ธรรมแห่ง…อนัตตา

ธรรมแห่ง…อนัตตา

676
0
แบ่งปัน

หวัดดี ทุกคน ขอสาธุโมทนาบุญทุกบุญให้ทุกคนมีความสุข เป็นไง เหล่าท่านสาธุชน ผู้คนมีอันจะกินทั้งหลาย มีธรรมอยู่บทหนึ่ง ที่มันค้างๆ อยู่ วันนี้ว่าจะแฉ่งออกไปซักหน่อย จริงๆ แล้วมันมีธรรมแห่งความว่าง ที่ข้าได้กล่าวมาในคราวก่อนโน้น 

คราวนี้ การโม้ธรรมทางเฟสนี้ โม้ยาวๆ มันก็น่าเบื่อ คนบางคนมันก็ไม่ชอบฟัง แต่บางคนนี้ ก็ชอบฟัง มันไม่เสมอกัน ข้าเองก็ไม่ได้หวังผลอะไร เป็นแค่การชวนคุยกันหนุกๆ เท่านั้น

ธรรมจากการอ่าน มันเป็นตัวตน มักตีความเข้าข้างทิฏฐิตนเอง มันเข้าใจให้แจ่มแจ้ง ไม่ได้หรอก

คราวนี้ ธรรมบทนั้น ก็ไม่มีใครจะถามให้ลึกลงไป อ่านแล้วก็ผ่านเลย เหมือนพวกเราอย่างนี้ หาธรรมมาจรรโลงใจให้แน่นอนไม่ได้ มันฟังแค่ผ่านๆ เกาะเกี่ยวนำมาใช้ได้น้อย ผลแห่งอารมณ์ทั้งหลาย มันแสดงอยู่

สิ่งที่ข้าได้พูดและยกตัวอย่างความว่าง ในวิถีพุทธ คือความว่างจากสิ่งที่มี การมีนั้น โลกย่อมมองว่า ไม่ว่าง การว่างในสิ่งที่มีจึงเป็นการการยากมาก ในการที่จะเข้าใจ

ที่เข้าใจมันก็เข้าใจอย่างเปลือกๆ นี่..คือปัญหา เป็นกำแพงก่อล้อมตัวเอง เพราะยึดในสิ่งที่เห็นเป็นเหตุ และตัดสินในสิ่งที่เห็น

ในพุทธศาสนา ชี้เรื่อง อัตตา และอนัตตา มาในธรรมบทที่สอง ที่กล่าวชี้ ปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ให้เข้าถึงความเป็นอรหันต์ผล ท่านชี้อย่างไร ท่านจึงได้เข้าใจและเป็นอรหันต์กัน

ทำไมเราอ่านตามฟังตาม เราจึงไม่บรรลุตามท่านไปด้วย ข้าจึงจะมาว่าถึงความหมายแห่งคำ อนัตตา

แต่วันนี้ ข้าไม่ค่อยสบายเท่าๆ ไหร่ ลุกนั่งไม่ค่อยคล่อง อากาศมันเปลี่ยน เหมือนจะเป็นไข้ จึงขอเป๊กไว้ก่อน วันหน้าค่อยคุยกัน วันนี้อยากอ่านข้อความและธรรมเฉยๆ คืนนี้จึงต้องขอสวัสดีแค่นี


ข้าขอต่อเช้านี้เลย เพื่อวันนี้ตายไป จะไม่ได้อธิบายธรรมอะไรได้ เดี๋ยวมันค้างใจกันไปอีก

คำว่า อนัตตา ที่เราเข้าใจกัน มันเป็นความเข้าใจ อย่างพวกพราหมณ์เขาเข้าใจ ไม่ได้เข้าใจอย่างพุทธ

และมักจะเอาคำว่า อัตตา มาใช้อย่างพร่ำเพื่อ โดยมากมักจะอ้างและถกเถียงกัน ว่า อย่างนั้นเป็นอัตตา อย่างนี้เป็นอัตตา ไม่ควรทำ

นี่..พวกนักรู้ธรรมทั้งหลาย มักฟาดฟันและเพ่งทิฏฐิมองเห็นกันอย่างนี้ นี่..พวกไม่เข้าใจ

ส่วนอีกพวกหนึ่ง ก็จะเล็งโต่งออกไปอีกว่า ทุกอย่างเป็นอนัตตาของมันอยู่แล้ว ว่างอยู่แล้ว บังคับบัญชาอะไรไม่ได้อยู่แล้ว และมักจะแสดงตนเป็นผู้รู้ ความเป็นอนัตตา ด้วยอัตตาตัวตน ที่ตนเองก็ไม่รู้ตัว ไม่รู้ความเป็นจริงแห่งอนัตตา เรียกว่า รู้อย่างลัทธิพราหมณ์ ซึางพวกเขารู้กันมา กว่า 6,000 ปีแล้ว

พุทธศาสนาเป็นเพียงศาสนาเดียว ที่เห็นและเข้าถึงความเป็นอนัตตา ผู้ที่ปฏิบัติและเข้าถึง ย่อมอธิบายความเป็นอนัตตาได้ทั้งนั้น หากเป็นผู้มี ปฏิภาณ

ไม่ใช่อนัตตาอย่างตำราบอก หรือจำๆเขามาพูด แต่เจ้าของไม่รู้จักอะไรเลย ว่าอะไรคืออนัตตา พูดอนัตตากัน ด้วยความไม่เข้าใจและโง่หลา

อนัตตาในวิถีพุทธ ก็คือ ความรู้แจ้งในความมีอัตตา อนัตตาอาศัยอัตตาเกิด ฉะนั้น ที่ชอบพูดกันว่า นั้นเป็นอัตตา นี่เป็นอัตตา เป็นคำกล่าวที่เพ่งโทษและไม่ถูก

เพราะอัตตาและอนัตตา มันคือตัวเดียวกัน เพียงแต่ อนัตตาเป็นเงาซ้อนทับความเป็นจริงแห่งอัตตา เพียงแต่คนทั้งหลาย ไม่มีปัญญาเข้าไปมองเห็น

พวกชอบที่พูด ก็พูดอย่างคนมองไม่เห็นอนัตตา เอาความหมายแห่งทิฏฐิ ไปแทนคำว่า อัตตา คำกล่าวว่า และเพ่งโทษว่าเป็นอัตตา คำว่าอัตตาตัวนี้ ความหมายมันคือ ทิฏฐิ เหตุเพราะทิฏฐิมันเป็นอาการหนึ่งที่แสดงออกมา ของความเป็นอัตตา

นั่น..เรามองไปเบื้องหน้าซิ อย่างข้านี้ มองเห็นต้นไม้ ต้นไม้นั้น คืออัตตา เพราะมันมีต้นไม้เราเห็นอยู่ แล้วอนัตตามันอยู่ตรงไหน

บ้างก็จะกล่าวว่า มันไม่เที่ยงไง มันเป็นทุกข์ มีความเสื่อมสลาย บังคับบัญชาไม่ได้ นี่..เอาไตรลักษณ์มา เป็นตัวอนัตตาซะนี่

ต้นไม้นั้น ที่มองเห็นอยู่ นั่นคืออัตตา ถึงบังคับบัญชาไม่ได้ ก็เป็นอัตตา ไม่ใช่อนัตตา

ต้นไม้ที่ตั้งอยู่ ผู้ที่มองเห็นอนัตตาก็คือ ต้นไม้มันไม่มี ทั้งๆที่มีต้นไม้ มันตั้งอยู่เบื้องหน้า

ตรงนี้ เหล่าพราหมณ์เขามองไม่เห็น เขามองไม่เห็น สิ่งที่ไม่เห็นในสิ่งที่มี เป็นธรรมดาของโลก ที่ต่างก็มองเห็นต้นไม้ ไม่มีใครมองไม่เห็นต้นไม้ หากต้นไม้นั้นตั้งอยู่ให้เห็น

นี่..ตรงนี้ พุทธศาสนาเข้าถึงความจริงว่า สิ่งที่เห็น และเป็นอัตตาตัวตนอยู่นั้น มันไม่มี มันว่างเปล่าจากต้นไม้ ต้นไม้ที่เห็นนั้น ไม่มี ที่มีเป็นแต่เพียง สมมุติ คำว่าสมมุติก็คือ การแทนความหมายในสิ่งที่ไม่มีจริง ให้เป็นจริงขึ้นมา และตั้งชื่อเรียกว่า ต้นไม้

พูดเช่นนี้ เราก็ไม่เข้าใจอีกนั่นแหละ ก็ต้องถามต่ออีก ว่า..ต้นไม้ที่เห็น มันอยู่ตรงไหน

เปลือก เป็นต้นไม้หรือ

กระพี้ เป็นต้นไม้หรือ

แก่น เป็นต้นไม้หรือ

หรือใบ กิ่ง ดอก ผล ยอดอ่อน เป็นต้นไม้

เราจะทราบได้ว่า นั่นไม่ใช่ต้นไม้ แต่ทั้งหลายมันเป็นปัจจัยประกอบกัน ให้เรียกว่า ต้นไม้

ฉะนั้น ต้นไม้จริงๆนั้น ไม่มี ที่มีเกิดจากองค์ประกอบจากเหตุปัจจัยทั้งหลาย มารวมกัน เราจึงให้คำสมมุตินิยามว่า นี่คือต้นไม้

คำว่าต้นไม้นี้ มันเป็นสมมุติอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นอัตตาในการให้มี โดยความจริงแล้ว มันไม่มี ที่มีเป็นสมมุติเรียกให้มันมี นี่..เรียกว่าอัตตา เป็นตัวแทนของ อนัตตา ที่มันไม่มี เพื่อสร้างสมมุติให้เข้าใจ ว่ามันมี

คำว่ามีนี้ เป็นอัตตา เป็นตัวแทนความเป็นอนัตตา คือไม่มี อะไรที่ไม่มีเมื่อทราบตรงตามความเป็นจริง มันก็ว่างเปล่าจากความหมายทั้งปวง เรียกว่า ความเป็น สูญญตา สรรพสิ่งมันว่างเปล่าจากความหมาย มันเป็นสูญญตา เพียงแต่เราเข้าถึงและเห็นมันไหม

เมื่อรู้ชัดตรงตามความเป็นจริง ว่า ต้นไม้มันไม่มี ที่มี เกิดจากเหตุปัจจัยมาประกอบกัน ทำให้ในมี

เราก็เอาเหตุปัจจัยที่มันมี มาวินิจฉัยต่อ ว่ามันมีจริงๆหรือ เพราะหากไม่มีเหตุปัจจัย ต้นไม้ก็ย่อมไม่มี เราก็ต้องสาวลึกลงไปถึงเหตุปัจจัยที่มันมี เพราะเหตุมี ต้นไม้มันจึงมี แล้วเหตุนี้มันมีจริงๆหรือ..

เอาเหตุที่มีมาซักอย่าง เช่นใบมันมีจริงๆหรือ ใบมันอยู่ตรงไหน ริ้วก้านนั่นใบหรือ ยางนั่นเป็นใบหรือ ขนเล็กๆเป็นใบหรือ สีเขียวๆเหล่านั้นเป็นใบหรื

เราก็จะเห็นชัดลงไปอีกว่า แม้ใบมันก็ไม่มี ที่มีมันเป็นอัตตา ที่อาศัยเหตุปัจจัยที่แยกย่อย ประกอบกันขึ้นมา เรียกสมมุติแห่งอาการเช่นนี้ว่า ใบไม้

แสดงว่า ใบไม้ก็เป็นอัตตา แทนตัวตนสมมุติขึ้นมาจากเหตุปัจจัย ใบไม้ทั้งหลายจริงๆก็ไม่มี ที่มีเป็นสมมุติ แห่งความไม่มี ความไม่มีนี้คืออนัตตา ที่สร้างสมมุติแห่งอัตตาขึ้นมาเพื่อให้มี

หากสาวลึกลงไปถึงเหตุที่ประกอบกันเป็นใบไม้อีก มันก็จะเจอแต่อัตตา ๆๆๆๆๆ แทนความเป็นอนัตตา จนที่สุดลึกลงไปจะพบว่า แท้จริงแล้ว มันไม่มีอะไรเลย สรรพสิ่งทั้งหลาย ที่มี มันเป็นเพียงสูญญตา ที่ไร้ความหมายที่จะไปบังคับบัญชาอะไรได้

เราไปให้ความหมายและบังคับบัญชาในสิ่งที่ไม่มี ให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้ นี่..คนโง่เขากระทำกัน และเพราะความโง่อันชาญฉลาดนี้ ทำให้มีเรา เป็นอัตตาและตัวตนขึ้นมาเพื่อเป็นเจ้าของ ในสิ่งที่สมมุติ

บัญฑิตเมื่อรู้ความจริงเช่นนี้ อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายมันก็ทุเลา เบาบาง จางคลายลงมา ตามปัญญาที่เล็งเห็น ตามกำลังที่มี

ความเป็นอนัตตานี้ มีเฉพาะพุทธศาสนา ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา เป็นหนึ่งในความหมายของผู้เข้าไปเห็น ความเป็น อนัตตา

เช้านี้มีกิจแล้ว คงไว้โม้วันหลังอีก นี่เป็นธรรมแห่งมุตโตทัย ที่ออกจากใจโดยไม่ต้องง้อตำรา ใครว่าไม่จริงก็ให้ค้านมา จะได้อธิบายให้เห็นลึกลงไปตามเหตุและปัจจัย

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 6 กันยายน 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง