ธรรมะวิสัยภูมิ แห่งพระพุทธองค์และสาวก

ธรรมะวิสัยภูมิ แห่งพระพุทธองค์และสาวก

932
0
แบ่งปัน

 

หวัดดี เมื่อคืนลมทั้งคืน อากาศหนาวโคตร สุขใจ วันนี้ได้รดน้ำต้นสนอย่างชุ่มฉ่ำ ซักวันคงสวยด้วยทิวสน ทำให้น้องๆในวันข้างหน้า ทำด้วยมือสองมือ เพื่อความเป็นจาคานุสติ

>>ลูกศิษย์ : พอจ. ค้า ถ้าธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้กับพระสาวกตรัสรู้เป็นธรรมเหมือนกัน แล้วอะไรที่บ่งบอกความแตกต่างระหว่างพระศาสดากะพระสาวกอ่ะคะ พระอาจารย์อธิบายให้หนูฟังหน่อยได้ไหมคะ

<<พระอาจารย์ : พุทธวิสัยไงอ๋อง แตกต่างกัน ธรรมนั้น เห็นเช่นเดียวกัน แต่ความสว่างแห่งการเห็นไม่เหมือนกัน

พุทธวิสัยแห่งจักษุพระพุทธองค์ สว่างไสวดุจกลางวัน ที่พระอาทิตย์สาดแสง

ของสาวก ดั่งเช่นความสว่างแห่งแสงจันทร์ ที่เรืองรองยามค่ำคืน หากกำลังบารมีน้อยลงมาอีก ก็สว่างดั่งคบเพลิง หากน้อยลงมาอีก ก็สว่างดั่งแสงเทียน หากน้อยลงมาอีก ก็สว่างดั่งหิ่งห้อยท่ามกลางความมืด

ความสว่างนี้ เป็นแค่ข้อเปรียบเทียบ ไม่ใช่เป็นความสว่างอย่างที่เราตีความหมายกัน ที่แปลกันว่า เป็นแสงสว่างจ้า

แต่หมายถึงปัญญาที่มองเห็นความจริงแห่งสัจธรรม ที่ลึก กว้าง และไร้อาณาเขต ในการหยั่งรู้และหยั่งถึง

พุทธวิสัย มีความสว่างแห่งปัญญาที่ไร้ขอบเขต ต้องการหยั่งรู้แค่ไหน ทะลุแจ้งถึงหมด ไม่มีความมืดทึบ ให้เป็นเงามาบดบังความจริงที่จักษุมองเห็นได้เลย

แต่ของเหล่าสาวก หากเกินวิสัยขอบเขตแห่งกำลังบารมี ความมืดทึบที่ละเอียดและอยู่ห่างออกไป กำลังแห่งความสว่างของจักษุ สอดส่องลงไปไม่ถึง

พระอรหันต์บางท่าน ความสว่างแห่งจักษุแค่แสงหิ่งห้อย ท่านแค่รู้เห็นในหนทางแห่งการเอาตัวรอด ที่ท่านประจักษ์ใจเท่านั้น

ส่วนความเห็นที่นอกเหนือไปจากจักษุท่าน ความสว่างแห่งปัญญา ท่านหยั่งและสอดส่องลงไปไม่ถึง พระอรหันต์ ไม่ใช่ผู้ที่ต้องรู้ทุกเรื่อง แต่ทุกเรื่องที่ไม่รู้ ท่านก็รู้ว่า มันเป็นของมัน เช่นนั้นเอง

มีแต่พวกเรานี่แหละ ที่มักจะไปเสือกให้นิยามแห่งความเป็นพระอรหันต์

พระอรหันต์สุขวิปัสสโกก็มี พระอรหันต์เหล่านี้ มีจักษุรู้เห็นสว่างแค่ พอเอาตัวรอดได้ แต่เรื่องลึกลงไป ในเรื่องของ บุพเพนิวาสา หรือ เจโตปริยญาณ ปัญญาแห่งจักษุ แจ้งไม่ถึง มืดมิดเอาเลยทีเดียว

ท่านอธิบายไม่ได้ ความสว่างแห่งจักษุ มันก้าวล่วงไปไม่ถึง เป็นแค่แสงหิ่งห้อย มองเห็นแค่หนทางเดินแห่งตน ตามสัจธรรมที่ปรากฏ ยังความสว่างให้เกิดแต่ตรงหน้าเท่านั้น

ลึกและกว้างออกไปจากแสงแห่งกำลังสว่างแห่งจักษุนั้น มันมืดบอด อธิบายไปมันก็เป็นแค่เดาสุ่ม มันไม่มีแสงแห่งกำลังปัญญาเข้าไปถึง

ส่วนประเภท เตวิชโช หรือ วิชาสาม พระอรหันต์เหล่านี้ รู้แจ้งในบุพเพนิวาสา และเจโตปริยญาณ แต่ก็มีการแบ่งซอยกำลังขอบเขตที่มีความเห็นในรัศมีไม่เท่ากันอีก

มันมีความสว่างมากสว่างน้อยแห่งปัญญาบารมีไม่เหมือนกัน พระพุทธองค์ก็เป็นพระอรหันต์เจ้าที่สำเร็จ เตวิชโช หรือวิชาสาม แต่เป็นวิชาสามของบารมีแห่งพุทธวิสัย

ความสว่างไสวแห่งปัญญา มันสว่างจ้ารู้เห็นดุจแสงพระอาทิตย์ ที่ส่องสาดในตอนกลางวัน

พระอรหันต์ประเภท ฉฬภิญโญ จะมีความเห็นลึกกว่าวิชาสาม แต่ความสว่างแห่งจักษุปัญญา ก็ขึ้นอยู่กับกำลังแห่งบารมีอีก

คือรู้ลึกกว่า แต่ไม่ใช่ว่าจะสว่างกว่า เพราะความ สว่างนี้เป็นตัวปัญญา เห็นได้ลึกกว่านี่ เป็นตัวยืนยันให้แก่ปัญญา ปัญญานี้ อาศัยเหตุปัจจัยแห่งจริตในการเห็นที่ไม่เท่ากัน

อีกประเภท คือพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ พระอรหันต์ประเภทนี้ มีความสว่างแห่งปัญญาดุจคบเพลิงไปถึงแสงจันทร์ ความสว่างแห่งปัญญาขึ้นอยู่กับกำลังบารมีที่สะสมมา

ที่สว่างมากหน่อยก็ประเภทที่ได้ จตุปฏิสัมภิทาญาณ คือได้ครบหมดทั้งปฏิสัมภิทาญาณสี่

นี่..พระอรหันต์พวกนี้ มีความสว่างแห่งปัญญาแจ้งกว้างไกล แต่ก็ใช่ว่าจะสว่างแจ้งอย่างพระพุทธองค์ท่าน

พระพุทธองค์ท่านเป็นพุทธวิสัย แต่พระอรหันต์เจ้า เป็นสาวกพุทธวิสัย ความสว่างไสวมันห่างไกลกัน นี่..อธิบายมาซะยืดยาว มันฟังรู้เรื่องรึเปล่าก็ไม่รู้

ส่วนเรื่องพุทธวจน ที่ถามๆกันมา ขอตอบรวมกันเลยที่เดียว

คำว่าพุทธวจน เป็นคำตรัสแห่งพระพุทธองค์ท่าน ที่นักบาลีเขาแปลมา เป็นภาษาแห่งการชี้ผลให้เห็นมูลเหตุต่างๆ เรียกว่า เป็นสมมุติภาษาให้เข้าใจในเหตุในผลแห่งธรรม

จะเป็นสาวกหรือเป็นธรรมจากพระองค์ ก็เป็นธรรมตัวเดียวกัน ไม่แตกต่างกัน หากเกิดจากจักษุที่เห็นธรรมเหมือนกัน

พระอรหันต์ที่บรรลุธรรมนับจากพระพุทธองค์ปรินิพพาน ต่างก็บรรลุธรรมมาจากครูบาอาจารย์ ที่เป็นสาวกภูมิทั้งสิ้น

และบรรลุธรรมกันไม่ใช่น้อย ที่บรรลุธรรมกัน ไม่ใช่บรรลุเพราะการอ่านพุทธวจน แต่บรรลุธรรมกันด้วยการชี้อุบายทางธรรมจากครูบาอาจารย์ ให้แก่เหล่าศิษย์

พุทธวจนนั้นไร้กาลแห่งธรรม แต่นำมาเป็นเครื่องยืนยันให้ใจได้เข้าใจ ว่าธรรมทั้งหลาย มันมีแนวมีเหตุมีผลมาเป็นอย่างนี้ๆๆๆๆ

ผู้ปฏิบัติจะได้ดำเนินอยู่ในร่องธรรม การเข้าถึงธรรม แม้ไม่รู้เรื่องพุทธวจนเลย ก็เข้าถึงธรรมได้

ใจที่ยังเข้าไม่ถึงธรรม ยึดคำแห่งพุทธวจนว่านี่คือธรรม มันก็จะกลายเป็นมานะ เอาธรรมแห่งคำแปลพุทธวจน มาฟาดฟันผู้อื่นได้ อาการเช่นนี้ เรียกว่า ใจมันไม่เข้าถึงธรรม

เอาบัญญัติธรรมแห่งสมมุติภาษา มาเป็นเจ้าของใจให้ดูยิ่งใหญ่ว่านี่เป็นใจ ที่รู้ธรรมมาจากพระโอษฐ์

ไม่ได้รู้ธรรมที่มาจากธรรมที่เกิดจากใจ

จะสาวกหรือพุทธบริษัท หากเข้าถึงธรรม ฟังแล้วค้านไม่ได้แย้งไม่ได้ และฟังแล้วเกิดปัญญาทางธรรม ดุจเปิดของคว่ำให้มันหงายขึ้น

ธรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมแห่งตถาตาทั้งสิ้น ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา คือการเห็นแห่งตถาตา..

ไม่ใช่รูปลักษณ์ธาตุขันธ์แห่งพระพุทธองค์ ตามความหมายที่พากันคิดกัน….

คืนนี้คงพอกันแค่นี้

************************
พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2557
โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง