ธรรมอย่างผู้รู้แจ้ง

ธรรมอย่างผู้รู้แจ้ง

681
0
แบ่งปัน

****** ธรรมอย่างผู้รู้แจ้ง *******

ขอสาธุคุณให้มีแต่ความสุขความเจริญ….

ธรรมทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นมาจากใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องวิเศษวิโส

มันเป็นเรื่องแค่เห็นแจ้ง ว่าครรลองธรรมนั้น มันไหลไปในทิศทางไหน

ปกติ สาธุชนทั้งหลาย ต่างก็มีตัณหาผุดขึ้นมาไม่รู้จบจากใจดวงนี้เป็นปกติ
เมื่อยามผัสสะแล้วปรุงแต่งขึ้นมา

ผู้มองเห็นธรรมก็เช่นกัน มันก็อาศัยธรรมที่ผุดขึ้นมาจากใจไม่รู้จักจบนี้เช่นกัน ในการดำเนินยามผัสสะ ต่อธรรมทั้งหลายหนุนเนื่องขยายกันออกมา

ผู้คนทั้งหลาย ผัสสะแล้ว ย่อมไหลไปตามกระแสแห่งสมมุติสัญญา อย่างขาดสติ

ตรงนี้เป็นสมุทัย กระแสที่ไหลออกไปเช่นนี้ เป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง

แต่ผัสสะแล้ว มีกำลังปัญญามีสติตรึกตรองกระแสแห่งผัสสะ เรียกว่า เป็นบุรุษผู้ยืนยันตั้งมั่นได้ด้วยกำลังแห่งสติ

ผู้เป็นเช่นนี้ ย่อมไหลมาทางหนทางแห่งมรรค ผลก็คือความสงบใจ เรียกว่า นิโรธะ

มรรคนี่ เป็นเหตุ นิโรธนี้เป็นผล

สมุทัยนี่ เป็นเหตุ ทุกข์นี้เป็นผล

ทั้งมรรคและสมุทัยต่างเป็นผล เมื่อถอยลึกลงไป

เหตุของทั้งคู่คือ มรรค และ สมุทัย คือ ใจที่มีตัณหาผุดขึ้นมาไม่จบจากใจดวงนี้นี่เอง

ใจที่มีตัณหานี้ มันเป็นธรรมชาติของจิต เป็นโปรแกรมรักษารูปกายอันเป็นเรือนร่างของเรา ที่ต่างเป็นเจ้าของ

ใจที่มีตัณหานี้ เกิดจากเวทนา อันมีมูลเหตุมาจากผัสสะ

ผัสสะเกิดขึ้น เวทนาย่อมเกิด

เวทนาเกิด ตัณหาย่อมเกิด

ตัณหานี้ มีอุปาทาน ภพ ชาติคลุกคล้ากันอยู่ครบ ยามผัสสะเกิดขึ้นกับ ตา หู ลิ้น ฯ ของเรา

เมื่อไหลไปตามกระแส โดยขาดการพิจารณาใคร่ครวญ ก็ย่อมเป็นผู้ขาดสติที่ดำเนินมาทางด้านปัญญา

เช่นนี้ เรียกว่า สมุทัย ผลก็คือ ทุกข์อันเป็นวิบากที่เจ้าของต้องเผชิญอย่างไม่รู้จบ นี่เพราะตัณหาอันเป็นเหตุ

ที่ท่านได้กล่าวว่า กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา ต่างอาศัยเหตุเหล่านี้ในการดำเนิน

นี่…เรียกว่าหนทางแห่งกระแสทางเดินมาทางสมุทัย

หากผัสะแล้ว มีกำลังสติปัญญาใคร่ครวญ รู้จักยับยั้งช่างใจ เริ่มที่ใจมีหิริโอตัปปะ คือความละอายชั่วกลัวบาป

มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมทาง กาย วาจา ใจ

กระแสธรรมดาที่ไหลไปเช่นนี้ เรียกว่า หนทางแห่งมรรค

ผลก็คือ ความสงบไม่เร่าร้อนไปตามกระแสแห่งตัณหา เรียกว่า นิโรธะ

ธรรมที่ออกจากใจนี้ก็เช่นกัน หากผัสสะแล้วใจที่ย้อมมาทางธรรมจนเกิดความรู้แจ้ง

ผัสสะแล้ว เป็นธรรมดา ที่ธรรมทั้งหลาย จะดำเนินไปตามทางหนทางของมันอย่างผู้รู้แจ้ง

ส่วนผู้ไม่รู้แจ้ง แม้รู้ธรรม ผัสสะแล้ว ก็ดำเนินธรรมไปอย่างผู้ที่ไม่แจ้งแห่งธรรม

ธรรมทั้งหลายที่แสดง ย่อมเป็นที่เสียดแทงแคลงใจและคาแคลง

ไม่เป็นธรรมที่เห็นเด่นชัด สำหรับผู้มีภูมิปัญญา

…แต่สำหรับผู้มีปัญญาภูมิ

ธรรมที่ไหลออกไปจากใจ ย่อมเป็นธรรมที่สละสลวยสวยงาม ดื่มกินอย่างไม่มีอิ่มเลยทีเดียว

ธรรมที่รู้แจ้ง ต่างก็มีมูลเหตุมาจาก ตัณหาที่ผุดขึ้นมาจากใจเช่นเดียวกัน กับธรรมที่ไม่รู้แจ้ง

เพียงแต่ธรรมที่รู้แจ้ง เสพแล้ว มันเป็นหนทางดำเนินไปทางมรรค ผลคือแจ่มแจ้งเข้าใจ สงบไม่สงสัยเคลือบแคลง เมื่อได้ยินได้ฟังยามสอบถาม

ส่วนธรรมที่ไม่รู้แจ้ง แม้กระแสธรรมจะสละสวยวิจิตรเพียงใด มันก็ดำเนินไปทางสมุทัย ผลก็คือ คาใจลังเลสงสัย ไม่มีอันสงบลงได้

ต้องเกิดทุกข์ทางใจในการ ที่ไม่เข้าใจ ในการที่จะปฏิบัติ และกระทำให้รู้ชัดและยืนยันได้ ด้วยใจเราเอง

นี่..ธรรมเหมือนกัน แต่เส้นทางแห่งผล ไม่เหมือนกัน

ธรรมที่ดำเนินมาทางมรรคก็มี

ธรรมที่ดำเนินมาทางสมุทัยก็มี

ทั้งมรรคและสมุทัย อาศัยเหตุจากผู้ชี้

ว่าเป็นผู้รู้แจ้งหรือผู้ไม่รู้แจ้งเท่านั้นเอง..!!

ขอสาธุคุณยามค่ำ

วันนี้เรามาเทศน์กันในหน้าเฟสสดๆ เลยดีกว่า ปกติเวลานี้ จะคุยกันในห้องธรรมนู่น

วันนี้อากาศดี ลมเย็นสบาย เรามากันที่นี่ก็แล้วกัน

ข้าจะว่าถึงผู้บรรลุธรรม ที่เหลือ คือ ฉฬภิญโญ และปฏิสัมฏิทาญานด้วย หากลากไปถึง

มีผู้สงสัยมาว่า พระโมคลานะ ผู้ทรงฤทธิ์ ทำไมถึงเป็นผู้บรรลุ ประเภท สุกขวิปัสสโก ทำไมไม่เป็นพระอรหันต์ประเภท ฉฬภิญโญ

ที่เราเข้าใจกันเช่นนี้ เป็นเพราะว่า เราเข้าใจกันโต่งและไม่ตรงในวิถีธรรม

นั่นก็หมายความว่า…

เราเข้าใจว่า ผู้ทรงฤทธิ์อย่างพระโมคลานะ ต้องเป็นพระอรหันต์ประเภทอภิญญา คือ ฉฬภิญโญ ถึงจะถูก

ตรงนี้ผิดมากมายเลย เราเข้าใจไม่ถูก

พระโมคลานะ ท่านสำเร็จมรรคผลด้วยปัญญาวิมุติ ในเรื่องของธาตุทั้งสี่แห่งเรือนกาย

ท่านได้วินิจฉัยธรรมข้อนี้จนแตกกระจาย เข้าตีอวิชชาได้

การบรรลุมรรคผลครั้งนั้น ถึงพร้อมด้วย เจโตวิมุติ จึงเกิด ปฏิสัมภิทาญาณขึ้นมา

ปฏิสัมภิทาญาณนี้ก็หมายความว่า…

ความรู้ยิ่งทั้งหลายที่ได้สะสมบารมีมา มันได้งอกเงยออกมาให้ผล ในวิถีแห่งจิต

โดยธรรมชาติแห่งจิต เมื่อเข้าสู่ญานบาทวิถีแห่ง ปัญญาวิมุติ หรือเจโตวิมุตติ

จิตจะเกิดสภาวะว่าง หมายความว่า การปรุงแต่งทั้งหลาย ที่อาศัยอายตนะ มันเข้าไปไม่ถึง ภาวะอันเป็นการย้อมจิต ท่านเรียกว่า เสวยวิมุติ

การเสวยวิมุติ ก็หมายความว่า…

การปรุงแต่งต่างๆ ที่เคยปรุงไปตามครรลองแห่งขันธ์ห้า ที่เรียกว่า เจตสิก ต่างวางตัวเป็นอุเบกขาซึ่งกันและกัน

ในภาวะอาการนั้น เป็นสภาวะแบบรู้ตัวทั่วพร้อม ทุกอย่างแค่วางตัวลงเป็นอุเบกขา

มีผู้ดู และรู้อาการเช่นนี้อยู่ แต่ก็เป็นอุเบกขาซึ่งกันและกัน ผัสสะทั้งหลาย ต่างไม่เสวยเวทนาที่ธรรมดาต้องอาศัยผัสสะ

หากเป็นสภาวะเจโตวิมุติ มันจะเกิดภาวะรู้แจ้ง กาย เวทนา จิต ธรรม

รู้แจ้งชัดในกายนี้ว่า กายไม่มีเวทนา ดั่งที่เราเข้าใจกัน ด้วยความหลงในสมมุติแห่งตัวตน

รู้แจ้งชัดในเวทนานี้ว่า เวทนาทั้งหลาย ไม่ได้เกิดเราเป็น เพราะเหตุแห่งกาย

รู้แจ้งชัดในจิตว่า จิตทั้งหลาย เป็นเหตุแห่งการเกิดเวทนา

รู้แจ้งชัดในธรรมว่า ธรรมทั้งหลาย เกิดจากการปรุงแต่งตามเหตุและปัจจัย

การปรุงแต่งนี้ เป็นเหตุ …แห่งการกำเนิดจิต

การปรุงแต่งแห่งจิต เป็นเหตุ …กำเนิด เวทนา

การปรุงแต่งแห่งเวทนา เป็นเหตุ …กำเนิดแห่งกาย

การปรุงแต่งแห่งกาย เป็นเหตุ …กำเนิดแห่งตัวตน

เมื่อเกิดภาวะ เจโตวิมุติขึ้นมา ผู้ดูจะรู้ว่า องค์ประกอบแห่งสังขารทั้งหลาย มันต่างทำหน้าที่ของใครของมัน

ไม่ได้เป็นก้อน เป็นชิ้นเป็นอันหรือตัวตนอะไร อย่างที่เราเคยหลงเข้าใจว่าเป็นกูทั้งดุ้น

ในขณะที่เสวยวิมุตินั้น หากการสร้างสมกำลังบารมีทางปัญญา มีมากพอ

การพิจารณาในวิถีจิตแห่งวิมุตติ ย่อมเข้าถึงปัญญาวิมุติได้โดยไม่ยาก

การเข้าถึงพร้อมกันเช่นนี้ ผู้เข้าถึงจะเกิด ปฏิสัมภิทาญาณ นั่นก็คือ เกิดทิพยจักษุญาณ รู้อดีต รู้อนาคต รู้ปัจจุบัน

ธรรมทั้งหลายที่เคยสร้างสมมา… จะผุดขึ้นมาจากภวังค์จิต โดยหนทางแห่งวิถีที่เสวยวิมุตินี่แหละ เป็นแต่เจ้าของวางตัวเป็นอุเบกขาเท่านั้น

เกิดภาวะแจ่มแจ้งในญาณทั้งสี่ เรียกว่าจตุสัมภิทาญาณ สำหรับผู้มีกำลังบารมีเต็มในขั้นปรมัติบารมี

เกิดปฏิภาณทางธรรม อธิบายธรรมอย่าแตกฉาน ย่อขยายธรรมได้อย่างพิศดาร และเข้าใจภาษาธรรม เมื่อยามผัสสะ

พระโมคลานะ ได้ปัญญาวิมุติและเจโตวิมุติ เป็นพระอรหันต์ประเภท สุกขวิปัสสโก

การที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ฉฬภิญโญ นั่นก็หมายความว่า…

พระอรหันต์ผู้นั้น ได้ทางฤทธ์มาก่อนแล้ว และได้พิจารณาเหตุจากฤทธิ์ ที่เกิด ทิพย์จักษุญาณก็ดี บุพเพนวาสาก็ดี จากอดีตก็ดี จากอนาคต ก็ดี จากการได้รู้ได้เห็นจากญาณวิถี ว่ามันเป็นเช่นนี้ๆๆๆ

เมื่อนำมาวินิจฉัย ตีธรรมทั้งหลายจากที่ตนรู้แจ้งมา เมื่อเข้าถึงภาวะ ปัญญาวิมุติ หรือเจโตวิมุตติ เช่นนี้ จึงจะเรียกได้ว่า…

เป็นพระอรหันต์ประเภท ฉฬภิญโญ หรือพระอรหันต์ผู้ทรงคุณทางด้านอภิญญา

ส่วน ประเภทที่ได้ ปฏิสัมภิทาญาณ

ปฏิสัมภิทาญาณ อาศัย สุกขวิปัสสโก เตวิชโช หรือ ฉฬภิญโญเกิด ไม่ใช่จู่ๆ จะมาเกิด เป็นพระอรหันต์ประเภท ปฏิสัมภิทาญาณ

พระสารีบุตร เป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสโก ที่ได้ปฏิสัมภิทาญาณ

พระโมคลานะ เป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสโก ที่ได้ปฏิสัมภิทาญาณ

พระพุทธองค์ เป็นพระอรหันต์เตวิชโช ที่ได้ปฏิสัมภิทาญาณ

นางอุบลวรรณา เป็นพระอรหันต์ ฉฬภิญโญ ที่ได้ปฏิสัมภิทาญาณ

ปฏิสัมภิทาญาณของแต่ละท่าน ย่อมมีกำลังญาณไม่เสมอกัน ตามกำลังสร้างสมบารมี

บางท่าน ทรงฤทธิ์อยู่แล้ว เมื่อเข้าถึงปัญญาวิมุติหรือเจโตวิมุติ โดยการพิจารณาธรรม หรือผัสสะธรรมแล้วเกิดเจโต

เช่นนี้ ก็เรียกว่า พระอรหันต์ สุกขวิปัสสโก ที่ทรงอภิญญา

ญาณวิถีแห่งพุทธนั้น คือ ปัญญาวิมุติ และ เจโตวิมุติ

ปัญญาวิมุติ เป็นปัญญาตั้งแต่ จุลภาค ไปถึงมหภาค คือรู้แจ้งทั้งสามโลก นี่ เรียกว่าเป็นวิถีแห่งปัญญา

เจโตวิมุติ เป็นญาณรู้ที่ผุดขึ้นมาตามเหตุปัจจัยจากเจตนาจิตตั้งแต่ จุลภาค จนถึงมหภาค คือรู้แจ้งไปทั้งสามโลก ได้เช่นเดียวกันกับปัญญา

นี่เรียกว่า เป็นวิถีแห่งเจโต

ผู้ที่เข้าถึงอย่างใดอย่างหนึ่ง ความสั่นสะเทือนแห่งจิต จะเกิดการหวั่นไหวไปทั่วโลกธาตุ

ความมหัศจรรย์ใจแห่งเจ้าของ จะเกิดปิติจิตอย่างที่เรียกว่า.. อุเบกขา

เป็นภาวะที่สะเทือนหวั่นไหวที่ไม่ได้อาศัยสุขหรือทุกข์เวทนา

เป็นแค่ผู้ดูและผู้รู้ว่า ทุกอย่างต่างมีหน้าที่ แต่วางอุเบกขาซึ่งกันและกัน

นี่คุยกันมา หนึ่งชั่วโมงแล้ว คืนนี้ต้องขอตัวเพียงแค่นี้

ขอสาธุคุณท่านทั้งหลาย ที่ได้มาฟังได้คุยกันเล่นๆ

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2558