จากเรื่อง ได้ดี…ต้องฝ่าความตาย กับคำถามแห่งความข้องใจ

จากเรื่อง ได้ดี…ต้องฝ่าความตาย กับคำถามแห่งความข้องใจ

1079
0
แบ่งปัน

มีคำถามมาว่า… เรื่องที่โม้นี้ ทำไมแต่ละท่านจึงไม่ได้เจอกัน เหมือนๆ กัน นี่เป็นการโม้เอาหรือเปล่า ขอตอบว่า ถึงบอกว่าจริง หากใจมันยังคิดว่า เรื่องแบบนี้มันไม่มี ตอบจริงยังไงมันก็ไม่จริง

จากเรื่อง ได้ดี...ต้องฝ่าความตาย กับคำถามแห่งความข้องใจแต่หากเราฟังกันหนุกๆ จะจริงหรือไม่จริง มันก็แค่อากาศ พูดคุยกันไปตามประสาพี่ๆ น้องๆ อย่างนี้

จริงไม่จริง ไม่ใช่ปัญหา ธรรมที่เสาวนา ทั้งในแง่ธรรมและความตื้นลึกแห่งธรรม ที่ขยายมาในแต่ละเรื่อง

คนมีปัญญาจะเห็นว่า มันลึกซึ๊ง อย่างไม่เคยเจอมาก่อน นี่เป็นเพราะประจักษ์ใจเช่นกัน มันจึงโม้ธรรมออกมาได้ทุกข้อความธรรม ที่มีอยู่ในตำรา

ตรงนั้นก็น่าจะแปลกเหมือนกันน้อ แปลกว่าเรื่องเผชิญทางจิตกว่าไหนๆ เพราะเรื่องแปลกๆ ใครๆ ก็เผชิญกันได้ โม้เพ้อเจ้อก็ได้ แต่งเอาก็ได้

แต่นัยยะแห่งธรรม มันเป็นเรื่องปัญญาล้วนๆ การเข้าถึงได้ ต้องมีปัจจัยและองค์ประกอบหลากหลาย เหล่าโจร โม้ออกมาสดๆ ไม่ได้ ใจมันไม่เห็นธรรม

จะอธิบายว่าทำไมถึงแต่ละคน ถึงเผชิญกันมาไม่เหมือนกัน เพราะได้ตอบคำถาม ให้น้องคนหนึ่งไปเป็นการส่วนตัว

คำถามที่ว่า ทำไมพระผู้บรรลุบางท่านหรือหลายท่าน จึงไม่นำเอาเรื่องราวอย่างนี้ ออกมาโม้บ้าง หรือว่า ท่านทั้งหลาย เอาแต่ภาวนาอย่างเดียว ไม่เอาอย่างอื่น

จึงขออธิบายพอคราวๆ ว่า…..

จริตและวาสนาบารมีในแต่ละคนมันทำมาต่างกัน เราจะเอาความคิดของเราไปคิดเอา ว่าทำไมอย่างนั้น ว่าทำไมอย่างนี้ นี่มันเรื่องความไม่รู้ของเรา

แม้พระอรหันต์เอง ยังแบ่งระดับบารมีจิตหลายระดับเอามากๆ ประเภท สุขวิปัสโกก็มี วิชาสามก็มี อภิญญาก็มี ปฏิสัมภิทาญาณก็มี

และในแต่ละระดับ ก็ยังแยกย่อยออกไปตามบารมีที่สะสมมาไม่เท่ากันอีก ฉะนั้นสิ่งที่เราคิด เราแค่คิดเอา แต่เราไม่ได้รู้ในความคิดนั้น ถึงรู้ ก็เป็นแค่หวานความรู้ ใช่ว่าจะเป็นผู้รู้ความหวาน

ประสบการณ์ทางจิตในแต่ละท่าน แม้ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ หรือแค่พระโสดาบัน หลายท่านก็เคยเผชิญเรื่องราวแปลกๆ ทางจิตกันมากหลาย ไม่จำเป็นต้องเป็น พระอริยเจ้า แม้คนทั่วไป ก็เผชิญได้ หากผลวิบากมาให้ผล ตามจริตแห่งวิบาก

พุทธศาสนา ดำเนินมาทางปัญญา สิ่งนอกเหนือจากนี้ เป็นภาวะทางจิต ซึ่งแต่ละคน มีวิบากการเผชิญไม่เหมือนกัน เพราะสร้างและกระทำมา ไม่เหมือนกัน

บางท่านเผชิญมามากมาย แต่พูดไปไม่มีใครเชื่อ เขาจะปรามาสเอา จึงไม่พูดไม่เล่าก็มี

บางท่านไม่เผชิญอะไรเลย จึงไม่มีเรื่องประสพการณ์แปลกๆ ที่จะพูดก็มี

การเข้ามาสู่เพศบรรพชิต ใช่ว่า จะก้มหน้าก้มตา หลับตาภาวนา นั่นมันคิดเอาเองแล้ว

เอาการปฏิบัติด้วยท่าทางมาเป็นเครื่องตัดสิน หากผู้ถูกตัดสินโง่ มีแต่ท่าทาง มันก็โง่หลายอยู่เช่นนั้น มันฉลาดขึ้นมาไม่ได้หรอก

บางท่านไม่ได้ทำอะไรมากนัก แต่ก็เข้าถึงธรรมได้ นี่..ก็มีมากโข เรามันแค่นักคิดเอาว่า ว่าอย่างนั้น ว่าอย่างนี้ ความคิดนี้ อย่าไปยึดกับมันนักเลย

เราฟังเราอ่านหนุกๆ ก็พอ จริงไม่จริง ใช่ ไม่ใช่ มันก็เป็นแค่อากาศสำหรับเรา ปล่อยๆ ไป ช่างหัวแม่มันเหอะ แล้วชีวิตเรา จะมีความสุขในอัตภาพยิ่งๆ   ขึ้นไป..

จริงเรา ไม่จริงคนอื่นมันก็มี ไม่จริงเรา แต่จริงคนอื่นมันก็มี มันมีเป็นธรรมดาอย่างนี้ อย่าไปยึดอะไรกับมันมากเลย ว่ามันจริงหรือไม่จริง จริงก็แค่นั้น ฟังเขาว่า ไม่จริงก็แค่นั้น ฟังเขาว่าเช่นกัน เสือกไป ก็ปวดกระโหลกเปล่าๆ เอาหนุกๆ กันก็พอ…ไอ้น้อง

>> คำถาม : ช่องทางเมื่อก่อน กับสมัยนี้ต่างกัน / เมื่อก่อนต้องนั่งล้อมวง จึงจะได้ฟังธรรม ตอนนี้ ล้อมวง ตั้งจิตกันหน้าจอ ได้พร้อมๆ กันเป็นสิบ เป็นร้อยคน เพื่อฟังธรรม / ขอพระอาจารย์เล่าต่อเถิดขอรับ … รอฟัง สาธุ สาธุ

<< พระอาจารย์ : ได้จ้า Fox ด้วยความยินดี หน้าเพจนี้ มีแต่ธรรมเท่านั้น และเป็นธรรมที่ไหลออกมาเป็นธรรมแห่งมุตโตทัย ไหลลงไป สู่ความดับในอัตภาพนี้

การที่จะเข้าไปรู้อะไรที่มันลึกลับและซับซ้อนได้ มันต้องมีวิบากที่ต้องเผชิญกันมาก่อน เรื่องราวต่างๆ มันจึงจะมาขมวดปม ลงที่ปัญญา

การมีปัญญาได้ และเป็นปัญญาที่มองเห็นความจริงที่ซ่อนเหตุอยู่ มันอาศัยวิบากที่ได้สะสมมา ซึ่งแต่ละคนมันมีไม่เหมือนกัน

เพราะความที่ไม่เหมือนกัน ก็ต้องมาดูธรรมอีกว่า มันเป็นธรรมที่แสดงโดยลอกเขามาหรือ ออกจากใจ ที่เข้าถึงความเป็นธรรมดา คนมีปัญญาย่อมรู้จักแยกแยะ ไปตามกำลังภูมิ

ผู้เข้าถึงธรรมใช่ว่าจะรู้ไปซะทุกๆ เรื่อง แต่ทุกๆ เรื่องที่ไม่รู้ มันลงที่ มันเป็นของมันเช่นนั้นเอง ไม่ต้องเสือกทุกเรื่องก็ได้ เพราะมันอาศัยเหตุปัจจัยกันอยู่

เรายื่น ไอโฟนห้าให้พระอรหันต์ ปฏิสัมภิทาญาณ มันก็คงเป็นแค่วัตถุเหมือน ไม้ท่อนหนึ่ง เพราะเปิดและเล่นไม่เป็น

แม้พระอรหันต์ หากจะรู้สิ่งเหล่านี้ มันก็ต้องให้ผู้ไม่เข้าถึงธรรมที่เขารู้ สอนให้เช่นกัน ใช่ว่าเป็นพระอรหันต์ ต้องรู้แม่งทุกเรื่อง

บางคนเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แต่อธิบายไม่ได้ มักจะกล่าวว่า สิ่งที่เข้าใจนั้น เป็นเรื่องปัจจัตตัง ความเข้าใจแบบนั้น มันเข้าใจอย่างไม่แจ้ง ยังโง่หลายอยู่ เป็นแค่เข้าใจและรู้ ด้วยตนเองที่อธิบายไม่ได้ เป็นแค่รู้อย่างแง่มุมใด แง่มุมหนึ่งเท่านั้น

รู้อย่างนั้น หากเจอผู้รู้ ย่อมตายสนิท เพราะไม่รู้จริง เพราะแม้โจร ก็กล่าวได้ว่าสิ่งซ่อนเร้นทั้งหลาย เป็นเรื่อง ปัจจัตตัง เขารู้ได้แต่คนอื่นรู้ไม่ได

ปัตจัตตัง เป็นความรู้เฉพาะตน หากความรู้นั้น เป็นรู้แจ้งแทงตลอดสาย ปัจจัตตังนั้น ก็เป็นวิทยาศาสตร์ สามารถ อธิบายได้ ด้วยเหตุด้วยผล มีการคำอธิบายชี้แจงให้ผู้อื่นเห็นแจ้ง ในปัจจัตตังนั้นได้ นี่ความหมายของผู้รู้แจ้งแห่งปัตจัตตัง

ไม่งั้น พระธรรมคำชี้แนะก็คงไม่มี เพราะธรรมทั้งหลายเป็นเรื่อง ปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน

โจรเท่านั้น ที่บอกว่า รู้ยาก ตามยาก อธิบายไม่ได้ หากอธิบายไม่ได้ ย่อมไม่ใช่ปัญญารู้แจ้ง แห่งปัจจัตตัง มันเป็นปัจจัตังอย่างคนไม่รู้จริง เมื่อไม่รู้จริง ก็อธิบายไม่ได้ บอกไม่ถูก ว่ามันเป็นอย่างไร

เมื่ออธิบายไม่ได้ บอกไม่ถูก แล้วมาบอกว่า ธรรมทั้งหลาย เป็นเรื่องปัจจัตตัง นี่มันพวกโง่หลาย มันใช้วิธีหาตัวรอดกัน

ขึ้นชื่อว่าธรรม แม้ซ่อนลึกลับเร้นแค่ไหน ผู้มีปัญญา ย่อมคลี่คลายออกมาให้เห็นได้ ดุจเปิดของคว่ำให้มันหงายขึ้นฉันนั้น

เพราะผู้รู้แจ้ง ย่อมเห็นเหตุ ย่อมเห็นผล ย่อมเห็นกาล ย่อมเห็นความเป็นจริง ว่าธรรมชาติในแต่ละสิ่ง มันอาศัย เหตุปัจจัตจัย สืบๆ กันมา

ไม่ใช่ว่า จู่ๆ มันจะเกิดกันขึ้นมาเองซะเมื่อไหร่  หากแจ้งจริง ย่อมมองเห็นและชี้ชัดได้ เพราะเหตุแห่งนัยยะ มันฟ้องและแสดงผลอยู่ ทำไมจะอธิบายไม่ได้ เพราะคำอธิบาย มันก็อธิบายมาจากการรู้แจ้งนี่

สีเขียวก็รู้ว่าเขียว แดงก็รู้ว่าแดง ต้นไม้ก็รู้ว่าต้นไม้ มันตื่นขึ้นมาเห็นอยู่ประจักษ์ใจ ใช่ว่าจะตาบอดนอนหลับไหลซะเมื่อไหร่ สำหรับผู้รู้แจ้ง ฉะนั้น ทำไมจะอธิบายธรรมไม่ได้ มันเห็นมันรู้กับใจที่มันประจักษ์อยู่

หากรู้ไม่จริง อธิบายไม่ได้ ผลมันก็แสดงออกอยู่ ว่ายังไม่รู้จริง สิ่งที่ยังไม่รู้จริง จะมาบอกว่ามันเป็นเรื่องปัจจัตตัง มันก็คงโม้หลายๆ อยู่

 

ฉะนั้น ธรรมอันใดเกิดแต่เหตุ ตถาคต กล่าวถึงเหตุและการดับเหตุนั้น ย่อมอธิบายได้เสมอ สำหรับผู้รู้ เพราะความที่รู้เหตุรู้ผล รู้ปัจจัยที่มาแห่งเหตุและแห่งผล ท่านจึงอธิบาย ตามหลักแห่งกฏ อิทัปปัจจยตาได้

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ นี่ ..ธรรมมันเป็นหลักเหตุหลักผลอยู่อย่างนี้ ธรรมจึงเป็นวิทยาศาสตร์ ที่เปิดกว้างให้เข้าไปทดสอบ

 

แต่เมื่อเราทดสอบไม่ได้ เพราะใจมันกว้างภาชนะไม่เพียงพอ เราก็ควรต้องเริ่มเรียนรู้ และเชื่อฟังผู้เป็นปราชญ์

แล้วใครเล่าคือปราชญ์ ในเมื่อเราเองก็ไม่รู้ได้ เพราะพระพุทธองค์ก็ทรงชี้ไว้ในหลัก ของชาวกาลามาชนแสดงไว้ 10 ประการคือ

อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขาพูดต่อๆ กันมา

อย่าเพิ่งเชื่อเพราะการประพฤติปฏิบัตสืบๆ กันมา

อย่าเพิ่งเชื่อ คำเล่าลือ

อย่าเพิ่งเชื่อตำรา

อย่าเพิ่งเชื่อการคาดเดาคาดคะเนเอา

อย่าเพิ่งสุมเดา

อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเข้ากับความรู้แห่งตน

อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขามีภูมิดี พูดดี

อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเหตุแห่งความเป็นครูบาอาจารย์

เท่าไหร่ ครบยังวะนี่ นี่แหละ ประมาณนี้

อ้อ..และอย่าเพิ่งเชื่อและตรึกตามอาการที่เห็น นี่..ครบ 10 เลย ตำราเขาว่าไว้ เรื่องตำราจำไม่ค่อยได้ แต่ถ้าใครด่าแม่นี่ 20 ปีก็จำได้ ความทรงจำมันมักสวนกัน

การที่จะปักใจเชื่อได้ ก็ต้องเชื่อหมดทั้ง 10 ข้อนี่แหละ การเชื่อนั้นจะมาบอกว่า ห้ามเชื่ออย่างนั้น ห้ามเชื่ออย่างนี้ แล้วไม่อธิบายให้เหตุผล ว่าทำไมต้องห้าม อย่างนี้ ย่อมไม่ใช่วถีพุทธ

ท่านได้กล่าวความว่า อย่าเพิ่งเชื่อ แต่ไม่ได้บอกว่า ไม่ให้เชื่อ การอย่าเพิ่งเชื่อ แสดงว่าต้องมีนัยยะธรรม ไม่งั้น โลกนี้ก็เชื่ออะไรไม่ได้เลยซิ มีแต่ความสงสัยตลอด

ฉะนั้น มันต้องมีกุญแจ ไขความเชื่อนั้น กุญแจไขความเชื่อนั้น คืออะไร..??

กุญแจนั้น ก็คือ ผู้พูด เป็นคนมีโลภหรือเปล่า หากเป็นคนยังโลภอยู่ ยังมีความต้องการเป็นไปเพื่อตนเองอยู่ เพื่อพวกพ้องอยู่ แสวงหาด้วยความกำหนัดยินดีอยู่ เป็นไปเพื่อปัจเจกบุคคล

สิ่งที่แสดงออกมาย่อมเชื่อไม่ได้ เพราะเป็นไปไม่ได้ ที่คนยังโลภอยู่ จะไม่ทุศีล จะไม่เบียดเบียน จะไม่ขโมย จะไม่เป็นชู้ และจะไม่โกหก เพราะธรรมชาติของผู้ที่โลภโมโทสัน ย่อมไหลไปกับกระแสแห่งกิเลส ที่ผุดขึ้นมาไ ม่รู้จบจากใจดวงนี้ ตราบเท่าที่ ยังมีสังขาร

ชนเช่นนี้ ย่อมเชื่อไม่ได้ เช่นกัน ผู้ที่ยังโกรธอยู่ ยังอาฆาตพยาบาทอยู่ ไม่ได้ดั่งใจแล้วแสดงออกอย่างไร้เหตุไร้ผลอยู่ เป็นไปเพื่อความเป็นเจ้าอารมณ์อยู่ บุคคลเช่นนี้ ก็ย่อมเชื่อไม่ได้

และกับผู้ที่ยัง หลงอยู่ เป็นผู้ยึดนั่นยึดนี่หลายๆ อยู่ ต้องอย่างนั่นต้องอย่างนี้ ถอดถอนใจตนเองไม่ได้อยู่ เป็นไปเพื่อความโลภ ความโกรธ ความไม่ได้ดั่งใจอยู่ พูดง่ายๆ ว่า ยังยึดหลายๆ อยู่ บุคคลเช่นนี้ ก็ย่อมเชื่อไม่ได้

ในที่นี้ พระพุทธองค์ท่านกล่าวเพื่อยกนัยยะธรรมแห่งความเป็นอรหันต์โดยแท้จริง ของการรู้แจ้งแห่งความเป็นพระพุทธองค์ให้ชาวเมืองกาลามาชน ว่า…

พระพุทธองค์เอง เป็นกษัตริย์ย่อมมีโภคทรัพย์อันมากมาย ทั้งนารี อาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม บริบูรณ์พูลสุขทุกอย่าง แต่พระพุทธองค์ทรงสละ

นี่แสดงว่า พระพุทธองค์ไม่ใช่ผู้โลภ ไม่เป็นไปเพื่อให้ได้มา เพื่อความเสน่หา เพื่อความศรัทธา หรือแสวงหาพวกพ้องใดๆ พระพุทธองค์ย่อมบริสุทธิ์จากความโลภ

พระพุทธองค์เอง ไม่โกรธ แม้มีคนมาต่อว่าด่าทอ แม้มีผู้คนมาให้ร้าย และทำลาย เพราะพระพุทธองค์ เห็นความเป็นจริงชัดแจ้งแล้วว่า…

เหล่าชนทั้งหลายเป็นผู้หลงไหลในสมมุติ บุคคลชนทั้งหลาย ย่อมมีความเป็นธรรมดาของเขาเช่นนั้น ด้วยความแจ้งแห่งธรรมนี้ พระพุทธองค์เจ้าจึงไม่โกรธ

พระพุทธองค์เจ้าเอง ไม่หลง ประเพณีแห่งพราหมณ์แม้ตกทอดกันมายาวนานกว่า 4,000 ปี ในสมัยพระพุทธองค์ ด้วยพระสัมโพธิญา จึงรู้แจ้งด้วยญาณว่า…

ธรรมทั้งหลาย เกิดจากเหตุปัจจัย ไม่ได้เกิดจากการมีใครบันดาล อุปาทานเหล่านี้ ที่จะไปยึด วัตถุ บุคคล สัตว์ สิ่งของ เป็นไม่มี

เพราะธรรมทั้งหลาย มันมีมันเป็นของมันเช่นนั้นเอง พระพุทธองค์ จึงไม่หลงที่จะไปยึด ด้วยความโลภ ด้วยความโกรธ ด้วยความหลงคิดเอาอีกต่อไป นี่ แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ ไม่หลง

บุรุษที่ไม่โลภ ไม่โกรธ และไม่หลง ย่อมกล่าวธรรมไปตามความเป็นจริงที่พบที่เห็น นี่..ท่านเหล่านี้แหละ เชื่อได้ ปักใจได้ เดินตามได้ เพราะเหตุแห่งนัยยะนี้

บ่ายโมงแล้ว วันนี้ ธรรมอย่างป่าๆ ที่แสดงมา คงพอเป็นแนวทางแห่งพวกเราในความเชื่อได้ สิ่งที่แสดงมานี้ พร้อเหตุพร้อมผล สดๆ ออกจากใจ จึงกล่าวได้ว่า นี่คือธรรม

เที่ยงนี้ สวัสดีจ้า…พี่น้องที่น่ารักและใฝ่ธรรม หวัดดี..!!

พระธรรมเทศนา จากบทธรรม เรื่อง ได้ดี…..ต้องฝ่าความตาย ท่อนสุดท้าย ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง