การออกจากอาบัติ…

การออกจากอาบัติ…

456
0
แบ่งปัน

การออกจากอาบัติพูดถึงเกี่ยวกับพระ ที่ได้บวชเข้ามานี่ พอนึกได้ว่า ได้ค้างเรื่อง การออกจากอาบัติ ทำอย่างไร จากที่คุณ ไพบูลย์ รุ่นสี่สิบสอง เขาได้ถามมา..

คุยกันเช้าวันศุกร์นี้เลย นะคุณไพบูลย์

การบวชนี่ สำคัญ จะบวชจริงบวชเอาเมียบวชหนีเมีย บวชล้างซวย บวชเพื่อช่วยคน บวชเพราะอยากนิพพาน หรือบวชเพราะอะไรก็แล้วแต่

เมื่อได้ถากหัวห่มฝาดแล้ว มันได้ตัดขาดจากความเป็นโลกที่เขานิยมกันละ จะตั้งใจได้แค่ไหนนี่ ก็แล้วแต่ปัญญาของแต่ละคน

แต่สิ่งที่สำคัญในการบวชนี่ คือ “การรักษาใจ” ใจที่ได้เฝ้าดูแลรักษานี่ สำคัญต่อการบวช

ท่านจึงได้สร้างคอกขึ้นมาเพื่อให้ใจมันมีที่อยู่และรักษาตัวมันเอง นั่นก็คือ “..ข้อธรรมวินัย..”

คำว่าข้อธรรมวินัยนี่ ใช่ว่า จะเป็นการท่องและแปลเอาจากข้อศีลแห่งปาฏิโมกข์

ข้อศีลเหล่านั้น หากยึดเอามาปฏิบัติ ก็จะเป็นการรักษาใจ ในระดับหนึ่ง เพื่อรักษาใจให้เป็นไปแห่งวิถีแนวทางไม่ให้ใจมันเดือดร้อน

มันเป็นข้อศีลของพวกเดียรถีย์ ที่ปฏิบัติตัวปฏิบัติใจไม่ดี เป็นที่น่ารังเกียจของเหล่าผู้คน

ท่านจึงได้ห้ามไว้ ว่า.. อย่าทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้ มันไม่ควรแก่ความเป็นเพศบรรพชิต

ทีนี้.. ความไม่ควรนี้ เมื่อยึดเข้า มันก็จะไปทำลายมรรคผลของพวกที่ไม่มีครูบาอาจารย์ชี้แนะ เพราะจะทำอะไรก็อาบัติไปซะหมด

อาบัตินี้ แปลกันตรงๆ ก็คือ “..การทุศีล..”

งั้นข้อศีลต่างๆ หากไม่ทำตามแล้วจะเป็นการทุศีลหรือเปล่า..??

ตรงนี้ พระท่านไม่ค่อยจะเข้าใจกัน ต่างก็พากันยึดข้อศีลไว้เพ่งโทษกัน แต่เจ้าของเองก็ไม่ได้รู้ความแห่งข้อศีล และทำตามเฝ้าระวังในข้อศีลซะทุกข้อ สำหรับท่านที่บวชจริง มันก็จะอยู่ยาก

ทีนี้เราจะทำอย่างไร เพื่อให้ใจดวงนี้ บวชเข้ามาแล้วเป็นใจที่บริสุทธิ์ เป็นใจที่ไม่ทุศีล

อยู่อย่างผู้มีศีล และเป็นศีลแห่งอริยชนของผู้บวชอย่างเต็มภาคภูมิ

ข้าเองในฐานะผู้บวชแล้วอยู่ป่ามาตลอดการบวช ไม่ได้ไปเรียนรู้ข้อศีลอะไรมามายนัก คงต้องทุศีลแน่ๆ ตามสายตาของผู้มีศีลจากตำราอันแสนวิจิตร

นี่..ข้าเองไม่สนใจ เพราะความมีใจเป็นศีล ไม่ใช่ต้องยึดข้อศีลเป็นข้อๆ อย่างนั้น

ศีลอันเป็นข้อๆ นั้น ท่านกั้นเป็นคอกเอาไว้ให้ใจดวงนี้ มีที่อยู่ และให้พยายามอยู่ในคอก สำหรับพวกใจที่มันดุร้าย หักห้ามความดุร้ายและเชี่ยวกราดแห่งใจที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จบไม่ได้

แหกออกนอกคอกเมื่อไหร่ มันจะคอยไปทำลายใจคนอื่นและใจเจ้าของเอง

ท่านมหามาอยู่ที่นี่ใหม่ ต้องออกไปตัดหญ้าให้กวาง

ขณะที่ตัดหญ้า ด้วยความเป็นมหาเปรียญ ก็ทำไปครุ่นคิดไป

ข้าถามว่า ท่านมหาทำอะไร..??

ท่านตอบว่า ตัดหญ้าครับพระอาจารย์

ข้าบอกว่า เอ๊ย.. อาบัติแล้วท่าน ไม่รู้รึไงว่า การตัดหญ้านี่มันอาบัติ

ท่านมหาบอกว่า.. รู้ครับ ก็เลยสงสัย ว่าในเมื่ออาบัติแล้วเรามาทำกันทำไม แต่กวางก็ต้องกินหญ้า

ข้าบอกว่า.. ในเมื่อมันเป็นอาบัติ แล้วท่านทำไปทำไม

ท่านมหาตอบว่า.. ก็ทำตามพระอาจารย์ เพราะพระอาจารย์ นำมาตัดหญ้า

ข้าบอกว่า.. เมื่อรู้ว่ามันอาบัติ แล้วท่านทำไปทำไม มาตัดทำไม

ท่านมหาว่า.. ผมเห็นพระอาจารย์ตัดได้ ก็ทำตาม

ข้าถามว่า.. เมื่อรู้แล้วว่าอาบัติยังฝืนทำทำไม ตามทำไม

ท่านบอกว่า.. ก็เห็นพระอาจารย์ก็ทำ ก็เลยคิดว่าคงไม่เป็นไร

ข้าบอกว่า.. ผมทำน่ะ ไม่อาบัติ แต่ท่านมหาน่ะ อาบัติที่ทำ

ท่านมหาก็เลยงง บอกว่า.. ท่านเกี่ยวหญ้าแล้วอาบัติ พระอาจารย์เกี่ยวหญ้าเหมือนกัน ทำไมถึงไม่อาบัติ ในเมื่อทำเหมือนกัน และนี่ถ้าว่ากันตามพระธรรมวินัย มันอาบัติแน่นอน

เพราะเป็นการพรากของเขียว เป็นปาจิตตีย์ จึงถามท่านมหาอีกว่า..

เมื่อรู้ว่าเป็นปาจิตตีย์ ทำไมถึงฝืนทำ ฝืนทำและสงสัยทั้งๆ ที่มันอาบัติ

อย่างนี้ มันเข้าข่ายอาบัติทุกกฏ หนักกว่า ปาจิตตีย์อีกท่านรู้ไหม

ท่านตอบว่า.. รู้ซิครับ ในพระธรรมวินัยท่านบอกอยู่ แต่เพราะเห็นพระอาจารย์ทำ ท่านก็เลยทำตาม

นี่..เพราะความเป็นมหา และอยากเรียนรู้ธรรมจากใจ จึงยอมผิดกฏ เพื่อศึกษาธรรม

แต่ที่ทำ ท่านทำด้วยความไม่รู้เป็นเหตุ ทำไปสงสัยไปยิ่งอาบัติหนักเข้าไปอีก

การศึกษาทางตำรานี่ มันไม่สามารถช่วยให้เจ้าของมีปัญญาเข้าใจอะไรตามธรรมได้ง่ายๆ เหมือนกัน

ธรรมนั้น ต้องอาศัยผู้ชี้ และผู้ชี้ ต้องเป็นผู้เข้าใจธรรมและมีดวงตาเห็นธรรม มันจึงจะชี้กันได้ถูก ไม่เป็นตาบอดจูงคนตาบอด ให้หล่นลงไปในเหวเบื้องหน้า

จึงบอกท่านมหาไปว่า…

การบวชนั้นมันสำคัญ ท่านต้องถามในสิ่งที่มันน่าสงสัย เพราะความสงสัยและผิดพระธรรมวินัยที่เรายึด มันจะเป็นนิวรณ์ขวางมรรคผล

ท่านมหาตัดหญ้ามันผิดเห็นๆ ตามข้อธรรมวินัย แต่ทำไมพระอาจารย์ตัดหญ้าเหมือนกัน แต่ดันไม่อาบัติ แม้จะผิดข้อธรรมวินัยเหมือนกัน คนโง่ทางธรรมย่อมไม่เข้าใจจะพากันสงสัยและเพ่งโทษ เป็นกูถูกมึงผิด

ยังความแปลกใจให้แก่ท่านมหา ที่เรียนรู้ตามตำรามา ท่านจึงให้ช่วยแก้ข้อสงสัยให้ ข้าจึงบอกท่านมหาว่า..

ท่านมหาอาบัติ แต่ผมไม่อาบัติ แม้จะทำในสิ่งเดียวกัน เพราะท่านมหา ไม่ทำการ “โยนิโสมนสิการ” ท่านกระทำการพรากของเขียว โดยการขาดสติ

นี่… ตรงนี้ ที่พระเรามักไม่เข้าใจกัน ไม่เข้าใจว่า เมื่อต้องอาบัติ มันก็ต้องมีการออกจากอาบัติได้

การออกจากอาบัติ ไม่ใช่อาบัติไปแล้วจึงจะมาออก หรือมานั่งประนมมือ กล่าวภาษาบาลีกันก่อนทำวัตรเย็น ไม่ใช่อย่างนั้น

ก่อนจะต้องอาบัติ มันต้องออกจากอาบัติก่อน อาบัติแล้วมาออกโดยการประกาศด้วยบทท่อง มันก็อาบัติอยู่อย่างนั้นแหละ

เพราะมันไม่ได้ไปแก้ที่ใจตรงไหนเลย เมื่อไม่ระวัง มีดมันบาดเป็นแผลไปแล้ว ยังไงก็เป็นแผล แต่หากมีปัญญาป้องกันก่อนจะเกิดแผล มันก็ไม่มีแผล เพราะเราได้ระวังคมมีดไว้ก่อน

ท่านมหา ไม่ทำการโยนิโสก่อนที่จะทำ ฉะนั้น.. ไม่ว่าจะทำอะไร แม้ไม่อยู่ในข้อพระธรรมวินัย ใจท่านก็อาบัติ มันอาบัติเพราะการขาดสติในการที่จะทำ ไม่ใช่อาบัติเพราะไปผิดในพระธรรมวินัย

พระธรรมวินัย ไม่ใช่เป็นตัวอาบัติ ตัวอาบัติเกิดจาก ..ใจดวงนี้ที่ไม่มีสติ ในการที่จะทำ..

พระธรรมวินัย เป็นคอกกั้นทางเดินแห่งใจ ไม่ให้ใจมันเดินออกไปนอกคอก

แต่หากขาดสติ มันก็เป็นใจที่เดินอยู่ข้างๆ คอก โดยที่ใจมันคิดว่าตนเองเดินอยู่ในคอก เพราะยึดเอาคอกกั้น ว่าเป็นที่ปลอดภัย

ท่านจึงได้ชี้ลงไปที่ใจ ให้ทำอะไรด้วย สติ การตัดหญ้า มันเป็นอาบัติข้อหนึ่ง ที่ท่านห้ามไว้ เพราะมันมีเหตุ มันตีคลุมไปถึงของเขียวที่เป็นพืชทุกชนิด

พระบางวัดขี้เกียจ เอาข้ออ้างว่ากลัวผิดศีล จึงไม่ทำการตัดหญ้าตัดไม้ในวัดที่รกรุงรัง ตัวเองกลัวผิดพระธรรมวินัย จึงให้เหล่าเณรหรือพระอื่นๆ ทำแทน

นี่..ใจอัปรีย์ กลัวตนเองมีศีลด่างพร้อย แต่ใช้คนอื่นทำแทน ที่สำคัญมันขี้เกียจ เอาข้ออ้างในพระธรรมวินัยมาใช้หากินเพื่อความสำราญแห่งกาย

หากการกระทำใดๆ ที่ดูแล้วมันขัดกับพระธรรมวินัย ให้เราทำการโยนิโสใจด้วยสติซะก่อน

แม้จะไม่มีในข้อธรรมวินัย เราก็ต้องมีสติทำไปด้วยการโยนิโส ตั้งสติปัญญาบอกกล่าวกับตนเองเลยว่า..

ที่จะกระทำนี่ มีเหตุมีผลกระทำไปเพื่ออะไร มันควรหรือไม่ควรอย่างไร มันมีเหตุปัจจัยตามความเป็นจริงรองรับอยู่ จะทำอะไรให้ทำด้วยสติและปัญญาตามเหตุปัจจัย

การตัดหญ้า เราต้องโยนิโสไว้ในใจ ว่าตัดเพื่ออะไร บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง รุกขเทวดาที่ประจำในต้นไม้ใบไม้ ว่าขอกระทำการ

จะมีหรือไม่มีก็บอกกล่าว เพื่อฝึกใจนี้ ให้มันมีความสำรวมใจ เรียกว่าทำความแยบคายไว้ให้ใจมัน เคยชินกับการมีสติที่จะทำ

การกระทำเช่นนี้ ไม่เกิดอาบัติ กระทำด้วยสติ กระทำด้วยปัญญาไปตามเหตุและปัจจัย เรียกว่า เป็นการป้องกันก่อนเข้าอาบัติ

บอกกล่าวกันซักหน่อย มันก็ออกจากอาบัติได้ง่าย ธรรมวินัยแห่งความเป็นพุทธนี้ คือ “..การรักษาใจด้วยสติ..”

รักษาใจดวงนี้ด้วยสติและสัมปชัญญะในการที่จะกระทำ ทั้งทางกาย วาจา และใจ ต่างอาศัย สติ ในการดำเนินมรรค

ท่านจะเดิน จะเหยียดจะคู้จะเหลียว จะกินจะขี้ จะคิดจะทำ จะครองบาตรครองจีวร หากท่านกระทำด้วยความไม่มีสติ ท่านอาบัติทุกย่างก้าว แม้การกระทำนั้นจะไม่มีในข้อแห่งพระธรรมวินัย

ท่านมหาได้ถามมาอีกว่า… อย่างนี้ ถ้าผมจะกินข้าวเย็น แล้วผมโยนิโสก่อนกิน ผมก็ไม่อาบัติซิ พระอาจารย์

ข้าบอกว่า… อาบัติครับ ท่านมหา นี่แหละ ปัญหาของคนที่โง่ มักจะหาข้ออ้างของมันด้วยภาษาและท่วงท่า ในการที่จะหาทางออก

ท่านมหาบอกว่า … มันจะอาบัติได้อย่างไร ในเมื่อพระอาจารย์ก็บอกไว้ ว่า หากเราโยนิโส และมีสติกับการกระทำ เราก็ไม่อาบัติแล้วไง ถือว่า เราได้กระทำการออกจากอาบัติก่อน ก็พระอาจารย์บอกกันอยู่เห็นๆ นี่..ท่านมหาท่านแย้งมา

จึงบอกไปว่า.. การโยนิโส ที่เข้าข้างกิเลส แม้มีสติมีปัญญา มันก็อาบัติ ที่อาบัติเพราะ มันผิดไปจากข้อวัตรปฏิบัติที่เขาทำๆ กัน มันเป็นสติอย่างกิเลส เป็นการเข้าข้างใจตน อย่างนี้พวกก็อ้างได้ บวชแล้วออกไปเย๊ดใคร พวกก็ได้โยนิโสไว้ก่อนแล้ว จึงไม่ปาราชิก นี่…มันจะไหลไปตามซอกซอนเนื่องด้วยหาข้ออ้างเป็นเหตุ

การบวชเข้ามาแล้ว มันก็ต้องรักษาใจตามพระธรรมวินัยเป็นเบื้องต้น ใจที่ทรงการเป็นใจพระโดยสมบรูณ์แล้ว มันจึงจะกระโดดออกจากสันโดษได้

บางครั้งมันจำเป็นที่จะต้องทำ เนื่องด้วยปัจจัยแห่งเหตุและสถานที่ เช่นนี้ เราจึงต้องโยนิโสไว้ก่อน ไม่ใช่โยนิโสตามใจเข้าข้างกิเลสใจตนเอง แล้วจะเข้าใจว่าตนนี่ไม่ต้องอาบัติแล้ว

เข้าข้างกิเลสใจตนเอง แล้วมาบอกว่า… ท่านว่าอย่างนั้นท่านว่าอย่างนี้นี่

นี่.. มันไร้จิตสำนึกแห่งความเป็นคนที่ทำการถากหัว เพื่อเข้ามาบวช ในพระธรรมวินัยนี้

ท่านจะชี้ให้บุตรแห่งพุทธว่า..

เธอจะเดิน จะเหลียว จะเหยียดจะคู้

จะครองบาตร ครองจีวร

จะกิน จะเคี้ยว จะขี้ พึงมีสติตามรู้

สตินี้ ประกอบด้วยปัญญาแห่งนักบวช

การมีสติ มันเกิดจากการพิจารณา

การพิจารณา เกิดจาก ความศรัทธาในธรรม

ความศรัทธาเกิดจาก การได้ฟังธรรมจากสัตบุรุษ

การได้ฟังธรรมเกิดจากใจที่น้อมเข้าไปหาธรรม

ใจที่น้อมเข้าไปหาธรรม ย่อมวินิจฉัยธรรมได้ด้วยปัญญาแห่งตน

เมื่อวินิจฉันธรรมตรงตามความเป็นจริงได้ ใจก็จะเกิดศรัทธา

ใจที่เกิดศรัทธา ก็จะเกิดการพิจารณา

ใจที่มีการพิจารณา ก็ย่อมมีสติ

ใจที่มีสติ ก็ย่อมเป็นใจที่มีความสำรวม

ใจที่สำรวมในการกระทำอะไรใดๆ ย่อมเป็นใจที่ไม่ทุศีล

ใจที่ไม่ทุศีล ย่อมไม่ตกไปเป็นทาสของนิวรณ์

ใจที่ไม่เป็นทาสของนิวรณ์ ย่อมออกจากอวิชชาได้ง่าย.

เพราะอวิชชา อาศัย นิวรณ์เป็นอาหาร

นิวรณ์อาศัย การทุศีลเป็นอาหาร

การทุศีลอาศัย ความไม่สำรวมใจเป็นอาหาร

ความไม่สำรวมใจ อาศัยใจที่ไม่มีสติเป็นอาหาร

ในที่ไม่มีสติ อาศัย การไม่โยนิโสพิจารณาเป็นอาหาร

ใจที่ไม่พิจารณาอาศัย ความไม่มีศรัทธารู้จริงเป็นอาหาร

ความไม่มีศรัทธา อาศัย การไม่ได้รับฟังธรรมจากสัตบุรุษเป็นอาหาร

การไม่รับฟังธรรม เพราะอาศัยตัวตนเป็นอาหาร

การเอาแต่ใจตัวตน เพราะอาศัย อวิชชาเป็นอาหาร

นี่…คนมีศีลกับไม่มีศีลมันแตกต่างกันเช่นนี้

เช้านี้ ขอจบการแสดงการออกจากอาบัติเพียงแค่นี้ จะได้ไม่ค้างคากัน

ขอสวัสดีมีชัยให้มีดวงตาเห็นธรรมกันทุกท่าน

สวัสดี..!!
*******************
พระธรรมเทศนา จากบทธรรม เรื่อง อยู่อย่างธรรมและทำ เป็นธรรมดา..
ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557
โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง