ธรรมแห่งกงล้อวัฏฏะ

ธรรมแห่งกงล้อวัฏฏะ

1024
0
แบ่งปัน

ขอสาธุคุณเช้าวันเสาร์ให้มีแต่ความสุขความเจริญ

คนเราเกิดมาบนโลกนี้ ช่างมากมายมหาศาล

ที่ที่เดินตามๆกันมานี่ มันช่างเล็กน้อย

กลุ่มที่เดินตามๆกันมาที่เคยมีสัญญาต่อกัน

บางคนชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้าง นี่เป็นเรื่องของวิบากแต่ละคน มันมาให้ผล เป็นแต่ใจเจ้าของที่จะเลือกเดิน ว่าจะเดินไปในหนทางไหน

บางคนไม่ชอบใจก็เฝ้าแต่เพ่งโทษ นี่…ก็เพราะเคยมี สัญญากันต่อกัน แต่ดำเนินมาในทางไม่ชอบใจ

บางคนชอบใจคุยอะไรก็ชอบใจไปซะหมด นี่…ก็เพราะเคยมีสัญญาต่อกันและดำเนินมาในทางที่ชอบใจ

บ้างก็ชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้างอยู่กลางๆไม่อยู่ห่างหรือชิดใกล้ นี่..ล้วนเป็นวิบากแห่งบุพเพนิวาสามาให้ผลร่วมกันทั้งสิ้น

เมื่อได้พบได้เจอได้รับสารได้สื่อข่าวถึงกันและกัน นั่น..ย่อมเป็นสัญญาระหว่างกัน

บ้างก็เป็นศัตรูกัน พี่กัน น้องกัน คนใกล้ชิดกัน ญาติกัน มันจึงจะมีความสัมพันธ์กันได้

ทั้งหลายที่ผัสสะมันอยู่ที่เราเลือกทาง กรรมเราต้องเผชิญ แต่ใช่ว่ากรรมจะมาใหญ่เกินเราดั่งที่คนเขาขู่กัน

กรรมทุกคนต้องเผชิญ นี่…เป็นธรรมดา

แต่เราเลือกได้ที่จะเป็นผู้ก่อ หรือผู้ดับกรรมนั้นด้วยตัวเรา ไม่ใช่แล้วแต่เวรแล้วแต่กรรมที่เราต้องเผชิญ..

กรรมทั้งหลาย…อาศัยตัณหา ตัณหา…อาศัยอวิชชา

ในนามรูปหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงเข้าถึงความเป็น อริยสัจ พระพุทธองค์ได้ทรงมาวินิจฉัยอิทัปปัจจยตา ว่าเพราะอะไรหนอ สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

รูปอาศัยอะไรหนอ แสงสว่างแห่งจักษุ คือ ปัญญารู้แจ้ง ว่าเป็นอาหาร

อาหารนี่อาศัยอะไรหนอ จึงเป็นที่อาศัยของรูป

แสงสว่างแห่งจักษุ คือ ปัญญารู้แจ้งแทงลงไปว่า กรรม

กรรม อาศัยอะไรหนอที่เป็นเหตุให้เกิดอาหารมาเป็นผลแห่งรูปได้

แสงสว่างแห่งจักษุ คือ ปัญญารู้แจ้งแทงลงไปว่า ตัณหาที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จบจากใจดวงนี้

ตัณหาอาศัยอะไรหนอ ที่เป็นเหตุให้เกิดการกระทำ คือ กรรมที่เป็นอาหารต่อรูป ให้รูปยังคงเวียนวนอยู่ในวัฏฏะนี้ได้

แสงสว่างแห่งจักษุ คือ ปัญญาแทงลงไปรู้แจ้งว่า อวิชชา

อวิชชา อาศัยอะไรหนอ จึงเป็นเหตุให้เกิดตัณหาสร้างกรรมขึ้นมา เพื่อเป็นอาหารให้แก่รูปวนเวียนอยู่ในวัฏฏะ

แสงสว่างแห่งจักษุ คือ ปัญญาแจ้งแทงลงไปว่า รูป..!!

