สุดโค่ย ด้วยจอมเสือก

สุดโค่ย ด้วยจอมเสือก

1182
0
แบ่งปัน

ลูกศิษย์ : กราบสาธุในธรรมคำสอนในเช้าวันอากาศร้อนๆ อบอ้าวครับพระอาจารย์ คนเรายิ่งมีความกลัว(โน่นนี่)มากก็เท่าไร ผมสังเกตุตนเองแล้ว ก็แสดงว่ายังน่าจะหวง/ยึดถือหลงตัวกูมากอยู่เท่านั้น(รึป่าวครับพอจ.?)

พระอาจารย์ : กลัวนี่ มันเป็นสัญชาติญานธรรมชาติน่ะ นามสกุล ชูเจริญ

เราขจัดออกไม่ได้ แต่เราสร้างกำลังใจด้วยสติและปัญญา ต้านและอยู่กับมันได้

ธรรมชาติของผู้ฝึกธรรม เรียนรู้ธรรม ของชาวพุทธเรา คือการขจัดออก

อย่างนี้มันโต่ง มันจะเป็น อัตถกิลมถานุโยค เป็นการเจริญธรรมในฟากทุกข์ยากลำบาก

เรียกว่าสุดโต่งไปข้าง ขจัดจากอีกด้าน ไปสู่อีกด้านที่ตรงกันข้าม

และยึดอีกด้านที่ได้มาด้วยความภูมิใจ นี่เป็น กามสุขนุโยค

เรียกว่า ไม่สวิงซ้ายก็สวิงไปทางขวา

ชาวพุทธเรา ขาดผู้ชี้แนะทางธรรมที่เข้าใจธรรมชาติ

เราจึงเกิดการสร้างอัตตาขึ้นมาด้วยความเข้าใจว่า ทำเช่นนั้นเช่นนี้ นี่คือใช่

เราฟุ้งซ่าน อยากมีสมาธิ เราก็ฝึกสมาธิ ฝึกสมาธิก็ยึดสมาธิ ไม่เอาความฟุ้งซ่าน

ยามใดฟุ้งซ่าน เข้าสมาธิไม่ได้ ก็เสียกำลังใจ คิดว่าตนนี้ได้ตกจากความดี ที่เป็นสมาธิซะแล้ว

นี่..เป็นความเขลาในการฝึกของชาวพุทธเรา

ได้อย่างหนึ่ง ก็ไปยึดกับสิ่งที่ได้

แต่ก่อนเป็นคนไม่รู้ข้อธรรมอะไรเลย พอมาอ่านธรรม เห็นเป็นของดี ทำให้ดูว่าเป็นคนดี ก็หลงยึดข้อธรรมที่ได้พบได้เจออีก

ใครผิดไปจากที่ตนยึด ก็อึดอัดฟาดฟันด้วยข้อธรรมและวาทะที่ตนยึดซะอีก

ความกลัวก็เหมือนกัน เราไม่ได้ฝึกเพื่อไม่ให้เกิดความกลัว

ความไม่กลัวมันก็เป็นกิเลสของอีกฟากหนึ่ง มันเป็นทิฏฐิและมานะ ที่มาจากตัณหา

ความเป็นเจ้าของธรรม ในความว่าง การวาง ความเป็นอุเบกขา ไม่เอาอะไรทั้งนั้น นี่เป็นธรรมแห่งกิเลส ที่เราไม่เอาอีกด้าน แต่มายึดเอาอีกด้าน ยึดไม่เอาความไม่ว่างไม่วาง มาเอาความว่างและวาง

ยิ่งยึดสิ่งเหล่านี้ ใจก็ยิ่งหนาแน่ไปด้วยกิเลส เพราะมันเข้าใจว่านี่คือความดี อยู่ในฟากดี

พุทธศาสนา ไม่ได้ชี้ให้ยึดธรรมอย่างนี้ การยึดธรรมอย่างนี้ มันมีอยู่แล้วในทุกๆ ศาสนา

แต่หากพูดไปแล้ว คนไม่ฉลาดมันจะดูไม่ออก มันเอาความคิดของมันมาเถียงหัวชนฝา ว่ามันใช่และถูก

ความโต่งแห่งธรรมของคนนี่ มันขวางมรรคผล รู้ข้อธรรมประโยคแห่งธรรมที่อ่านที่จำมามาก ก็ยิ่งยึดมาก ยึดแบบหูตามัว เรียกว่ายึดอย่างดื้อด้านไม่ลืมหูลืมตา

พุทธศาสนา ชี้แนะให้เห็นทั้งสองฟาก เพื่อเข้าใจว่าแต่ละฟากมันเป็นของมันเช่นนี้

ไม่ได้ชี้ให้ยึดฟากใดฟากหนึ่ง

ทางแห่งมัฌชิมา คือการดำเนินแห่งทางสายกลาง

และทางสายกลางของแต่ละคน มันไม่เท่ากัน จะเอาทางสายกลางของคนนั้น มาวัดกับคนนี้นั้น ไม่ได้

ทางสายกลางที่ชี้มาเป็นจุดหมายให้เป็นทางดำเนินก็คือ

การยอมรับ ด้วยเหตุและผล แห่งสติปัญญาของเจ้าของ นี่..คือทางสายกลางที่แท้จริงของแต่ละคน ที่ไม่เท่ากัน

หากใจมันยอมรับได้ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายมันเป็นของมันเช่นนี้

ที่มันมีที่มันเป็น มันอาศัยเหตุปัจจัยเกิด

เหตุอย่างหนึ่ง ผลก็อย่างหนึ่ง ผลอย่างหนึ่งเหตุก็อย่างหนึ่ง

เมื่อเราเข้าใจในธรรมทั้งสองฟาก เราก็จะไม่ยึดมั่นในเหตุและผลของแต่ละฝ่าย

แต่เราจะอยู่ร่วมกับมันได้ ด้วยความเข้าใจในธรรมทั้งหลายที่ว่า

สรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งถูกใจและไม่ถูกใจ

ทั้งดีและเลว

สรรพสิ่งทั้งหลาย มันก็เป็นของมันเช่นนั้น ไอ้กูนี่แหละ มันชอบเสือกและชอบเข้าไปยึดเป็นเจ้าของเอง

เอาไอ้ตัวเสือกแห่งกูออก มันก็พอจะมีดวงตาเห็นธรรมแห่งความเป็น ตถาตา

พระธรรมเทศนา จากบทธรรม เรื่อง ” อยากทุบกิเลสออก ให้ทุบใจที่ห่อหุ้มกิเลสออกก่อน ” ณ วันที่ 12 มีนาคม 2558 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง