เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

803
0
แบ่งปัน

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมีตะกี้ได้อธิบายคำว่า อิทัปปัจจยตาในอีกหน้าเพจหนึ่ง เผื่อพวกเราบางท่านอยากฟัง ข้าจะคัดลอกมาให้ฟังกัน

เจ้าแปงเขาได้ถอดธรรมมาเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ธรรมกระจายไปสู่ส่วนต่างๆได้มากขึ้น ที่นี้ เมื่อได้กล่าวถึงภาษาธรรม ซึ่งเป็นภาษาบาลี ก็ต้องมีการขยายให้มองเห็นภาพรวมแห่งภาษา

เราคนไทยเอง ที่อธิบายกันมา บางครั้งขึ้นต้นถูก แต่ลงท้ายผิด นี่..ก็มีมากมาย เรื่องภาษาธรรมมันตีความได้หลากหลาย ยิ่งต้องแปลเเป็นภาษาอังกฤษ มันก็ยิ่งให้ความหมายให้ตรง มันก็ยิ่งยากเข้าไปอีก

การแปลก็ต้องเข้าใจภาพรวม แล้วอธิบายออกมาในเชิงความหมาย หากแปลกันตรงตัว เป็นคำๆ ธรรมนี้ ก็จะไม่ตรงเลยทีเดียว

เรื่องภาษาอังกฤษ สัตว์ป่าอย่างข้า ลืมภาษาหมดแล้ว แต่จะขออธิบายให้เห็นภาพ ในคำๆหนึ่งที่คนเขาชอบพูดกัน คือ อิทัปปัจจยตา

ข้าจะให้ความหมายในคำว่า อิทัปปัจจยตา ตามภาษากระเหรี่ยงดงป่าๆอย่างข้าเด้อจ้า…

คำว่า อิทัปปัจจยตา เป็นความหมายรากลึกของอริยสัจ

แหม่..มันก็ต้องอธิบาย อะไรคืออริยสัจกันอีก เพราะมันเป็นสมมุติย่อแห่งคำ

อริยสัจนี้ เป็นหลักเหตุ และหลักผล

เหตุ คือ หนทางแห่งการ ก่อเหตุ กับ ดับเหตุ

หนทางก่อเหตุ เรียก สมุทัย ผลคือ ทุกข์ที่ก่อขึ้นมาไม่รู้จบ

หนทางดับเหตุ เรียกว่า มรรค ผลคือ ดับทุกข์ให้ทุเลา เบาบาง จางคลาย

มันเป็นหลักเหตุและหลักผล

เหตุนอกเป็นสมุทัย เหตุในเป็นมรรค

มันเป็นหลักเหตุและหลักผล สองชุดมาซ้อนกัน

นี่คือหลัก อริยสัจ

ทั้งเหตุนอกและเหตุใน มันก็คือผล

เมื่อสาวผลลงไป ก็จะเจอเหตุอีก

เหตุนี้คือ ใจที่มีตัณหาผุดขึ้นมาไม่รู้จบ ยามโดนกระทบนี่แหละ เป็นเหตุ

นี่..เป็นความเข้าใจยากของมนุษย์ปุถุชน แม้นักเรียนแปลบาลีก็เหอะ ย่อมไม่เข้าใจ

ความเป็นไปแห่งคำว่า อริยสัจ

เพราะอริยสัจเป็นหลักเหตุหลักผล กฏของมันก็คือ

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี หมายถึง เพราะมีสิ่งหนึ่ง ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอีกสิ่งหนึ่ง

ตราบใดที่ยังมีการปรุงแต่ง การปรุงแต่งนี้ หมายถึงเหตุปัจจัยแห่งองค์ประกอบ

คือ ทางด้าน ฟิสิกส์ ชีวะ จิต กรรม และธรรมชาติแห่งเหตุปัจจัย

เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี หมายถึง เมื่อไม่มีสิ่งหนึ่ง อีกสิ่งหนึ่งที่ต่อเนื่องกัน ก็ย่อมไม่มี

เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ หมายถึง เมื่อสิ่งหนึ่งดับไปสลายไป อีกสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยเหตุปัจจัย ก็ย่อมดับและสลายตาม

นี่ เป็นอริยสัจ เป็นหลักเหตุ หลักผล เมื่อรวมความแห่งเหตุนอก เหตุใน ผลนอก ผลใน

เราเรียกเหตุและผลทั้งหลายนี้ว่า อิทัปปัจจยตา

อิทัปปัจยตา เมื่อเกี่ยวเนื่องอาศัยเหตุปัจจัยเกิดคล้องเป็นลูกโซ่

และวนมาครบกาลเป็นวงล้อ เราเรียกกระบวนการที่ต่อเนื่องแห่งกฏ อิทัปปัจจยตานี้ว่า

วงล้อแห่ง ปฏิจจสมุปบาท

วงล้อแห่งปฏิจจสมุปบาท อาศัยกฏ อิทัปปัจจยตา ก่อเกิดเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน

เวียนวนจนครบกาล ครบรอบวง มนุษย์เรา หนีจากวงล้อแห่งปฏิจสมุปบาทไม่ได้

ที่หนีไม่ได้ เพราะ ปฏิจจสมุปบาท เป็นอาการของ อวิชชา

อวิชชาคือความไม่รู้ ความไม่รู้นี้ อาศัยความมีตัวตนเข้าไปยึดครองการเป็นเจ้าของ

ในอาการ อันมาจากเหตุแห่ง อวิชชาทั้งหลาย

การจะแหกวงล้อแห่งวัฏฏะคือ ปฏิจจสมุปบาทออกไปได้

ก็ให้มาเริ่มแหกตรงหลักแห่ง อริยสัจ

คือเข้าใจหลักเหตุหลักผล

เมื่อผลมี เหตุก็ย่อมมี ผลนั้นเมื่อสาวลงไป มันก็จะเจอเหตุ และเหตุนั้นที่เราเจอ

มันกลายเป็นผลของเหตุที่ลึกลงไปอีก เราก็ต้องสาวเหตุอันเป็นผลนั้น ลึกลงไปอีก

ก็จะเจอเหตุ และเหตุนั้น ก็เป็นผลที่เราต้องสาวลึกลงไปอีก ลึกลงไปอีก ลึกลงไปอีก

จนหมดเหตุ และเห็นชัดถึงความเป็นเหตุว่ามัน ไม่มี

สิ่งที่ไม่มี ย่อมไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นธรรมดา

สิ่งที่ไม่มีนี้ คือ อนัตตา

เมื่อสร้างเหตุให้แก่อนัตตา ผลคืออัตตา ก็ย่อมมี

ที่มีก็คืออวิชชา อวิชชาก็คือ อัตตาที่สมมุติจากเหตุที่มันไม่มี

ที่มี ล้วนแล้วแต่….สมมุติ

แหม…เราจะพูดถึง อิทัปปัจจยตา ดันมาผ่าไหลไปถึงสมมุติ

อิทัปปัจจยตานี้ อาศัย สิ่งใดสิ่งหนึ่งมี อีกสิ่งก็ย่อมมี เมื่อมีเหตุ ก็ย่อมมีผล ผลนี้เป็นวิบากแห่งเหตุ มันอาศัยซึ่งกันและกันมีและเกิด

พุทธศาสนาชี้มาให้เห็นธรรมชาติที่มันมีและมันเป็น ว่าสรรพสิ่ง มันอาศัยปัจจัยซึ่งกันและกันเกิด

ไม่มีสิ่งใดเกิดกำเนิดขึ้นมาด้วยลำพังของตัวมันเองได้

เมื่อใจที่ประจักษ์ชัดถึงความจริงแห่งธรรมชาติเช่นนี้

ความหลงงมงายในเรื่องที่คิดว่า สรรพสิ่งเกิดจากการดลบันดาลของผู้ใดผู้หนึ่งนั้น ไม่มี ที่มี มันมีเหตุและผลของเหตุปัจจัยทำให้เกิด

นี่ ตรงนี้ ใจที่เห็นชัดถึงกฏแห่งธรรมชาติข้อนี้ จะทำให้ถอดถอนตัวตน และความยึดมั่นถือมั่น ในเรื่องของความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้ โดยไม่หลงงมงายอีกต่อไป

มนุษย์ผู้ประจักษ์แจ้งแห่งกฏธรรมชาติข้อนี้ ได้ชื่อว่า เป็นมนุษย์ที่เป็น พระโสดาบัน

เข้าถึงกฏแห่งความเป็นจริงของธรรมชาติที่ว่า สรรพสิ่งที่มีที่เป็น ต่างล้วนมีเหตุปัจจัย

เป็นเหตุปัจจัยที่ไหลไปตามครรลองแห่งธรรมชาติ ที่เป็นของมัน เช่นนั้นเอง นั่นก็คือ ตถาตา..

*******************************

พระธรรมเทศนา จากบทธรรม เรื่อง พระกระเหรี่ยง ครูบาอาจารย์ ผู้ทรงคุณ
ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2557
โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง