เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ…อันเกิดจากกายานุสติปัฏฐาน

เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ…อันเกิดจากกายานุสติปัฏฐาน

840
0
แบ่งปัน

ธรรมเหล่านี้มันลึกซึ้ง และแจงให้หมู่เราฟัง มันจะเข้าใจยากนะครับ เพราะมันไปค้านกับการรู้การจำมา

เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ...อันเกิดจากกายานุสติปัฏฐานการรู้การจำมามันก็ถูก แต่มันข้ามช่องว่างแห่งกาลไปอีก และธรรมชาติจิตเรา มันอับปัญญาเรื่อง กาละเทศะแห่งธรรมกันซะด้วย

พวกเราเข้าใจธรรมกันอย่างจดจำ เมื่อพูดถึงเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติแล้ว เราจะเข้าใจว่าหลุดพ้นแล้ว

ที่จริงความหมายมันก็คือหลุดพ้นนั้นแหละ คือ.. หลุดพ้นจากความโง่ที่งมงายว่านั่นใช่นี่ใช่

พูดง่ายๆ ว่าหลุดพ้นจากสมมุตินั่นเอง จึงได้ชื่อว่า เป็นปัญญาแห่งวิมุตติ

สมมุติที่เรายึด เมื่อเห็นแจ้ง มันก็จะเปลี่ยนแปลงอุปาทานนั้น เป็นวิมุตติ

การหลุดพ้นมันหลุดพ้นจากความโง่ในสมมุติเล็กน้อย ไปจนหลุดพ้นจากความโง่อย่างหมดจรด

วิมุตติ..คือรู้แจ้งในสมมุติ แบ่งแยกออกไปอีกคือ มันรู้ได้ด้วยการบรรลุ  รู้โดยไม่ต้องตรึกตรองอะไรเลยก็มี แต่อาศัยเหตุปัจจัยอย่างอื่นประกอบ เรียกว่า เจโต วิมุตติ

ส่วนการตรึกตรอง ผ่านกระบวนการ พิจารณาจนรู้แจ้ง นี่เรียกว่า เป็นปัญญาวิมุติ

สองตัวนี้ เป็นชื่อเรียกของอาการเข้าถึงความเป็นจริงในธรรมชาติ ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า โพชฌงค์ เริ่มต้นจากสติ ที่ได้รับการอบรมมาแล้ว

ปุถุชนทั้งหลาย ย่อมเข้าถึงเจโต และ ปัญญาวิมุตติได้ เมื่อเริ่มดำเนินตั้งสติ เฝ้าสอดส่องกาย

เมื่อไหร่ที่เห็นเวทนาชัด ว่าไม่ใช่เราเป็น หรือกายมันเป็นตัวเรา สามารถแยกย่อย เห็นความจริงอันละเอียดที่ซ่อนเร้นว่า…

อันตัวเจ้าของนี้ กายก็อย่างหนึ่ง เวทนาก็อย่างหนึ่ง ผู้เห็นอาการทั้งหลายนี้ ก็อย่างหนึ่ง

เมื่อมันประจักษ์ใจเช่นนี้ จะมีเจ้าของหรือไม่มีเจ้าของ จิตก็จะเสวย วิมุตติ มันวางอุปาทานไปตามกำลังแห่งปัญญา

เพราะเป็นวิมุตติที่ออกมา จากสมมุติคืออุปาทาน ว่าเป็นตัวเรา เขา สัตว์ บุคคล สิ่งของ

แท้จริงแล้ว มันเป็นของมันเช่นนั้น ไม่มีใครไปเป็นเจ้าของ แต่ที่มีเจ้าของ มันเกิดจากโปรแกรม เวทนาที่อาศัยผัสสะตัวนี้

นี่..เรียกว่า เป็นผู้มีเรือนกายอันต้องธรรม เกิดเป็นวิมุตติขึ้นมา เข้าใจว่า สรรพสิ่งทั้งหลาย มันมีเหตุปัจจัยทำให้เกิด ไม่ใช่อยู่ๆ กูเกิดหรือกูเป็น

นี่…แม้จะเป็นคนทุศีล เป็นคนหยาบ เป็นคนไม่ดี เป็นคนไม่เอาไหน แต่ถ้าใจได้ต้องกับธรรม อันเป็นเจโตและปัญญาวิมุติ

ธรรมนี้ จะมาสางใจเขาให้บริสุทธิ์ได้เอง โดยไม่ต้องให้ใครมาบงการหรือพยากรณ์ พระพุทธองค์ ทรงตรัสเช่นนั้น

นี่..เรียกว่า มนุษย์ธรรม เป็นมนุษย์ขั้นใจที่เป็นศีลเต็มตัว เป็นผู้ตัดสังโยชน์ได้สามประการ เป็นอย่างน้อย

คือรู้ชัดว่ากายนี้ อาศัยเหตุและผลเป็นปัจจัยก่อเกิด

สอง..ไม่สงสัยอะไรอีกแล้ว เพราะมันเด่นชัดประจักษ์ใจ

สาม.. ความงมงายทั้งหลายที่ไร้เหตุผล ใจมันวางหมด ไม่ว่าจะเป็นข้อวัตรปฏิบัติ เรื่องลี้ลับเกินจริงทั้งหลาย มันว่ากันตามเหตุตามผล

นี่แหละ ใจมันต้องกับธรรม เป็นใจที่ดำเนินมาทาง โลกุตระธรรม แต่ก็ยังแสดงตัวอยู่ในโลกิยะธรรม เหตุเพราะผลแห่งสังขาร ยังครองรูปอยู่

นี่..การเข้าถึง กายและเวทนา ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ส่วนจิตและธรรม เป็นภูมิที่ต้องมีกำลังแห่งสมาธิ และสติที่ละเอียดขึ้นเข้าไปเจือจาง

เรื่องจิตนี้ เป็นวิปัสสนาญาณ ในขั้นศีลที่เป็นสมาธิ และมีปัญญาญาณเป็นองค์ประกอ

เพราะการที่จะไปวินิจฉัย โปรแกรมแห่งเวทนา ว่ามันอย่างนี้อย่างนั้นตามคิดเอามันไม่ได้ เช่นนั้นมันจะเป็นตัวตน ที่ยังไม่พ้นภูมิแห่งการเข้าสู่ผลของวิมุตติ

ภูมิแห่งจิตนี้ เป็นภูมิอนาคามีล้วนๆ ขั้นศีลปัญญาเข้าไม่ถึง เพราะทั้งหลายที่เวทนามี มันอาศัยจิตที่ปรุงขึ้นมาเป็นตัวสมมุติทั้งสิ้น

สมมุตินี้นี่แหละ จิตมันไม่รู้ว่ามันคือสมมุติ เมื่อมันเต็มภูมิ มันก็จะเลื่อนภูมิเข้าสู่ขั้นธรรม มันรู้ธรรมทุกอย่างละทีนี้ ทุกเรื่องรู้หมดแจ้งหมด เหลืออยู่ภพภูมิเดียวที่มันไม่รู้ นั่นก็คือ ตัวมันที่รู้

ตรงนี้อยู่ในภูมิธรรม ที่ต้องอาศัยมหาสติมหาปัญญาเข้าไปร้อยเรียง หากไม่มีผู้ชี้ และกายแตกก่อน ก็ไปสถิตย์อยู่อีกภพเดียว โดยไม่ต้องลงมาเกิดกำเนิดให้มีกาย

แต่ถ้ามหาสติมหาปัญญามันตีได้ เข้าถึงตัวรู้ทั้งหลายที่เป็นกู มันก็จะถอดถอนอุปาทาน แห่งอวิชชาในอัตภาพนี้ เหลือแต่ที่มีกู เพราะเหตุมันเสือกมี ก็อยู่ๆ กันไปแบบกูๆ ก็แค่นั่น

นี่….จิตที่เป็นวิมุตติทั้งดวง มันจะกล่าวธรรมอย่างอหังกาเลยว่า..

” สรรพสิ่งล้วนมีเหตุ เหตุนี้คือสมมุติ

ดับเหตุคือวิมุตติ

สมมุติคือตัวอวิชชา

อวิชชาเป็นที่มาแห่งเหตุทั้งปวง ”

นี่คือธรรม ในหลักผลแห่งสติปัฏฐาน อาศัยอริยาบททั้งสี่ เป็นเครื่องดำเนิน เย็นนี้ ขอสาธุคุณ….หวัดดีครับ

ว่าจะโม้กันเป็นประโยคต่อประโยค แต่น้องๆ บอกว่า กลัวทำงานไม่ได้ เพราะจะติดตามอ่าน

เดี๋ยวเจ้านายแช่งเอา จึงโม้มาพรืดดดดดเดียวเลย ดีไหมอย่างนี้

>> คำถาม : ท่านอธิบายได้เป็นกันเองมากเคยไปนั่งเรียนอภิธรรมที่บ่อกบรู้สึกว่าจริตไม่ตรงกันกับอาจารย์ผู้สอนเลยเรียนไม่ได้รู้สึกเครียดเพราะอธิบายแต่สภาวธรรมสภาวจิต ภูมิจริตยังเข้าไม่ถึง

<< พระอาจารย์ : ที่อธิบายเมื่อกี้สองท่อนนั้นแสดงให้ผู้รู้ผู้หนึ่งฟังครับ แค่ชี้ให้เห็นโดยสรุปว่าแนวทาง แห่งสติปัฏฐานสี่นั้น ไม่ใช่แคบเฉพาะอย่างที่ท่านรู้จากตำรา

นี่ชี้ให้เห็นเหตุและเส้นทางการดำเนินไปสู่จุดหมาย ว่ามันเป็นอย่างนี้

ไม่ใช่ว่า มาอธิบายความหมายเป็นข้อๆ ซึ่งหากจะอธิบายเป็นข้อๆ มันก็จะขยายจนเข้าไม่ถึงอีก หากย่อๆ ก็ไม่เข้าใจ

ส่วนการปฏิบัติ นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ธรรมวันนี้จึงเป็นความรู้ที่ลึกลงไป แต่ก็ใช่ว่าจะตามรู้ยาก

ที่ไม่ได้อธิบายเรื่องจิตและธรรมอย่างละเอียด เพราะเราจะพากันมึนและเอียนธรรมกันเปล่าๆ

เอากันพอเหมาะสำหรับภูมิเรา ก็เป็นวาสนาแห่งธรรมที่ได้มาพบเจอกันแล้ว เพราะพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า..

ผู้ดำเนินมาทางธรรมนั้นมีน้อยนิด เรา..อยู่ในกลุ่มน้อยนิดที่ท่านกล่าวถึง โปรดจงภูมิใจ…

พระธรรมเทศนา จากบทธรรม เรื่อง กายานุปัสนาสติกรรมฐาน…. อธิบายตามธรรมป่าๆ ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง