กายคตานุสติกรรมฐาน… ถามตอบ

กายคตานุสติกรรมฐาน… ถามตอบ

862
0
แบ่งปัน

>> คำถาม : กราบนมัสการพอจ. กายคตานุสติ คืออะไรคะ เหมือนกายานุสติปัฏฐานไหมคะ สภาวะเป็นอย่างไรคะ

กายคตานุสติกรรมฐาน... ถามตอบ<< พระอาจารย์ : ของ Warangkana Kalayanapradit…

กายคตานุสติกรรมฐาน เป็นการตั้งกรรมฐาน ในกองพิจารณา กายเรานี้ ตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เรื่อยไป จนถึงเยี่ยว

พิจารณาตั้งแต่ความเป็นของสวยงาม ไปหาความไม่สวยงาม ที่ซ่อนเร้นอยู่ ในความหลงใหลความสวยความงามแห่งรูป เป็นการรับกรรมฐานในระดับจิตพิจารณาในขั้น อนาคามี หากอธิบายก็คงยาวแหละจ้า

เพราะนี่เป็นภูมิของผู้ที่ก้าวมาสู่ขั้นสมาธิแล้ว ตามธรรมดาของผู้บวช ในไทยเรา เมื่อได้ปราวณาตน ขอรับผ้ากาสาวพัตร์เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว

พระผู้ให้กรรมฐาน ก็จะบอกกล่าวกรรมฐานให้ คือ เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ให้ผู้บวชขานรับตาม นี่เรียกว่า การให้กรรมฐาน คือที่ตั้งแห่งใจ ในการนำไปประกอบการพิจารณา

ทีนี้ การบวชและการให้กรรมฐานแบบนี้ ในความคิดเห็นอย่างพระป่าๆ เห็นว่า ยังไม่ถูก และถูก ในบางกรณีของคนบางคนเท่านั้

การขานรับกรรมฐานแบบนี้ มันเป็นแค่ประเพณี เป็นการชี้พิธี ว่าได้เข้ามาบวชแล้ว คือการออกจากเรือน มาสู่การเกิดใหม่ เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น เท่าที่กำลังแห่งปัญญาจะพึงมี

กรรมฐานกองนี้ เป็นหนึ่งในกองกรรมฐาน ทั้งสี่สิบกอง เป็นกองกรรมฐาน ของพวกราคะจริต และพุทธจริต ในขั้นอนาคามีมรรค

คือมาพิจารณา กายนี้ ตั้งแต่สูงสุด คือผม ไปถึงหนังที่ห่อหุ้มต่ำสุดคือ ฝ่าตีน พิจารณาในกายภายนอกนี้ ที่เราหลงใหลว่าสวยว่างาม และยึดมั่นในตัวตนคนเรานี้ ว่ามันสวยมันงาม น่าลูบไล้หลงใหลสัมผัส ตามที่เรารู้สึกนึกคิดหรือเปล่า..??

ไอ้ความงามนั้น ไม่ต้องไปพิจารณา เพราะเราเห็นว่างามและหลงใหลในตัวในตนว่างาม น่าหลงใหลกันอยู่แล้ว ความงามนี้ เรียกว่า สุภะ

ในกรรมฐานกองนี้ ชี้ไปที่ สุภะ คือ ความงามอันน่าหลงใหลนี้ มันชี้ไปโดยการพิจารณา หาความไม่งาม คือ อสุภะ ที่ซ่อนตัวอยู่ให้เห็นให้เจอ ให้ประจักษ์ชัดแจ้งเพื่อการถอดถอน

>> คำถาม : แล้วมานะนี่ ใช้กรรมฐานอะไรเป็นตัวทำลายขอรับ พอจ.

<< พระอาจารย์ : มานะนี่ เป็นกำลังขั้น ปัญญา ใช้วิปัสสนาญาน ในการถอดถอน …รัตนตรัย

และมานะนี้ มันมีตั้งแต่หยาบๆ ขั้นปถุชน ไปจนถึง มานะในขั้นละเอียด ในระดับ อรหัตมรรค คือเครื่องร้อยรัดในสังโยชน์ อีก ห้าตัว

มานะนี้ เป็นเรื่องของจิต ที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จักจบอยู่แล้ว ต้องใช้หลักอริยสัจ มาเป็นเครื่องดำเนิน ไม่ได้เอากรรมฐานกองใดกองหนึ่งขึ้นมาแก้

เพราะมานะนี้ ถือเป็นเจตสิกแห่งภาวะอารมณ์ ต้องใช้สติเป็นเครื่องตรอง มันจึงจะทุเลาเบาบางและจางคลาย

แต่เมื่อถึงที่สุด จะรู้ได้ว่า ความจริง มานะ ไม่มีอะไรมากำจัดออกไปจากใจได้ เพราะมันเป็นเครื่องอยู่ ของอาการแห่งจิตที่ต้องอาศัย โปรแกรมแห่งสังขาร

เรื่องมานะนี้ ต้องอธิบายแยกออกไปอีก เพราะมันมีพี่น้อง สามตัวคือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ เมื่อมีโอกาส ค่อยมาอธิบายครับ วันนี้ขออธิบาย กายคตานุสติกรรมฐานพอสังเขปก่อน ตามภาษาป่าๆ

ผู้ที่เห็นอสุภะ ในสุภะ อย่างประจักษ์แจ้ง ก็จะคลายความยึดมั่นในรูปที่น่าหลงใหลนี้ ให้ทุเลา เบาบาง จางคลายลงมาได้ ด้วยการ พิจารณาสาวผลที่น่าหลงใหลนี้ ไปสู่เหตุ ว่ามันน่าหลงใหลตรงไหน และมันน่าหลงใหลจริงหรือ

การบวชนี้ หากเป็นสงฆ์ ใช้การถากหัวห่มฝาด เมื่อรับผ้ากาสาวพัตร์แล้ว มีซักกี่คน ที่จะทำ พระนิพพานให้แจ้ง ตามที่ตนได้ปราวณาไว้ ต่อหน้าหมู่พระสงฆ์และต่อหน้า พระปฏิมา อันเป็นสมมุติตัวแทน แห่งองค์พระพุทธชินสีห์

ที่สุด…ส่วนใหญ่ก็ทำลายสัจจะวาจา หลอกลวงตนเองและหมู่สงฆ์ รวมถึงองค์พระปฏิมา เพราะไม่สามารถ รับกรรมฐานแล้วออกไปทำ พระนิพพานให้แจ้ง ตรงนี้ ที่ธรรมอย่างป่าๆ ชี้ว่าไม่ถูกเอาซะเลย

~~ ข้อแรก ภาษาอันที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ ว่าเราบวชมาทำอะไร มันไม่ได้แจ้งใจ ต่อผู้บวช

~~ ข้อสอง ผู้บวช ยังไม่ได้ชัดเจนต่อความที่ใจ มีศีล พูดง่ายๆ ก็คือ ใจยังไม่มีศีล และไม่รู้ว่า ศีล คืออะไร

เอาผ้าที่ยังไม่ได้ซักฟอก ให้ขาวให้สะอาด มาทำการย้อมใหม่ ยังไงๆๆ มันก็เป็นได้แค่ผ้าสกปรก ที่ได้ทำการย้อมสีใหม่ก็เท่านั้น มันก็ย่อมเป็นผ้าย้อมที่มีสีสกปรก

ฉะนั้น การบวช แรกเริ่มควรชี้ไปที่ทำอย่างไร ให้ใจมันรู้จักว่าศีลก่อน เรียนรู้การทำใจให้เป็นศีลก่อน นั่นก็คือชี้เหตุแห่งความละอายใจ ใจที่มีความละอาย มันจึงจะเป็นใจที่เรียกว่า การมีหิริโอตับปะ

คนที่มีหิริโอตับปะ ย่อมเป็นใจที่มีความสำรวม ใน กาย วาจา ใจ ที่สำรวมได้เพราะได้รับการชี้ จากสัตบุรุษ

เมื่อได้ฟังธรรมจากสัตบุรุษ ย่อมเห็นช่องทางแห่งความเป็นจริง ใจย่อมเกิดศรัทธา

ใจที่เกิดศรัทธา ย่อมเกิดการพิจารณา ในเหตุแห่งผัสสะ

ใจที่พิจารณาในเหตุแห่งผัสสะ ย่อมเป็นใจที่มี สติ

ใจที่มีสติ ย่อมเกิดความสำรวม กาย วาจา ใจ

ใจที่เกิดความสำรวม ย่อมเป็นใจที่มี ศีล

ศีลตัวนี้แหละ จะกี่ร้อยกี่พันข้อ มันก็บริสุทธิ์ เพราะมันเกิดความบริสุทธิ์ ที่ต้นขั้วใจ เรียกว่า เป็นผู้มีศีลแห่งวิมุติ ไม่ใช่ศีลแห่งสมมุติ ที่ถือกันเป็นข้อๆ

นี่…การบวช ควรชี้จากตรงนี้ เพื่อก้าวไปสู่มนุษย์ขั้นศีลก่อน คนที่มีศีลประจำใจ และมีดวงตาเห็นจริงตรงตามความเป็นธรรมดา

ก็ได้ชื่อว่า เป็นพระโสดาบัน และ พระสกิทาคามี เราเรียกว่า อริยชน ขั้นศีล มีพระโสดาบัน และสกิทาคามี เป็นชื่อเรียก

ส่วนอนาคามี เป็นภูมิระดับขั้น สมาธิ คือมีสามาธิที่ใจเป็นศีลแล้ว ใจที่พร้อมเต็มภูมิด้วยศีล ก็ควรที่จะได้รับกรรมฐานในกอง กายคตานุสิกรรมฐาน

ส่วนขั้นศีลนั้นควรรับกรรมฐาน คือ พุทธานุสติกรรมฐาน ธรรมมานุสติกรรมฐาน สังฆานุสติกรรมฐาน จาคานุสติกรรมฐาน ศีลานุสติกรรมฐาน เทวตานุสติกรรมฐาน และไปลงที่ มรณานุสติกรรมฐาน

นี่..กรรมฐานเหล่านี้ อยู่ในระดับใจที่เริ่มมาทางศีลทั้งสิ้น เมื่อใจเข้าถึงกองมรณานุสติกรรมฐาน โดยประจักษ์ชัด ย่อมเป็นการตัด สักกายทิฏฐิ ในรูปนี้ ว่า สลายเป็นธรรมดา ยึดมั่นอะไรให้คงที่คงทนไม่ได้เลย

มันสิ้นความสงสัย ในรูปสังขาร และทุเลาเบาบาง ในความงมงาย แห่งรูปกายนี้ ตามกำลังปัญญา ในขั้นศีล เรียกว่าเป็นผู้ตัดสังโยชน์ ได้ สามประการ

คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และ สีลพตตปรามาส นี่..มนุษย์ขั้นศีล เรียกว่าเป็นชาวบ้านชั้นดี

เมื่อผ่านขั้นนี้ หรือปฏิบัติตามแนวทางแห่งศีลนี้ เมื่อมารับกรรมฐานกองที่ แปด คือกายคตานุสติกรรมฐาน มันจึงจะสมภูมิ ของขั้นผู้พิจารณาเพื่อการถอดถอน ความงามในรูป ที่มนุษย์ขั้นศีลยังหลงใหลอยู่

นั้นก็คือ พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไปถึงภายในที่เป็นเยี่ยว แบ่งลึกลงไปเป็น ดิน 20 น้ำ 12 ลม 6 ไฟ 4 โน่นแหละ ต้องหาผู้ชี้ลึกลงไปเรื่อยๆ

นี่..เป็นสักกายทิฏฐิขั้น สมาธิ คือนอกจากกายนี้ สลายเป็นธรรมดาแล้ว มันยังสกปรกโสโครกด้วย นี่..ขั้นสมาธิ ก่อนที่จะผ่านขึ้นไปสู่ สักกายทิฏฐิ ขั้นปัญญา

นี่แหละ การให้กรรมฐานในการบวชของไทยเรา ข้าจึงมองว่า เป็นกรรมฐานที่ให้ข้ามขั้นภูมิจิตไป คือให้ผิดกาล เหมือนเอาไก่ย่าง ให้ทารกแทะ แทนที่จะป้อนนม

สมัยหนึ่ง ท่านปาละ ก็อยู่ศึกษาศีลมาแล้ว 5 ปี จนมีศีลเต็มภูมิ จึงมาขอรับกรรมฐานจากพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ ท่านจึงให้กรรมฐาน คือ เกศา โลมา ฯ คือเรียกว่า กรรมฐาน 5 นี่แหละ ให้นำไปพิจารณา

ที่สุด ก็บรรลุมรรคผล แต่ตอนบรรลุ ตาบอด ด้วยอำนาจแห่งวิบาก โอยย..นี่ บ่ายโมงกว่าแล้ว ขอลาทุกท่านด้วยธรรมสดๆ ยามเที่ยง เท่านี้ ขอความสวัสดีมีชัย พึงบังเกิดกับทุกๆ ท่าน สาธุคุณ ธรรมจากราวป่า..!!!

พระธรรมเทศนา จากบทธรรมเรื่อง ใจที่มี..กรรมฐาน ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง