ศีลแห่งสัมมา…

ศีลแห่งสัมมา…

910
0
แบ่งปัน

ขอสาธุคุณยามเช้า.. ขอให้ทุกท่าน จงเป็นสุขและเจริญๆๆๆๆๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป

พระบางรูปชี้ชาวพุทธว่า … พระพุทธรูปเป็นแค่อิฐแค่ปูน ไม่ใช่พระพุทธเจ้า เราไม่ควรที่จะกราบไหว้ .. นี่ ..ก็ถูกในส่วนหนึ่ง ตามความคิดและเขารู้สึก

แต่เราไม่ควรทำลาย หรือเหยียบย่ำความศรัทธาของชาวพุทธ ที่ต่างนับถือกันมาด้วยความนอบน้อม

เป็นสงฆ์เป็นเจ้าควรอธิบาย.. ใช่ชักชวนกันทำลาย

ที.. รูปพ่อแม่อันเป็นกระดาษแท้ๆ เสือกกราบไหว้ได้

มันจะต่างอะไรกับกราบอิฐกราบปูน ที่แทนใจว่านี่ ..พระพุทธ..

ตังค์ก็สมมุติ>>แต่เสือกแสวงหา

ตำราก็สมมุติ>>แต่เชื่อและยึดนักหนา

ตัวตนเจ้าของก็สมมุติ>>แต่อยากให้คนอื่นเชื่อฟัง

นี่.. ถ้าพระพุทธเป็นทองคำ เป็นอัญมณี มีหรือ ที่ใจพวกอัปรีย์ทั้งหลาย จะขว้างทิ้ง..

ข้าเองนี่ โง่ไปพักใหญ่ คือไม่เอาอะไรทั้งนั้น

มุ่งการปฏิบัติอย่างเดียว อะไรดีๆ ที่โลกเขาว่าดี และตนเองเห็นว่าดี ข้าก็ทำหมด.. เท่าที่ปัญญามี

นี่.. เรียกว่ายึดดี แต่ไปทำลายอีกส่วนที่เข้าใจว่าไม่ดี เป็นไปเพื่อความมักมาก เป็นไปเพื่อความลำบาก นี่..เป็น “ทิฏฐิ” ตัวหนึ่งที่โต่งไปอีกทาง เป็น “กิเลส” ตัวใหญ่จนใจมองไม่เห็น

วัตถุทั้งหลายนี่ไม่เกี่ยว วัตถุก็คือวัตถุ เป็นที่ใจเจ้าของนี่แหละ เสือกไปให้ความหมายกับวัตถุเอง

มีหรือไม่มี ยึดหรือไม่ยึด มันมีค่าเสมอกัน คือออกจากใจที่เป็นตัณหาผุดออกมาไม่รู้จบทั้งสิ้น

ถูกใจก็ชอบใจก็กระทำด้วย ความชอบใจ

ไม่ถูกใจ ก็ไม่ชอบใจผลักไสไม่ใช่อย่างนั้นไม่ใช่อย่างนี้

นี่..ใจยังอัปรีย์อยู่ เอาใจที่ตัดสินด้วยความโต่ง เป็นที่ตั้ง

ตรงนี้ที่ท่านเรียกว่า กามสุขัลฯ และอัตถะฯ อันเป็นธรรมของชาวบ้าน

โต่งอยู่ฟากใดฟากหนึ่ง ถูกใจก็ชอบใจ ไม่ถูกใจก็ไม่ชอบใจ ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง ชอบบ้างไม่ชอบบ้างตามเหตุปัจจัย

นี่..ตัวตนและกิเลสใจล้วนๆ ทั้งพระและฆราวาส แล้วเราจะออกจากตรงนี้ได้อย่างไร..?? จึงไม่เป็นไปตามกระแสใจที่มันต้องอาศัยการผัสสะ

เพราะยังไงมันก็เกิด เกิดแล้วไหลไปตามกระแส กับเกิดแล้วไม่ไหลไปตามกระแส นี่..ต่างกัน..

หากไหลไปตามกระแสขาดสติพิจารณานี่ เรียกว่า “..สมุทัย..”

..สมุทัย.. เป็นใจที่ไหลไปตามกระแสแห่งผัสสะ ที่ว่ากันไปตามเวรตามกรรม

ไร้ใจที่มีกำลังต้าน ผลก็คือ ..ความทุกข์.. ในเหตุและผลต่างๆ ที่ใจเราก่อ

หากกระแสเกิดขึ้นมากระทบใจแล้ว ยั้งคิดมีความสติพิจารณาในเหตุในผล

ใจนี้ก็ไม่ไหลไปในกระแส นี่เรียกว่า “..มรรค..” ความเดือดเนื้อร้อนใจ ที่จะเกิดกับใจก็จะทุเลาเบาบางจางคลายไปตามกำลังแห่งสติปัญญาที่มี

นี่..เรียกว่า “..นิโรธะ..” เป็นความสงบเย็นใจในผลที่จะเกิด หลักอริยะสัจ เป็นหลักเหตุหลักผล ของคนที่มีปัญญา

จะทางโลกก็ดี ทางธรรมไปถึงความหลุดพ้นก็ดี อาศัยแนวทางแห่งหลักเหตุหลักผลทั้งสิ้น

เพียงแต่เราแยกแยะไม่เป็น เหตุเพราะเราเอาตัวตนเข้าไปเป็น เอาตัวตนเป็นเจ้าความคิดเข้าไปตัดสิน

ที่ไหนมีตัวตน ต่อมแห่งความระทมทุกข์ มีหน่องอกเงยขึ้นมาอยู่เสมอ

หนทางแห่งมรรคแปด.. ก็ไม่ได้แยกว่าเป็นแปดอย่าง ดั่งเขาว่ากัน

คำว่าแปดอย่างนี้ มันคือองค์ประกอบใจในด้านสัมมา

เหมือนส้มผลเดียวที่ประกอบด้วย เปลือก ใย เนื้อ น้ำ เมล็ด แค่แยกแยะให้รู้จักว่ามันเป็นผลส้มอย่างนี้

เหมือน เปรี้ยว หวาน เผ็ด เค็ม มัน รวมอยู่ในต้มยำรสชาติอร่อย

หรือนั่นกระทิ นี่ พริกแกง นู่เนื้อ มาผัดๆ รวมกัน เรียกว่า แกงคั่ว

นี่..มรรคแปดมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นองค์ประกอบแห่งผู้มีใจเป็นสัมมา ใจอันเป็นสัมมาก็คือผู้ที่มีใจอันเป็นศีล..

อะไรคือศีล.. ??

.. ศีล .. ก็คือ ความปกติแห่งใจที่เป็นสัมมาโดยสติ อาศัยการโยนิโสอยู่เนืองๆ จนใจมันชิน

ความชินแห่งใจที่โยนิโสคือ การได้พิจารณาอยู่เนืองๆ

การพิจารณา จะทำให้เป็นผู้ที่มีสติและปัญญาเกิด

การพิจารณาจะทำให้เกิดหลักเหตุหลักผล

นี่..ใจที่เข้าสู่กระแสแห่งสัมมา มันจะเป็นใจที่เข้าสู่ใจที่มันเป็นปกติแห่งใจมีศีล

ใจที่มัน ”เป็นศีล” ทำอะไรก็เดินไปบนหนทางแห่ง ..มรรค..

ใจที่ “ไม่มีศีล” ก็จะเดินทางบนหนทางแห่ง ..สมุทัย..

นี่ มันต่างทางแยกกันอย่างนี้

ใจ “เป็นศีล” ก็เป็นใจมา>>ทางสัมมา

ใจ “ไร้ศีล” ก็เป็นใจมา>>ทางมิจฉา

ทั้งสัมมาและมิจฉา เกิดจากตัณหาที่ผุดออกมาจากใจไม่รู้จบของเจ้าของ

นี่.. คือเหตุของมัน..

คำว่า สัมมาวาจา ในมรรคแปด ใช่ว่าไปตัดสินตรงวาจาคำพูด มันไม่ใช่อย่างนั้น

อย่างนี้ … คนใบ้ก็เป็นสัมมาวาจากันหมด

โจรก็พูดเพราะได้ ไม่โกหกก็ได้ ไม่พูดส่อเสียดก็ได้ ไม่พูดเพ้อเจ้อก็ได้

นี่..โจรมันก็ทำได้ ในความหมายแห่งสัมมาวาจาไม่ใช่อย่างที่ตีความกันดั่งที่เราเข้าใจ

คำพูดมันเป็นจริยาสมมุติ มันบอกอะไรแห่งความเป็นสัมมาไม่ได้

..สัมมาวาจา.. คือ กริยาที่แสดงออกมา ทั้งทางกาย วาจา และใจ ที่มีสติเป็นกุศล

การไหว้ด้วยความนอบน้อม นี่ก็สัมมาวาจา

แสดงออกด้วยสายตาที่อ่อนโยน นี่ก็สัมมาวาจา

คิดพูดทำในสิ่งดีๆ เป็นกุศลที่สื่อออกมา จาก กาย วาจา ใจ นี่เป็นสัมมาวาจา

สัมมาวาจาเพียงตัวเดียว มรรคอีกเจ็ดตัวที่เหลือ เข้าถึงเช่นกันหมด

ดุจติดกระดุมเม็ดแรกถูก ที่เหลือก็ถูกหมดเช่นกัน..

เช้านี้จะว่าไปถึง เรื่องสัมมาแห่งอริยสัจ แต่ไม่ว่างซะแล้ว

ขอสาธุคุณกับทุกๆ ท่าน ขอให้มีความสุขและความเจริญ

เช้านี้ขอสวัสดี ขอให้มีแต่ความสุขและเกิดปัญญาญานแจ่มใสกันทุกคน..

******************************
พระธรรมเทศนา จากบทธรรม เรื่อง องค์ปฏิมาแห่งพระพุทธองค์..
ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557
โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง