วิถีเซน ตอนสอง

วิถีเซน ตอนสอง

514
0
แบ่งปัน

ขอสาธุคุณให้มีแต่ความสุขความเจริญ

วันนี้ได้กล่าวถึง…เรื่องวิถีเซน

คำว่าเซนนี้ เซน  เป็นนิกายในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน นี่เป็นข้อมูลที่เขาว่ากันมา เราว่ากันตามๆกันมาก่อน เดี๋ยวข้าจะขยายตามแบบวิถีป่าๆให้ฟังในคอมเม้นท์

เซนนี้นับถือกันอย่างแพร่หลายในแถบเอเชียตะวันออก (จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี)

คำว่า เซน เป็นชื่อภาษาญี่ปุ่นของคำว่า ฉาน (จีน: ?,Ch?n แต้จิ๋วออกเสียงว่า เซี้ยง)

ในภาษาจีน ก็ให้รากศัพท์ ที่มาจากคำว่า ธฺยาน แปลออกมาจาก อินเดีย ในภาษาสันสกฤตอีกทอดหนึ่ง (ตรงกับคำว่า ฌาน ในภาษาบาลี)

ซึ่งหมายถึง การเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ มีจิตที่สงบและประณีต อยู่อย่างมีสติ และปัญญา เรียกว่าอยู่อย่างธรรมชาติวิถี

นี่เป็นเรื่องของการตั้งมั่นในวิถีพุทธ หากจะบอกว่า เป็นของศาสนาเชน หรือเจน อย่างที่เข้าใจเผินๆ มันก็คงไม่ตรง

แต่วิถีของ เชนและเจน เขาก็ดำเนินมาเช่นนี้เหมือนกัน คือความตั้งมั่นแน่วแน่ ว่างจากสรรพสิ่งและตัวตน ศาสนาชนหรือเจน ของท่านมหาวีระนี่ เมื่อสาวลึกลงไปนี่ มันมีข้อปลีกย่อย ที่แตกต่างไปจากเซน

ศาสนาเซน จึงไม่น่าจะเกิดกำเนิดมาโดยตรงจาก ศาสนาเชนหรือเจน ของท่านมหาวีระ

“เซน” มีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดีย พัฒนาที่ประเทศจีน

ก่อนที่จะถูกเผยแพร่มาสู่เกาหลีและเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น

โดยได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋า

ในช่วงระหว่างที่เผยแผ่มาสู่ญี่ปุ่น การฝึกตนของนิกายเซน เน้นที่การนั่งสมาธิเพื่อการรู้แจ้ง

ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 เซนยังได้เป็นปรัชญาในการดำรงชีวิต และรู้จักกันทั่วโลก โดยแสดงถึงแนวทางการใช้ชีวิต การทำงาน และศิลปะ ในภาวะสติที่อิงแบบธรรมชาติ

เซนยึดถือหลักปฏิบัติธรรมตามหลักของพระพุทธเจ้า ตามหลักของการฝึกสติ อริยสัจ 4 และมรรค 8

เซน ได้รับการยอมรับจากบุคคล ที่ไม่ใช่พุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลนอกทวีปเอเชีย ที่สนใจในเซน สามารถศึกษาและปฏิบัติธรรมได้

และได้เกิดนิกายสายย่อยออกมาที่เรียกว่าคริสเตียนเซน

วัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น ที่ชาวต่างชาติรู้จักกันดี ได้แฝงเอาพุทธปรัชญา แบบเซนไว้อย่างแนบแน่น

เช่น พิธีชงชา อิเคบานะ (การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น) วิถีซามุไร คิวโด(การยิงธนูแบบญี่ปุ่น) แม้แต่แนวทางการเล่นโกะหรือหมากล้อมแบบญี่ปุ่น นี่ก็เป็นแนวทางแห่งวิถีอย่างเซน

เซน ที่น้องๆ นำมาถามว่า พวกเขาปฏิบัติตามวิถีเซนนี้ เขาจะเข้าถึงนิพพานไหม

คำว่านิพพานนี้ สำหรับฝ่ายมหายาน มันคนละเรื่องกับทางพุทธแบบเถรวาทอย่างเราๆ

การตั้งมั่นด้วยเหตุแห่งสติปัญญาและวิถีแนวคิด อย่างเซน มันเป็นวิหารธรรมหรือเครื่องอยู่อย่างผู้ที่ตีอวิชชาแตกแล้ว

พูดง่ายๆ ว่า บรรลุมรรคผลแล้ว จึงได้นำเอาหลักธรรมนี้มาเป็นเครื่องอยู่

เซนนี่ แปลออกมาแล้วก็คือ “ฌาน”

ฌานนี้ก็คือ ความเคยชินที่ใจดวงนี้ เป็นปกติ

เรียกว่า…เป็นใจที่มีศีล สมาธิ ปัญญาเป็นปกติ เรียกว่าฌานหรือเซน

แต่วิถีเซน ที่เผยแผ่ออกไป และนำเอาวิถีความเป็นอยู่อย่างพระอริยเจ้า มาเป็นเครื่องอยู่ มันกลายเป็นอัตตาและตัวตน

ความเป็นอัตตาและตัวตนนี้ เข้าสู่วิถีแห่งความหลุดพ้นไม่ได้

แม้แต่พุทธอย่างไทยๆ เราเอง ก็นำวิถีวิหารธรรมของพระอริยเจ้าเป็นเครื่องอยู่

การเข้าถึงมรรคผล และความมีปัญญาอย่างแนวพุทธ จึงเป็นแนวทางวิถีที่เป็นอัตตาและตัวตน ที่ไม่ได้แตกต่างไปจากเซน

เพียงแต่ทางฝ่ายพุทธเรา เป็นแบบเถรวาท ที่อิงธรรมทั้ง พระธรรมวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม เป็นเครื่องดำเนินจิต

ตามคติของนิกายเซน ถือว่าธรรมเนียมของนิกายนี้ ได้รับการสืบทอดจากพระศากยมุนีพุทธเจ้า ผ่านทางพระอริยสงฆ์สาวกในสายของพระมหากัสสปะ

โดยได้รับการถ่ายทอดธรรมะด้วยวิถีแห่ง “จิตสู่จิต” และรับมอบบาตร จีวร สังฆาฏิ ของพระพุทธเจ้าเป็นสัญลักษณ์สำคัญของตำแหน่ง จนมาถึงพระโพธิธรรม

ซึ่งเป็นผู้นำนิกายเซนจากอินเดียมาสู่จีน มีจำนวนทั้งสิ้น 28 องค์

พระโพธิธรรมนี่ น่าจะเป็นพระปรมาจารย์ตั๊กม้อ ที่หนีภัยมาจากการรุกรานเข่นฆ่าล้างผลาญ การล้มล้างพุทธศาสนาในยุคโบราณโน้น

เดี๋ยวว่างแล้วจะคุยถึงจุดกำเนิดที่แท้จริงของการนิกายเซนแห่งพุทธศาสนานี้อีกที

พระธรรมเทศนาจากบทธรรม เรื่อง ” วิถีเซน ” ณ วันที่ 13 เมษายน 2558 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง