กลัวและกล้า..โต่งจัดทั้งคู่

กลัวและกล้า..โต่งจัดทั้งคู่

672
0
แบ่งปัน

******** ” กลัวและกล้า..โต่งจัดทั้งคู่ ” *****

ตอนนี้อยู่เชียงราย จึงนำบทธรรมเก่าๆมาอ่านกันอีกครั้ง..!!

คำว่า ความกลัวนี้ มันเป็นธรรมชาติ อย่างหนึ่งของจิต มันเป็นโปรแกรม รักษารูปกาย

คำว่าผีนี้ มันมีความหมายสัญญาว่า เป็นอะไรที่มันไม่ใช่คน

และคนไทยเราก็ปลูกฝังสัญญานี้ มาตั้งแต่เกิด

ความกลัวนี้ หากมีมาก มันก็เป็นอาการ ยึดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า หลง

คนกลัวผีเอามากๆนี่ เป็นคนหลงอาการแห่งจิต คือโปรแกรมจิต มันทำงานด้านนี้มากเกินไป มันหวงรูป

คนไม่กลัวผี มีความกล้าในเรื่องผี นี่..ก็หลง

หลงมาในความทะเยอทะยานแห่งความกล้า เป็นอาการของจิต ที่หลงมาอีกฟากหนึ่ง

เราจะเห็นว่า ผู้คนนั้น โดยปกติ มักจะโต่งอยู่ ไม่ฟากใดก็ฟากหนึ่ง

มักจะยกตนในฟากที่ตนโต่งอยู่ ว่าเป็นสิ่งที่ถูก

นี่..เป็นลักษณะของ ปุถุชน

แม้แต่ความรู้ธรรม ที่รู้มา ก็จะมีความโต่งในธรรม ที่ตนจำมานั้นถูก ผิดไปจากที่ตนจำมารู้มานั้นผิด นี่..ธรรมอย่างปุถุชน

วิธีแก้ความโต่งแห่งจิตนี้ แก้โดย ฝึกสติ พิจารณา และหัดที่จะยอมรับมัน ในสรรพสิ่งที่เรา ไม่ถูกใจซะบ้าง

การยอมรับนี้ มันมีหลายวิธี หลายนัยยะ เพราะแต่ละคน ระดับการยอมรับ มันไม่เท่ากัน

แต่การยอมรับ มันจะช่วยให้สิ่งที่กำลังก่อเกิด เป็นความเลวร้าย ระหว่างบุคคล สัตว์สิ่งของ มันบรรเทาลง ไม่ตึงไม่หย่อนจนเกิด ความอึดอัด ขัดข้อง ต่อกัน ในสิ่งที่เราผัสสะ

คนที่กลัว เขาย่อมมีความพร่องของเขา ที่ยังต้องหา สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มาเป็นที่พึ่ง

คนที่กล้า กล้ามากไป มันก็เป็นอันตราย ต่อจิต ต่อใจ ต่อรูป หากไม่ฝึก การยอมรับ ซะมั่ง

ความกลัว เอาตัวรอด ได้ดีกว่า ความกล้า

คนที่มาฝึกจิตที่นี้ ตอนกลางคืน เขาจะขึ้นไปทดสอบจิตบนภูเขาคนเดียว

บางคนกลัวเยี่ยวแตกเยี่ยวแตน ชาตินี้กูไม่ขอขึ้นไปอีกแล้วคนเดียว

บางคน เดินขึ้นสบาย ไม่เห็นจะรู้สึกกลัวอะไร

เมื่อลงมา ต่างก็ได้รับการวินิจฉัยธรรม ว่า ความกลัว นี่คือหลง

คนกล้า ก็จะยิ้มเยาะ และลำพองใจ เพราะเขา เป็นผู้กล้า

แต่เมื่อบอกว่า ความกล้า นี่ก็คือกลัว เช่นกัน ผู้กล้าก็งง และไม่ยอมรับคำวินิฉัย เพราะเขากล้า ไม่ได้กลัว

ความกล้านี้ ก็คือ ความกลัว ที่จะไม่กล้า จึงจำเป็นต้องแสดงความกล้าออกมา เพื่อจะไม่ให้ใครเห็นว่ากลัว

มันคือกลัว ที่ซ่อนตัวอยู่ในความกล้า

เพราะทั้งคู่ ต่างเป็นอาการ ที่แสดงออกมา จากจิตทั้งคู่ ไม่ได้มาจากไหน เพียงแต่ เรามันดันเข้าไป เป็นเจ้าของ

คนที่มีความกล้า ก็ไม่มีปัญญาเอาความกลัว มาพิจารณา ว่า มันเกิดจากอะไร

คนที่มีความกลัว มันก็ไม่มีปัญญา ที่จะพิจารณาว่า ความกล้ามันเกิดจากอะไร

เพราะทั้งสองฟาก มันขาดสติ ทั้งคู่ ไม่ได้มีฟากไหน ดีกว่ากันเลย หากทั้งคู่ ต่างขาดสติ

แล้วเราจะทำการเข้าใจเรื่องเช่นนี้กันอย่างไร เพราะเรา ชอบตัดสินใจในอะไรๆ โดยไม่มีการพิจารณา สาวผลไปหาเหตุ

เห็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร ใจก็ไหลไปตามกระแส และตัดสินใจไปตามที่พบที่เห็น

นี่..เป็นภาวะฟากฝั่งแห่งปุถุชน คือมีความโต่งไปในทิฏฐิ ที่ตนมี

การโต่งไปตามกระแสแห่งตนนี้ เป็นวิสัยปุถุชน คือเป็นผู้ที่ขาดหลัก เหตุ หลักผล

เอา ตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ ที่สัมผัส เป็นเครื่องตัดสินใจ

ไม่สาวผลที่ได้ที่ปรากฏ เข้าไปหาเหตุ ว่าเหตุจริงๆนั้น มันมาจากไหน

ผู้รู้เหตุ ย่อมรู้ผล อันหลากหลาย และไม่ได้ เป็นผู้ยึดผล นี่…เกิดจากความเข้าใจเหตุ

เหตุและผลนี้ สัตว์เขาไม่เข้าใจ และเข้าไม่ถึง

แต่เราเป็นมนุษย์ เราเข้าถึงได้ เพราะเรามีปัญญา อันเป็นเครื่องมือสอดส่ง

แต่เราใช้ไม่เป็น จึงเป็นมนุษย์ ที่มีรูปกาย แต่ใจ..เป็นสัตว์

มนุษย์ใจสัตว์ ไม่ใช่ว่า เป็นมนุษย์ใจโหดร้าย อย่างที่เข้าใจ ที่เรียกว่า ไอ้สัตว์.!!

แต่เป็นใจ ที่มันหลงไปในกระแส แห่งผัสสะ ที่ไม่มีการสาวผลไปหาเหตุ

ท่านกล่าวว่า เป็นมนุษย์ผู้ไร้เหตุ ไร้ผล

เหตุและผล คือ หลัก อริยสัจ

สัตว์มันไม่มีอริยสัจ มันจึงไม่มีปัญญาที่จะบรรลุและเข้าใจธรรม คือความเป็นธรรมดา ในสรรพสิ่งได้

ใจมันจึงเต็มไปด้วยหนทางแห่ง สมุทัย

ผลก็คือ ทุกข์ ที่แอบซ่อนตัวเกาะอยู่กับผลของสุขที่มันเข้าใจ

สัตว์พวกนี้ มีความสุขในการกิน

มีความสุขในการนอน

มีความสุขในการสืบพันธุ์

และรู้สึกหวาดระแวงภัย ที่จะมาถึงตัว

นี่…ใจของสัตว์ เขามีแค่นี้

หากมนุษย์ มีใจและความรู้สึกเพียงแค่นี้

นี่..คือใจที่ไม่ต่างไปจากสัตว์ เขาเรียกว่าเป็น มนุษย์ใจสัตว์

ใจสัตว์ เพราะเป็นมนุษย์ ที่ขาดการพิจารณาถึงหลักเหตุและหลักผล

อยู่โดยไม่รู้ว่า เหตุนอกทั้งหลายนั้น เป็น สมุทัย

ไม่รู้ว่า เหตุใน คือการมีสติพิจารณา นั้นคือมรรค

นี่..คือมนุษย์ที่ใจเป็นสัตว์ ตายเมื่อไหร่ ไม่ต้องให้ใครมาพยากรณ์ให้ ว่าจะไปเกิด เป็นอะไร

ใจปัจจุบัน ที่ยังไร้เหตุไร้ผล มันก็ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์

เพราะเหตุแห่งใจ มันมีความเป็นสัตว์กันอยู่ตามปัจจัยอยู่แล้ว

ใจที่มีมุทิตาจิต ก็ไปเกิดเป็นพรหม

ใจที่ประเสริญ ก็ไปเกิดเป็นเทวดา

ใจที่เต็มไปด้วยตัณหา ก็มุดไปทางอบายทั้งสี่ คือสัตว์ อสูรกาย เปรต นรกภูมิ นี่…คือผล เมื่อกายแตก

วันนี้ เราพยากรณ์ใจเราได้หรือยัง ว่า เกิดตายวันนี้ ใจเรา มันจะดิ่งไปที่แห่งหนตำบลใด

ถ้ายัง…ภูมิอบาย มันกว้างใหญ่ ใจที่ยังบอด ย่อมหล่นไปได้สบาย

เช้านี้ธรรมเจื้อยแจ้วเล็กน้อย ฝากมากับสายลม

เรามาลองตรวจใจเราดู ว่าใจเรานี้ มันเป็นใจสัตว์ หรือใจเทวดา

หากใจเป็นสัตว์ ก็พึงอบรมมันใหม่

หากใจเป็นเทวดา ก็พึงประคองไว้

เพราะยังไง จะเป็นใจสัตว์หรือเทวดา รูปที่น่าหวงแหนแห่งใจดวงนี้ ก็ต้องจากโลกนี้ และความรู้สึกแห่งตัวเจ้าของไป

และมัน….ต้องจากไกลกันแน่ๆ…เตรียมตัวเตรียมใจรับมือภัย ที่จะมาถึงตัวรึยัง

เช้านี้…สวัสดีครับ

วันที่ 6 พ.ค. 2557 โดยพระอาจารย์ ธรรมกะ บุญญพลัง