เหตุแห่งอริยสัจ ที่ทรงตรัสรู้ ท่อนที่สอง…

เหตุแห่งอริยสัจ ที่ทรงตรัสรู้ ท่อนที่สอง…

231
0
แบ่งปัน

เหตุแห่งอริยสัจ ที่ทรงตรัสรู้ ท่อนที่สอง...หวัดดียามค่ำ วันนี้เรามาโม้เรื่องไรดี สองวันมานี้ โม้แต่เรื่องแหยงๆ และความพราก วันนี้มาว่ากันต่อเรื่อง อริยสัจดีกว่าไม๊ ชื่อเรื่องน่ะ อริยสัจ แต่ข้าก็ว่าไปไปเรื่อยแหละ

ท่อนแรกโม้ไปถึงไหนแล้ว ใครจำได้มั่ง ขอเวลาไปหาอ่านก่อน เอาๆๆๆๆ มาว่ากันต่อ ความเชื่อทั้งหลายนี้ แม้มีคนบอกหรือใครบอก มันก็ยังเชื่อไม่ได้

แม้พระอรหันต์บอก เราก็อย่าเพิ่งเชื่อ แต่ไม่ใช่ไม่เชื่อคำบอกอย่างดื้อด้าน ดั่งที่เราเข้าใจ การไม่เชื่อนี้ พึงมีสติปัญญา อย่าไปเชื่อใจเราเอง ที่เชื่อคำบอกของเขา นี่..ความหมายเป็นอย่างนี้

ผู้รู้แจ้ง ท่านไม่ได้เชื่อใคร แต่ท่านเห็นแจ้งตามความเป็นจริง ดั่งที่เขาบอก นี่.. ไม่เรียกว่าเชื่อ แต่เห็นและยืนยันได้ด้วยใจตนเอง

ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้ง มันก็เป็นแค่ความเชื่อ และเชื่อทั้งหลายนั้น มันไม่เป็นความจริง มันเชื่อด้วย “ศรัทธา” เชื่อด้วย “ความเห็นด้วย” เชื่อด้วย “ยังไม่รู้ตามความเป็นจริง”

นี่..สิ่งเหล่านี้ ยังเชื่อถือใจเราให้เชื่อไม่ได้ พระพุทธองค์ทรงรู้อริยสัจมาจากไหน และเราจะรู้แบบพระพุทธองค์ อย่างประจักษ์ใจบ้างได้ไหม ? เรามาว่ากัน….

ในคืนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ในปฐมกาล ช่วงหัวค่ำ พระพุทธองค์ได้รู้แจ้งในบุพเพนิวาสา คือ รู้การเกิดดับย้อนหลังในอดีตได้ เท่าที่ต้องการ นี่… เป็นวิชาแรก

คำว่า “วิชา” หรือ “วิชชา” มันก็ตัวเดียวกันแหละ คือ “รู้แจ้ง” มันรู้แจ้งสว่างโล่งออกมาจากตัว “อวิชชา”

รู้แจ้งสว่างอันใด ถึงได้เข้าไปถึงความเป็น ผู้รู้ผู้เข้าใจแห่งอริยสัจ เมื่อได้ย้อนกลับไปรู้อดีต มันจึงประจักษ์จิตอย่างผู้มีปัญญาแล้วว่า….

เพราะทำกรรมอย่างนั้น จึงได้มาเสวยวิบากกรรมอย่างนี้ เพราะชาตินั้นสร้างกรรมอย่างนั้น อีกชาติต่อๆ มาจึงมีผลเป็นเช่นนี้

และเพราะผลนั้น ที่ไหลไปตามกระแสกรรม ก็กระทำกรรมต่อ จึงต้องมารับวิบากผล อีกชาติต่อๆ มาเช่นนี้

นี่..พระพุทธองค์ ได้ย้อนเข้าไปเห็นอดีต เมื่อได้เห็นอดีต ก็เห็นเหตุและผลที่มันอาศัยเกิด ทำกรรมเมื่อชาติที่สิบ พอเกิดมาชาติที่ร้อย ผลกรรมนั้นมันก็แสดงตัวอยู่

ทำจากชาติโน่นๆ ชาติต่อมามันก็ให้ผลอยู่ นี่..มันเข้าไปรู้เหตุ รู้ผล เมื่อหวนกลับมาพิจารณา ก็เห็นความจริงอันหลากหลายว่า…

กรรมทั้งหลาย เกิดจากใจดวงนี้ ที่ไหลไปตามกระแส ผลแห่งการไหลไปตามกระแส คือ เมื่อกระทบแล้ว ใจมันต้านไม่อยู่ เมื่อต้านไม่อยู่ มันก็ย่อมจมไปในกระแส ดุจถาดที่ลอยตามน้ำ

เมื่อถาดหลุดลอยไปจากมือ ถาดไหลไปตามกระแส ถาดเหล่านั้นก็ย่อมจมไปตามกระแส นี่..เป็นธรรมชาติแห่งอริยสัจ

การจมหายไปในกระแส นี่เป็น “สมุทัย” ผลก็คือ “.. ความทุกข์ที่ไหลวนไปในกระแสแห่ง “วัฏฏะ” ..”

เมื่อทรงพิจารณาเห็นความจริงเช่นนี้ จึงโน้มใจไป เพื่อดูการเกิดดับของเหล่าสัตว์อื่นๆ ในช่วงกลางแห่งกาล

แม้เหล่าสัตว์อื่นๆ ก็ต้องกระแสแห่งธารที่ไหลเวียนเป็นวัฏฏะเช่นกัน เมื่อทำกรรมอย่างนี้ วิบากผลก็สนองอย่างนั้น

เหตุเพราะกระทำอย่างนี้ ทำให้ไปเกิดเป็นอย่างนั้น จากอดีตชาติอย่างนี้ ชาติต่อๆ มาก็ต้อง รับวิบากผลอย่างนั้น

นี่..พระพุทธองค์ท่านได้ทรงเข้าไปรู้เหตุ ที่ลึกๆ ลงไป และเห็นผล ที่ต้องเสวยวิบาก นี่..เรียกว่า วิชาสอง ที่ทรงเข้าใจจนประจักษ์แจ้ง ในช่วงยามเที่ยงคืน เรียกว่า เจโตวิมุติญาณ เมื่อถอนจิตกลับมาพิจารณา พระพุทธองค์ก็ทรงทราบว่า…

ผลทั้งหลายที่เกิด ล้วนอาศัยเหตุ ที่ตกลงไปในกระแสทั้งสิ้น เหตุนั้นก็คือ ตัณหาที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จบจากใจเจ้าของ เป็นเหตุ

เมื่อพิจารณาถึงการดับเหตุ… ก็เห็นชัดว่า หากเจ้าของ แค่ ลด ละ เลิก ใจที่เป็นตัณหาผุดขึ้นมาไม่รู้จักจบนั้นซะ

ผลแห่งวิบากทั้งหลาย ก็จะสงบ ไม่กลายเป็นทุกข์ที่จะต้องเวียนวนในวัฏฏะอีกต่อไป

การที่จะ ลด ละ เลิก ตัณหาที่ผุดออกมาไม่รู้จักจบนี้ได้ ก็ต้องอาศัยใจที่อบรมให้เป็นศีล คือ “..ใจดำเนินมาทางกุศล..”

คือ คิดดี พูดดี ทำดี ที่เรียกว่าใจมีกุศล ทาง กาย วาจา ใจ ใน “..อริยมรรคแปด..” ที่เราเรียนๆ กันนี่แหละ

คือรวมความแล้วก็คือ มีสติปัญญามาทางกุศล ตามเหตุตามผลตามปัจจัย ไม่ใช่ไหลไปตามเหตุตามผลของตัวตน

ความเร่าร้อนแห่งทุกข์ทั้งหลาย มันจึงจะสงบลงได้ ไม่ไปก่อเรื่องก่อภพก่อชาติขึ้นมาอีก

การลด ละ เลิก ตัณหาที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จักจบนี้ เรียกว่า “..ทางแห่งอริยบุคคล..”

มีองค์ประกอบแปดประการ เรียกว่า “..อริยมรรคมีองค์แปด..”

นี่..เมื่อพิจารณาเห็นชัด ถึงเหตุถึงผล ญาณทั้งหลายก็เกิด พระพุทธองค์จึงได้บรรลุสัมโพธิญาณ เมื่อตอนรุ่งสาง อุปาทานทั้งหลายที่ยึดไว้ ก็สลายไป เมื่อทรงทราบชัดแล้วว่า ธรรมทั้งหลายล้วนเกิดแต่เหตุ

หากเราจะย่อลงมาในอัตภาพของเรา แม้เราจะไม่ได้วิชาสาม คือ “เตวิชโช” แต่เราก็สามารถย้อนเหตุการณ์ได้ด้วยตัวเราเองได้เช่นกัน

เพื่อให้เห็นอริยสัจได้อย่างชัดเจนด้วยตัวเราเอง หากเราย้อนกลับไปในอัตภาพแห่งอดีตที่เราได้เกิดกำเนิดมา เอากันเท่าที่เห็นๆกันและจำได้ ในอัตภาพนี้

เราจะเห็นว่า หากเรามีสมาธิใคร่ครวญและพิจารณา เหตุการณ์บางอย่างที่ผ่านมา หากเราแค่มีสติ พิจารณาตรึกตรองซะก่อน

เรื่องเลวร้ายทั้งหลาย ก็คงไม่เกิด นี่… เป็นเพราะ เราไม่ยอม ลด ละ เลิก ตัณหาที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จบ ในขณะนั้นที่โดนผัสสะ เรามันไหลไปในกระแสแห่งทิฏฐิตัวตนซะก่อน

วันนั้น ถ้าใจเย็นๆ ลงหน่อย ป่านนี้ เราคงมีความสุข คงไม่ต้องจาก ไม่ต้องพราก ไม่ต้องเป็นศัตรูกัน ทั้งๆ ที่เราก็เคยรักกัน ดีต่อกัน รู้จักกัน นี่..ทุกอย่างพัง เพราะอารมณ์ที่มันไม่ยั้งคิดของเราเป็นเหตุ

บางเรื่อง… แค่ยั้งคิดพิจารณาซักหน่อย ผลร้ายคงไม่เกิดและเลวร้ายลามปามมาถึงอย่างนี้

บางเรื่อง… หากตัดสินใจอีกอย่าง มันก็คงจะดีกว่านี้

บางเรื่อง… ถ้าได้พูดคุยกันดีๆ วันนี้ก็คงไม่ต้องมาทุกข์ใจกัน

บางเรื่อง… หากย้อนกลับไปได้ อยากกลับไปบอกกับใครๆ ว่า ขอโทษ

บางเรื่อง… อยากกลับไปแก้ไขใหม่ ให้มันเปลี่ยนไป จากที่เราทั้งหลายต้องมาร่วมเผชิญ

บางเรื่อง….มันไม่เป็นเรื่องอะไรเลย เป็นเพราะอารมณ์ไม่เข้าท่านี่แหละเป็นเหตุ

วันนั้น หากพิจารณาหยุดยั้งซักนิด คงไม่มีวันที่ครุ่นคิดหนัก มาถึงทุกวันนี้ นี่…หลากหลายเรื่องที่เราต้องเผชิญ หากเราได้กลับไปใคร่ครวญ เราจะเห็นเหตุของมันที่เป็นอดีตทั้งหลาย

เหมือนอย่างที่พระพุทธองค์ทรงเห็นเหตุแห่งอดีตชาติทั้งหลายเหมือนกัน กำลังเรามีเพียงแค่ชาติเดียว เราก็บรรลุแม่งมันแค่ชาติเดียวนี่แหละ ไม่ต้องไปรู้มากๆ ชาติก็ได้

เมื่อเราใคร่ครวญดู จะเห็นว่า… ทุกข์ทั้งหลาย เกิดจากใจดวงนี้ ที่ไม่มีสติทัน ต่อการไหลของกระแส เราจึงไหลไปตามกระแสแห่งผัสสะ และก่อเหตุขึ้นมา นี่… เรียกว่า “สมุทัย” ผลก็คือ “ทุกข์”

หากเราใคร่ครวญตรงตามความเป็นจริง เราจะเห็นว่า… กระแสทั้งหลาย เกิดจาก “ผัสสะ” แล้ว มันไหลไปตามตัณหาที่ผุดขึ้นมารองรับกระแสโดยไม่รู้จบนี่แหละ เป็นเหตุ

เหตุนี้เป็น “สมุทัย” ผลมันก็เห็นๆ กันอยู่ หากเราฝึกตั้งมั่นมีสติขึ้นภายในใจ ตั้งสติปัญญา สาวผลไปหาเหตุ ให้ตรงตามความเป็นจริงตามเหตุปัจจัย

ผลก็คือ ความเร่าร้อนทั้งหลาย มันก็จะ ทุเลาเบาบางและจางคลาย ลงมาตามกำลังแห่งปัญญา ที่เข้าไปเบรคระงับกระแส

นี่..เรียกว่า “ผู้เดินทางมรรค” ผลก็คือ “นิโรธ” คือ สงบ เย็น ไม่เร่าร้อนไปตามกระแสแห่งผัสสะ

การมีสตินี้ เป็นตัวศีล ศีลนี้อาศัยการมีสติรักษา

สตินี้อาศัย การใคร่ครวญพิจารณาก่อนตัดสินใจ

การใคร่ครวญนี้ อาศัยปัญญาที่ได้รับการอบรมชี้แนะมา เรียกว่า “..ศรัทธา..”

ศรัทธานี้ อาศัย สัตบุรุษ ชี้แนะธรรมที่ตรงตามความเป็นจริง

นี่..การอาศัยซึ่งกันและกันนี้ เป็นหลักเหตุหลักผล อาศัยสิ่งหนึ่ง เพื่อเกิดอีกสิ่งหนึ่ง เรียกว่า “..อิทัปปัจจยตา..”

อิทัปปัจจยตา ก็คือหลักเหตุหลักผล เพราะสิ่งหนึ่งมี อีกสิ่งหนึ่งจึงมี เพราะสิ่งหนึ่งไม่มี อีกสิ่งหนึ่งก็จะไม่มี เพราะสิ่งหนึ่งดับ อีกสิ่งหนึ่งจึงดับ นี่..มันอาศัยธรรมชาติกันมาเช่นนี้

เมื่อเราได้ใคร่ครวญอยู่อย่างนี้ เราก็มาแก้ปัญหาที่ “ปัจจุบัน” คือตั้งสติ อย่าให้มันเกิดพิษภัย ให้ใจมันต้องทุรนทุรายปางตายอีก ด้วยสติ

สตินี้เป็นสติแห่ง “ปัญญา” เป็นสติที่เกิดจากการ “พิจารณา” ในที่นี้ เรียกว่า “..สติที่มีใจเป็นศีล..”

นี่..คนมีศีลคือคนที่มีสติละอายชั่วกลัวบาป เริ่มจากตรงนี้ นี่.. เป็นทางเดินแห่ง “องค์สัมมาทิฏฐิ”

ธรรมแห่งอริยสัจนี้ หากเราได้ใคร่ครวญตามนี้ เราจะรู้ทั้งเหตุและผลดี เรียกว่าเป็น “..ผู้มีธรรม แห่งอริยสัจ..” ยืนยันได้ด้วยใจเจ้าของเอง

ว่ามันเป็นความจริงแท้แน่นอน ไม่บิดเบือนไปจากนี้ มีเพียงเท่านี้ ประมาณนี้ เรา..ก็จะได้ก้าวขึ้นมาเป็นใจที่เป็น “..อริยบุคคล..” เริ่มจากความเป็นพระโสดาบันไปยันความเป็นพระอรหันต์

นี่…แม้เป็นธรรมอย่างป่าๆ ตามจริตวิสัย ธรรมทั้งหลายนี้ข้าชี้ให้คนได้กลายเป็นพระ ไม่ได้ชี้ให้กลายเป็นเปรต เราควรนำมาสอดส่องใจ

คืนนี้ พอกันแค่นี้ สวัสดี

*******************************

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2557
โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง