มุมมองอันหลากหลายเกี่ยวกับนิพพาน

มุมมองอันหลากหลายเกี่ยวกับนิพพาน

873
0
แบ่งปัน

ลูกศิษย์ >>> กราบพระอาจารย์ค่ะ กราบเรียนถามว่า นิพพานไม่มี แล้วการที่ปฏิบัติแล้วไม่ต้องกลับมาเกิดอีก จะเรียกว่าอะไรเจ้าค่ะ กราบสาธุค่ะ


พระอาจารย์ >>> เรียกว่าการสิ้นสุดแห่งการเวียนวนที่ต้องมาเกิดกำเนิดอีกในวัฏฏะ จิระนันท์

นิพพานเป็นชื่อเรียก มันก็เหมือนชื่อเรียกว่า จิระนันท์

จิระนันท์ อยู่ตรงไหน อยู่ที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังหรือ

หรืออยู่ที่ เอ็น เนื้อ กระดูก เยื่อในกระดูก

หรือภายใน ที่เป็นม้าม หัวใจ ผังผืด ตับ ไต ปอด

จิระนันท์ อยู่ตรงไหน แต่ทั้งหลายที่รวมๆกันนั่นแหละ เรียกว่า จิระนันท์ นี่..พูดถึงคนที่เป็นจิระนันท์

แสดงว่า จิระนันท์จริงๆแล้วนี้ ไม่มี ที่มีเป็นเพราะสิ่งเหล่านี้ มาประกอบรวมกัน ความเป็นจิระนันท์ถึงได้มี

นิพพานก็เหมือนกัน มันเป็นอาการแทนความหมายแห่งความดับ ความเย็น ความสงบ แต่ในความหมายแห่งพุทธะคือ ความหมดจรดแห่งกิเลสที่จะเป็นเสบียงมาเวียนวน ในวัฏฏะอีก

พุทธศาสนาโดนเนื้อแท้ ท่านก็ไม่ได้ชี้สอนให้คน กลับมาเกิดหรือให้กลับมาเกิดเพื่อมุ่งไปสู่ทุกข์

พุทธะชี้สอนให้เข้าใจตามเหตุและปัจจัย ว่าสรรพสิ่งทั้งหลาย มันอาศัยกันมาสืบเนื่องกันเช่นนี้

การเกิดไม่เกิดมันเป็นธรรมชาติแห่งวิบากที่เป็นเหตุปัจจัย

มันไม่ได้เกิดจากเจ้าของที่มีความต้องการ จะเกิดหรือไม่เกิด

เราเข้าใจวิถีพุทธไม่ถูกเอง เราจึงพยายามปฏิบัติเพื่อความเป็นเจ้าของ ในสิ่งที่เราผัสสะ
เหมือนๆกับสิ่งของและวัตถุอื่นๆ

คือความเป็นเจ้าของที่ต้องเข้าไปเสือกและแสดงตน ในทุกๆเรื่อง แม้จะเป็นเรื่องของการกลับมาเกิดหรือไม่กลับมาเกิด

เอานิพพานมาเป็นเมืองหลวง บ้านนอกอย่างเราก็เลยพากันอยากไปเมืองหลวงกัน มันก็แค่นั้นเอง มันเลยมีตัวตนเพื่อสร้างสมไปเมืองหลวงกัน นั่นก็คือนิพพาน


ลูกศิษย์ >>> หนทางในการบรรลุธรรมมีอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือ ‘การตระหนักรู้’ ธรรมชาติที่แท้อันเป็น ‘พุทธะ’ ภายในตนการปฏิบัติธรรมถือศีลทำสมาธิทำบุญทำทานสวดมนต์เหล่านี้เป็นอย่างมากได้ก็แค่การเตรียมตัวเตรียมพร้อมเพื่อ “บรรลุธรรม” เท่านั้น


พระอาจารย์>>> ทางไปน่ะมันมีหลายทาง นาวิน

แต่ทุกทางมันไปบรรจบลงในที่เดียวกัน นั่นคือนิพพาน

ต้องกล่าวอย่างนี้ จึงจะเข้าทางร่องธรรม

เพราะแต่ละคน สร้างเหตุปัจจัยมาไม่เหมือนกัน ใช้เวลาไม่เหมือนกัน เส้นทางแห่งวิบาก ย่อมไม่เหมือนกัน

พระพุทธองค์เจ้า ยัง แบ่งเป็น ปัญญาธิกะ ศรัทธาธิกะ และวิริยะธิกะ เลย

พระอรหันต์ก็แบ่งแตกแยกย่อย ไป สุขวิปัสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ และ ปฏิสัมภิทาญาน อะไรอีกเยอะแยะ

แต่ทั้งหลายไม่ว่าเริ่มต้นจากตรงไหน ต่างมุ่งลงตรงไป ในความเข้าถึงความเป็นตถาตาด้วยกันทั้งนั้น

ลัทธิทั้งหลาย มันเป็นแค่ความเชื่อ เพียงแต่ความเชื่อทั้งหลาย
ย่อมมีเหตุและผลมารองรับ มันจึงจะเป็นธารธรรมแห่งสัจจธรรม

เอาแค่ผล เอาแค่คิด เอาแค่ตรึกตรองกัน เพราะความเห็นแห่งตัวตน นี่มันเป็นทิฏฐิตัวกูทั้งนั้น ไม่ได้ว่ากันตามธรรมที่มันเป็นธรรมดา ของมันเช่นนั้นเอง..


ลูกศิษย์ >>> เหตุแห่งวิมุตติมีห้าทางคือ ฟังธรรม แสดงธรรม สาธยายธรรม คิดนึกธรรม ภาวนา

แต่ทางที่เข้าถึงได้จริงคือทางแห่งพุทธะเท่านั้น

อะไรคือทางแห่งพุทธะคือ อริยะมรรคมีองค์แปดนั่นเองที่เราจะต้องไต่ไปเรื่อยๆ โดยไม่พักและไม่เพียร


พระอาจารย์>>> ธรรมและคำจำกัดความที่จำๆมา มันเป็นแค่หวานความรู้ มันไม่ใช่เป็นผู้รู้ความหวาน นาวิน

เราจะไปบอกว่าเท่านั้น แค่นี้ ไม่ได้หรอก นี่..เรามันว่าเอา เรียกว่า ว่าไปตามโลกและว่าไปตามใจตนเอง

ไม่ได้ว่าไปตามธรรม คำว่าธรรมนี่ มันก็ไม่ได้ว่ากันตามตัวบทหนังสือกันซะทุกเรื่องซะด้วย

บางคนฟังธรรมแค่ครั้งเดียว ไม่กี่ประโยค ก็เข้าถึงธรรม ทั้งๆที่ไม่เคยปฏิบัติในครรลอง แห่งมรรคแห่งผลของอะไร

บางคนชั่วมาตลอด ฟังธรรมครั้งเดียว ก็เข้าถึงมรรคผล

บางคนเรียนแทบตาย จำได้ทุกอย่าง ก็ลงนรกไปเลยก็มี

ธรรมนี้ มันเป็นปัจจัตตังของแต่ละคน ที่มีความเข้าถึง มันไม่แน่นอนว่า ใครจะเข้าใจและเข้าถึงกันได้ตอนไหนเมื่อไหร่ มันอาศัยเหตุปัจจัยเป็นองค์ประกอบ

และคำว่า มรรคแปดนี้ มันคือใจที่ดำเนินไปตามทางแห่งกุศล ไม่ใช่แปดทางหรือแปดอย่าง ตามที่คนทั้งหลายเขาเข้าใจกัน

ธรรมะนี่เป็นเรื่องของความเข้าใจในสรรพสิ่ง ว่ามันเป็นของมันเช่นนี้

ส่วนจะเป็นความเชื่อ หรือแนวความคิดแห่งศาสนาไหน มันก็คือองค์ประกอบส่วนหนึ่งของธรรม ที่ผู้มีปัญญา เข้าไปรู้เห็นทั้งนั้น

ทุกศาสนาชี้นำและสอนให้ทุกคนเป็นคนดี

และทุกศาสนา ต่างมีกวีและโวหาร ที่แสดงผล เพียงแต่ผลทั้งหลาย มันไม่ค่อยได้ชี้ไปที่เหตุ

ปัญหาของเหล่าลัทธิคือชี้ที่ผล แต่ไม่ชี้เหตุ

คำว่าเหตุนี้ ก็คือผลของเหตุ ที่เป็นผลและเป็นเหตุ อยู่ในตัว นี่..ทุกลัทธิเข้าไม่ถึง

แต่วิถีพุทธนี้ หากเดินมาตามแนวทาง เอาชีวิตเข้าไปแลก กล้าที่จะเผชิญ มีสติ ศีล สมาธิและปัญญา

เหตุทั้งหลาย ย่อมรู้แจ้งและแทงตลอดสาย ไม่ใช่แค่คิดนึกเอา ด้วยเหตุและผลอย่างตื้นๆ

พุทธในวิถีแห่งปัญญา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำรา หรือในหนังสือ แล้วคิดตามเอา

มันประกอบด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญ สิ่งที่เรารู้ เรารู้มาจากการจำและอ่าน สิ่งที่เป็นผลจึงอยู่ได้แค่ ศีลธรรมและจริยธรรม

มันก้าวขึ้นไปในขั้นธรรมแห่งความหลุดพ้นไป ไม่ได้เลย

เพราะมันมีแค่ความรู้ ไม่ใช่ความจริง ว่ากันไปตามภาษาและอักษรสมมุติ นั่นดีนี่เลว

ถูกใจก็ใช่ก็ชอบ ไม่ถูกใจ ก็ไม่ใช่และไม่ชอบ มันเป็นธรรมแห่งกิเลส ที่ยึดมั่นกัน

เอาแต่หัวข้อธรรมที่จดจำมายกอ้างกัน แต่ความเข้าใจในอักษรและความหมายแห่งคำ ดันไม่มีคนรู้จักกันแท้จริงเลย…