่านฉลากยา

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เรารู้กันมาอย่างนี้

แต่เราไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จัก สมุทัย ไม่รู้จักนิโรธ ไม่รู้จักมรรค

เรารู้จัก จากการอ่านหนังสือที่เขาว่าๆ กันมา

เอะอะอะไร ก็ฟาดด้วยมรรค มีองค์แปด

แต่ไม่รู้ว่า มรรคมีองค์แปดนั้น ความหมายคืออะไร

แปลกันแบบความหมายโลก แปลกันมานาน แปลแบบความรู้ไทยๆ ตามพจนานุกรม

อย่างเช่น สัมมาวาจา..!!

ไทยเราแปลวาจาคือการพูด นี่ก็ถูก

แต่ถูกแค่เสี้ยวเดียว

ถูกเพราะมันเป็นการสื่อออกมาทางภาษา

มันเลยแคบ ตีบตัน ยึดแค่ร่องภาษาว่าคำพูดดีๆ หมายถึง สัมมาวาจา

เมื่อภูมิแค่นี้ ก็เลยมีการแต่งกรรมบท 10 กันขึ้นมา

แต่งแยกออกไปจากศีล 5

ซึ่งศีล 5 เอง ก็เป็นศีลของพราหมณ์ และของหลายๆ ศาสนาแทบทุกศาสนากันอยู่แล้ว

มันเป็นศีลพื้นฐานของทุกศาสนา ที่ผู้เคร่งครัดในข้อศีล นำมาหวดรักษาใจตนเอง

อย่างของพราหณ์นี่ พวกเคร่งจัด ถือกันเป็นพันๆ ข้อ

เพื่อให้ใจตนเอง ว่างจากอกุศลทั้งหลาย

ข้อศีล กับใจที่มันมีศีลนี่ แตกต่างกัน

ข้อศีล ไว้ใช้กับใจที่มันชอบนอกคอก ยังต้องอบรมใจด้วยกรอบแห่งข้อศีล

ใจที่มีศีล ไว้ใช้กับใจตน ด้วยความมีสติและปัญญา

เห็นตรงตามความเป็นจริงตามเหตุปัจจัยที่ถูกที่ควรตามโลกสมมุติ

ข้อศีลที่แต่งขึ้น เช่นกรรมบท 10 เป็นการแต่งขึ้นมา เพื่อรักษาใจ ในด้านแห่งการมีจริยธรรม

เป็นการล้อมคอกใจ ให้อยู่ในสังคมได้ อย่างมีความสุข

การไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดโกหก

นี่..เป็นการแสดงออกทางภาษา ทางเสียง เพื่อไม่เป็นที่น่ารังเกียจในสังคม

แต่ทางธรรม มันกินกว้างกว่านั้น

สัมมาวาจานี่ คือการสื่อสารออกมา ด้วยกายทุกส่วน ด้วยใจทุกอย่างที่ปรุงแต่งด้วย นอกเหนือไปจากภาษาและเสียง

เป็นการสื่อออกมาด้วยใจที่เป็นกุศล มีสติปัญญา สัมปชัญญะ ทางกาย วาจา ใจ ที่เรียกว่ามรรค

มรรคนี่ เป็นหนทางช่องเดินแห่งความมีกุศล

เราจะแสดงออกอะไรก็แล้วแต่ ด้วยใจที่เป็นกุศล ประกอบด้วย สติสัมปชัญญะและปัญญา ตามเหตุปัจจัย

นี่เป็นสัมมาวาจาทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่เป็นเพียงคำพูดเพราะๆ อย่างที่เราเข้าใจ

ข้าเองนี่ มักมีนักบวช นักปฏิบัติโลกสวย เพ่งโทษเสมอ

ต่างกล่าวว่า เป็นภิกษุที่ไม่ได้เรื่อง เป็นผู้ที่ไม่สุภาพ พูดจา แสดงท่าทางหยาบคาย

นี่..พวกเขายัดเยียดมาด้วยการเอาความดีที่ตนยึด เอาตัวตนแห่งตน เข้าไปตัดสิน

เอาคำพูดและท่าทาง ที่ไม่ถูกใจตน ตัดสินและฟันธง ว่านี่เลว

นี่..พวกเข้าใจว่าสัมมาวาจา เป็นเรื่องภาษาเพียงช่องแคบๆ ช่องเดียว

คนที่เข้าใจ ย่อมไม่ปกปิดธรรมชาติของใจ

ข้ามันลูกแม่ค้า ท่วงท่าวาจาไม่ได้รับการอบรมแบบขุนนางมาแต่เด็ก

มันก็ย่อมแสดงออกมาตามธรรมชาติของมัน ที่ไม่ได้ปกปิด

ปกปิดมันก็ตอแหลใจตัวเองน่ะซิ

ธรรมชาติเด็กตลาด มันก็มีไอ้เหี้ย ไอ้ห่า ตามประสาคุยกันฉันเพื่อน นี่..เป็นธรรมดา

คนที่มันไม่รู้จักธรรมดา มันก็ย่อมปกปิด เพื่อโชว์ความดีหลอกๆ ให้ใครเขาชื่นชม

เพื่อสรรเสริญเยินยอ ในความดีเคลือบความเลว ที่ใจมันปกปิด

มันทำไม่ยากนี่ ที่จะสร้างภาพ

แต่หลอกตนเองได้ มันก็สร้างภาพหลอกโลกได้เช่นกัน

ความถูกใจไม่ถูกใจนี่ โลกเขาตัดสิน ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าของ

ถ้าเจ้าของไม่ได้เลวด้วยใจเจ้าของ

โลกว่าเลว มันก็ไม่ได้เลวไปตามโลกที่เขาว่ากันดอก..!!

เมื่อเข้าใจ มันก็จะอยู่อย่างสบาย

แม้สังคมโลกเขาไม่ชอบใจ และส่วนใหญ่เขาจะประนาม

ก็ช่างมันไปซิ มันเรื่องของความเห็นโลกเขา

เรา..เอาความเห็นของโลก มาตัดสินใจของเรา

เรา..ก็อยู่บนโลกด้วยความอัตคัตอย่างไร้อิสระเสรี สิ้นภูมิในการเปิดเผย ความจริงที่เราเป็น..!!

เฮ่อ….ยังไม่ได้ว่าถึงเรื่อง นิโรธสมาบัติเลยนิ ..!!

พระธรรมเทศนา วันที่ 7 กรกฎาคม 2559 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง