เดิน ยืน นอน นั่ง ด้วยสติ

เดิน ยืน นอน นั่ง ด้วยสติ

411
0
แบ่งปัน

**** เดิน ยืน นอน นั่ง ด้วยสติ ****

ขอสาธุคุณยามเช้าสายๆ ให้มีแต่ความสุขความเจริญ

การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ อะไรนี่ มันเป็นเปลือกของปัญญา

แต่บางท่านที่ฝึกอริยาบทอย่างนี้แล้ว ต่างก็ยึดเปลือกเป็นของดี

การยึดเพื่อปฏิบัติธรรมช่วงแรกๆน่ะมันดี

แต่ถ้ายึดว่า ต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ นี่ผิดนี่ถูก นั่นใช่นู่นไม่ใช่ อะไรอย่างนี้

เช่นนี้เป็นอุปาทานที่ขวางมรรคผล

การเริ่มฝึกนั้น แรกๆก็ทำอย่างที่ใครๆเขาสอนเขาชี้กันนั่นแหละ

แต่ไม่ใช่ว่าเริ่มยังไง ที่เขาสอนเขาชี้แล้วนี่ จะต้องอยู่
สภาพนั้นตลอดเดือน ตลอดปี อย่างที่เข้าใจ

เมื่อเราเดินหรือนั่งจนเกิดความชำนาญแล้ว เรียกง่ายๆว่า ใจมันคลายจากตัวตน ที่เกิดจากตัวกู อันเป็นอัตตาการสร้างเหตุการปฏิบัติขึ้นมา

เมื่อกาลผ่านจนชำนาญ ต้านความดิ้นรนของอาการแห่งจิตที่ฟุ้งซ่านได้

การเดินหรือนั่ง ก็เป็นแค่การพักจิตที่พร้อมในการจะเจริญวิปัสสนาญานกัน

การเดินหรือนั่ง หรือยืน หรือนอน ต่างล้วนแล้วเป็นการปฏิบัติได้ตลอดเวลา

ท่าทางทั้งหลายที่กระทำ มันไม่ได้เกิดปัญญามรรคผลใดๆ

ส่วนใหญ่มันชอบโชว์ความเป็นอัตตาให้ใครอื่นชมกันซะมากกว่า

การเดิน ยืน นอน นั่ง นี่ มันเป็นเปลือกเพื่อเจริญสติ ไม่ใช่ การมากำหนดหนอ นั่ง 1 ชั่วโมง เดิน 1 ชั่วโมง นอน ยืน อย่างละชั่วโมงอะไรอย่างนั้น

การเจริญจิต ไม่ได้เจริญด้วยการเสมอกันด้วยเวลาของชั่วโมง แต่เป็นการเสมอกันด้วย สติ

นี่..สตินี่สำคัญ ในการเจริญปฏิบัติ ในอริยาบท ยืน เดิน นอน นั่ง

ในสี่อริยาบทนี้ ให้เสมอกันด้วย สติ เสมอกันด้วย สัมปชัญญะ จะใช้เวลาแค่ไหนก็ได้เท่าที่กายใจมันเริ่มอ่อนล้า หรือเปลี่ยนแปลงอริยาบทเมื่อโดน นิวรณ์ครอบงำจิต

ธรรมชาติของผู้ฝึกปฏิบัติ เมื่อโดนนิวรณ์ครอบงำจิต

ผู้มีปัญญา จะสลัดอาการแห่งนิวณ์นั้น โดยการเปลี่ยน อริยาบท เช่น จากนั่ง เป็นยืน จากยืนเป็นเดิน จากเดินเป็นนอน อะไรอย่างนี้

อะไรคือ นิวรณ์

นิวรณ์นี่ก็หมายความว่า อาการต่างๆที่กายและใจมันแสดงอาการต่างๆออกมา

เช่น ความอยาก ความหงุดหวิด เบื่อ เมื่อย ล้า ง่วง ฟุ้งซ่าน สงสัย อะไรอย่างนี้

เมื่อมีอาการเหล่านี้ครอบงำ จนสติอ่อนคุมไม่ได้ก็ให้เปลี่ยน อริยาบทเสีย

การนั่งสมาธิมากไปนี่ มันขี้เกียจ

นิวรณ์ก็เข้าครอบงำได้ ต้องเปลี่ยนเป็นเดิน

เดินมากไปนี่ เป็นวิริยะ สมาธิไม่เกิดอีก เพราะความอยากมากไป ต้องเปลี่ยนเป็นยืน นั่ง หรือนอน

ผู้มีปัญญาย่อมเท่าทันอาการแห่งจิตโดยมีสติ

สตินี้ เป็นเปลือกรักษาปัญญา

ปัญญาเป็นเนื้อเยื่ออันหวานหอมซ่อนอยู่ภายในที่เราเจริญธรรมไปเป็นลำดับ

ผู้มีกำลังย่อมแกะเปลือกอันประกอบด้วยสติ เพื่อแสวงหาปัญญาที่ซ่อนอยู่ภายใน ในอริยาบทสี่ หรือที่เรียกกันว่า สติปัฏฐานสี่

สติปัฏฐานสี่นี่ เป็นทางเอก เป็นทางยอดเยี่ยมที่จะดำเนินก้าวเข้าไปสู่ ประตูนิพพานได้

การเจริญสติในอริยาบททั้งสี่ คือการเพ่ง และคิด

การเพ่งและคิดนี่ เรียกว่า วิปัสสนา

วิปัสสนา เป็นอาการของการ ภาวนา

ภาวนา เป็นการปฏิบัติที่เกิดจากเจตนาเจ้าของ ในการที่จะปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในธรรมทั้งหลาย

พวกเราเองก็ฝึกๆไว้ หัดฝืนใจตนเอง เพื่อดัดกิเลสที่มันขี้เกียจกันซะบ้าง

กิเลสนี่ มันต้องทวนใจ ไหลไปตามใจเมื่อไหร่ ใจก็จมหายไปตามกระแสแห่งกิเลส

เช้านี้ขอสาธุคุณ

วันทีี่ 24 กันยายน 2558