นี่…เป็นการวินิจฉัยเป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตา ที่เวียนวนกลับมาอีกกาลหนึ่งที่ครบรอบเรียกวงล้อแห่งวัฏฏะนี้ว่า ปฏิจจสมุปบาท

นี่..ผู้วินิจฉัย ธรรมมันจะวินิจฉัยตามร่องตามแนวมาเป็นเช่นนี้

วินิจฉัยด้วยองค์สัมมาแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เกิดปัญญาญาณที่แจ้งไปโดยลำดับ โดยไม่เกิดจากสัญญาจำที่เป็นสัญญาคงรูปแสดงเหตุไม่ได้

การวินิจฉัยธรรมสำหรับผู้มีปัญญาย่อมละเอียดแผ่กว้าง ลึกและเข้าใจ เป็นปัจจัตตัง กินลามไปในเนื้อธรรมอยู่ในที เช่น อาหารนี่ความหมายกว้าง

อาหาร คือ สัญญา

อาหาร คือ เจตนา

อาหาร คือ ผัสสะ

อาหาร คือ สรรพสิ่งที่ผ่านช่องทางแห่งอายตนะ

นี่…เรียกว่าอาหาร อาหารนี้มันกว้างสำหรับผู้ฟัง แต่มันแคบและเข้าใจแก่ผู้วินิจฉัยธรรมที่กำลังผัสสะ…

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ต่างก็อาศัยการวินิจฉัย แยกออกเป็นรายละเอียด แทรกซึมขยายความแตกออกมา ตามปัญญาที่สอดส่องเจริญเป็นธรรมจักรเข้าไป

หมุนฟาดฟันเครื่องอันบดบังปัญญา คือ ความสงสัย ให้แตกกระจาย

ผู้เกิดปัญญารู้แจ้ง ใช่ว่าการเกิดปัญญาแล้ว มันจะแจ้งไปซะทุกอย่างโดยไม่ต้องกลับมาพิจารณา ไม่ใช่อย่างนั้น

ผู้เกิดปัญญานำความรู้แจ้งที่เกิดเป็นญาณนั้นนั่นแหละ แทงธรรมลงไป

เรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ สอดส่องลงไปตามวิถีธรรมในกฎแห่งอิทัปปัจจยตา

อาศัยเจริญปัญญาสาวผลที่ประจักษ์ลงไปหาเหตุ ความแจ้งแห่งปัญญาจักษุ มันจึงจะเกิดให้ประจักษ์

ไอ้พวกเรานี่ มันเอาผลที่เขาประจักษ์ ที่ว่ากันพอเป็นแนวแห่งสมมุตติอัตตามาเป็นเรา

เราประจักษ์ด้วยตำราที่เขาเขียนมา

ตำราที่เขาเขียนมา ถ้าผู้ประจักษ์เขียนขึ้นมา นี่…ยังพอเข้าใจ

แต่ถ้าเป็นผู้แปลเขามา แล้วเขียนใส่ลงไปว่านี่ เขาว่ามา

ความบิดเบือนและผิดพลาดร่องธรรมย่อมเกิดเป็นธรรมดา

เหล่าพวกยึดตำราย่อมไม่สำเหนียกในธรรมข้อนี้ที่ตนยึดกัน

คนมากันเยอะแล้วว่ะ..

วันนี้วันเสาร์ เราค่อยมาว่ากันถึงเรื่องแนวธรรมกันใหม่

อาจจะเข้าใจยากและน่าเบื่อหน่ายสำหรับคนที่มีภาชนะ

รองรับน้อย แต่จะเป็นอาหารจานอร่อยแก่ผู้หิวโหยที่จะ

ออกจากทุกข์

เช้านี้ขอสวัสดี…

ณ วันที่ 5 กันยายน 2558 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง