ดับ….อวิชา ท่อนสาม

ดับ….อวิชา ท่อนสาม

1017
0
แบ่งปัน

..จริตข้านี้แปลกนักหนา ถามว่าแปลกไหม มันก็ไม่แปลกหรอก เพียงแต่ข้าเฝ้าดูมันอีกที

ดับ....อวิชา ท่อนสามอาการและโปรแกรมมันก็แสดงไปตามสันดานจิต ที่จริงข้ารู้อยู่ เบรคๆ มันก็ได้แต่ผู้เฝ้าดูมันไม่อยากยุ่ง ธรรมชาติของมันเป็นอย่างไร ก็ปล่อยไปอย่างนั้น 

เหมือนเราเฝ้าดูหนังหน้าจอ… เราดูเรารู้จักตัวละครทุกตัว นี่นางเอก นี่ผู้ร้าย นี่พระเอก ตัวแสดงมันก็แสดงไปตามบทบาท 

เราผู้ดูมีหน้าที่ดู และนำเอาตัวอย่างบางตอนมาเป็นข้อคิด เพื่อเตือนใจเรา

เราคงไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวละครในจอที่เขาแสดงได้ ตัวละครย่อมแสดงไปตามบทบาทและหน้าที่ ที่ตัวเองโดนโปรแกรมมา จะให้ได้ดั่งใจใคร คงเป็นไปไม่ได้

พฤติกรรมข้านี้ก็เช่นกัน ข้าไม่ชอบเลย บางอย่างมันน่ารังเกียจ แต่ทำไงได้ โปรแกรมจิตมันมีสันดานเป็นมาอย่างนั้น

ถ้าไปดัดมัน เราก็รู้อยู่แก่ใจ ว่ามันไม่จริง เป็นการกระทำขึ้นมาเพื่อให้ดูดี โจรหรือผู้ร้าย มันก็ทำได้ ใครๆ ก็ทำได้ มันเป็นธรรมชาติของการตอแหลอยู่แล้ว

แต่ใจเราเองรับการตอแหลไม่ได้ สัญญาโปรแกรมไม่ชอบ มันมีอยู่ เมื่อใจเรามากระทำซึ่งการตอแหลเอง ทั้งๆ ที่มีสติรู้อยู่ มันก็จะเกิดอาการอึดอัด

 

เหมือนเราเจอคนที่มันมาตอแหลเรา แต่เรารู้การตอแหลนั้น ฉันใด..

ใจที่เห็นอาการแห่งโปรแกรมจิตอยู่ รับตัวเองไม่ได้ ก็ฉันนั้น..

จึงเป็นที่ไม่ถูกใจของคนที่ยึดว่า ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนั้น

 

ข้าแค่เบรคๆ ให้มันพอดีๆ กับการอยู่ร่วมกันในสังคมก็แค่นั้น ธรรมชาติจิตข้ามันผู้ร้าย มันสะสมมาเป็นแบบนั้น

มันเป็นมาก่อนข้าเกิดมาเป็นตัวข้าซะอีก แต่ก่อนไม่เป็นอย่างนี้ อย่างที่พูดก็ดี ทำก็ดี ขัดหูขัดตาคน

นั่นเป็นเพราะการรักษาภาพพจน์จนเกิดความเคยชิน ตามสมมุติของสังคม ทำไปโดยไม่มีสติ ที่มีสติ ก็เป็นสติที่มีตามธรรมชาติ ที่มันเคยสะสมของมันมา

ตัวข้าในอัตภาพนี้ ยังไม่มี และที่สำคัญ ข้ายังไม่รู้จักมัน ตัวจริงของมันที่เกิดกับใจดวงนี้ ยังไม่มี สติแท้ยังไม่มี ทุกอย่างที่ได้ทำไปสมัยยังไม่มีสติ เป็นการทำขึ้นตามสภาวะของตัวตน

อะไรชอบก็ถูกใจไปซะหมด อะไรไม่ชอบก็ไม่ถูกใจไปซะหมดเหมือนกัน ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง ถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ขึ้นอยู่กับอารมณ์ตามเหตุและปัจจัย มันไหลไปตามกระแส

เป็นใจที่มันอ่อนแอ มีตัวตนเป็นผู้ตัดสิน ทำไปตามอำเภอใจ ยึดถูกยึดผิดกับสิ่งที่ตัวเองรับรู้มา ไม่ได้สาวผลไปหาเหตุ ผลแสดงอย่างไร ใจก็ตัดสินไปตามผลนั้น

ไม่เคยพิจารณา ว่าผลทั้งหลายนั้น มันมีเหตุ เมื่อเป็นคนไม่รู้จักเหตุ ความทุกข์ทั้งหลายก็ประดังผลเข้ามา

มันแก้ทุกข์ไม่ได้ ถูกใจแม่งก็ชอบ ไม่ถูกใจ กูก็ไม่ชอบ ใจมันเป็นเจ้าของทุกๆ อย่างในกายนี้

ใจดวงนี้มันโดนคลุมจับกุมด้วยความอยาก แต่ไม่รู้ว่าตัวเองอยาก ที่รู้ก็รู้ด้วยอำนาจของกิเลสที่มีตัวตน เป็นเจ้าของการรู้นั้นโดยไม่รู้ตัว

แล้วจะโพทนาว่า ตัวเองดี ตัวเองถูก คนอื่นไม่ยอมมาเข้าใจเอง เมื่อไม่ถูกใจ คนอื่นๆ ผิดหมด ถ้าถูกใจ อะไรๆ ก็โอเค นี่ใจคนเราธรรมชาติมันเป็นแบบนี้

..พุทธศาสนาชี้ให้เห็นความเป็นจริงของธรรมชาติ ว่ามันเป็นอย่างไร ชี้ให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อรู้จริงได้ มันก็จะได้วางใจได้ถูก  ไม่ไหลวนตามไปในกระแสมากนัก

 

โลภ.. ธรรมชาติของมันคือ..การเอาเข้

โกรธ..ธรรมชาติของมันคือ..การเอาออก

และทั้งโกรธและโลภ เป็นอาการหนึ่งของการ หลง..!!

ทั้งสามตัว เป็นอาการแห่งจิต มันหล่อเลี้ยงกันมาไม่รู้จะกี่แสนกี่ล้านชาติ ต้องเรียกว่าอนันตชาติ หาจุดเกิดกำเนิด และสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้…!!

 

ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายโลภ คือ การก่อ   ฝ่ายดับ คือ การโกรธ

นี่..ฟังดูแล้วมันแปลก แปลกเพราะเราคิดไม่ถึง เราหมายความโกรธว่า เป็นความดุร้าย อาฆาต พยาบาท

โกรธนี่แหละคือพลัก ดันออก ไม่เอา ดับไป ไม่ก่อ สงบ สงบนี่แหละคือ ธรรมชาติของโกรธ

มันไม่เอาความเดือดร้อน ไม่สงบชอบสร้างความเดือดร้อน นี่ก็โกรธ เป็นธรรมชาติของโกรธอีกเช่นกัน

มันมีทั้งฟากที่เย็นจัด และฟากที่ร้อนจัด อยู่ที่ใจจะเอนเอียงไปทางไหน สงบก็กิเลส ไม่สงบก็กิเลส

เพราะมันเป็นอาการแห่งโกรธ เป็นธรรมชาติของจิตอย่างหนึ่ง เพียงแต่เราไม่เรียกว่าโกรธ เราใช้สมมุติอย่างอื่นแทน

เพราะความไม่รู้เป็นเหตุ ความไม่รู้นี่แหละคือ ..อวิชชา.. อวิชชาก็คือ ตัวหลง หลงยึดทุกอย่างว่า ใช่หรือไม่ใช่ โกรธเป็นอาการแห่งหลง โลภก็เป็นอาการแห่งหลง ทั้งหมดเกิดขึ้นได้เพราะ การผัสสะเป็นเหตุ

..ข้าเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีอาการแห่งจิตปรุงแต่งมาอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้ข้ารู้จักมัน ใจมันไม่ได้ไหลไปตามกระแสแห่งผัสสะ

ที่แสดงออกว่าไหล มันมีผู้เฝ้าดูอยู่ กำลังดูบทบาทที่มันแสดง ข้าไม่ห้ามมันหรอก เอากันแค่พออยู่ได้ จิตที่มันหล่อหลอมมาในฟากจัญไร มันก็แสดงออกไปแบบจัญไร

ก็เมื่อก่อนไม่รู้นี่ เลยกดมันไว้ ผลก็คือ แทบทุกคนเห็นว่าข้าดี เป็นเพื่อนที่ดี พ่อที่ดี และเป็นลูกที่ดี ดีเพราะทำมันขึ้นมา ตามที่โลกเขาว่า และตัวกูก็ว่า

ไม่ได้กระทำไปตามธรรมที่มันมีและมันเป็นมาตามธรรมชาติ เพราะเราไม่รู้จักธรรม อะไรคือธรรม

เราไม่รู้จัก ที่รู้จัก มันเป็นธรรมชาติของโลกที่เขาสมมุติกัน และเป็นธรรมชาติของเราที่สมมุติกัน

และเราไม่ได้รู้จักอย่างแท้จริงว่ามันเป็นสมมุติของชาวโลก และเป็นสมมุติของตัวเราที่ว่าไปตามโลก

ธรรมที่แท้จริงจึงไม่เกิดขึ้นมาในหัวใจนี้ เรามัวแต่ปิดตา ว่าไปตามโลก และมัวแต่ปิดตา ว่าไปตามใจตัวเอง เราไม่มีดวงตา ว่าไปตามธรรม

ใจนี้เมื่อมาเห็นธรรม มันก็เห็นแบบเหนือโลก เห็นแบบเหนือตัวตน มันเห็นธรรมชาติที่มันมีและมันเป็น มันไม่ได้เห็นอย่างที่เราเห็น

มันเห็นลึก เห็นทุกมุม ที่ใจดวงนี้ และธรรมชาติแห่งใจใดๆ ที่มันเป็น รูปนี้กายนี้มันเลยพิลึกกึกกือ แสดงออกไม่เป็นไปตามใจใคร

เราเห็นใครแสดงยังไง เราก็เห็นใจเราแสดงออกมาเช่นนั้น เราเห็นใครๆ เราก็เห็นใจเราอย่างที่เห็นใครๆ เหมือนกัน

บางอย่างมันจึงน่าอดสูสำหรับใจเรา เรามองเห็นความเลวที่ใจมันประกอบกันขึ้นมา เหมือนเราเห็นคนอื่นที่เขาทำกัน

เราไม่ชอบใจดวงนี้เลย แต่เราต้องยอมรับมัน ว่ามันเป็นของมันเช่นนี้ อย่าไปหวังให้ถูกใจใคร มันเป็นของมันเช่นนั้นเอง

พระอรหันต์เจ้า ท่านรู้จัก โกรธ ท่านรู้จัก โลภ ท่านรู้จัก หลง ท่านจึงไม่ได้ไหลไปกับ โลภ โกรธ หลง ที่ใจมันแสดง

เพราะท่านรู้ว่า นี่มันเป็นอาการหนึ่งของจิต ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เมื่อไม่มีใครเป็นเจ้าของ ก็ไม่ใช่หน้าที่ของใครที่จะต้องไปตัด ไม่ใช่หน้าที่ของใครที่จะต้องไปปล่อย ไปวาง ผู้รู้ ผู้วาง ผู้ว่าง อยู่ที่ไหน นั้นแล…แดนกำเนิดแห่งภพ!!!

มันเป็นอุปาทาน มีความเป็นเจ้าของแห่งตัวตน ยังหลงอยู่เต็มภูมิใจ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พยายามตัด โลภ ตัดโกรธ ตัดหลง

พระอรหันต์ท่านไม่ตัด ถ้าท่านไล่มาเป็นลำดับขั้น จนเป็นพระอรหันต์ ท่านก็จะรู้ว่า กูนี่โง่ตัดมายาวนาน ตัดให้ตายเป็นจอมโคตรอรหันต์ มันก็ตัดไม่ได้

มันเป็นของมันอย่างนั้น ไม่มีใครไปเป็นเจ้าของ แล้วใจจะไปเดือดร้อนกับมันทำไม มันเป็นแค่อาการปรุงแต่งแห่งจิต เรียกว่า..จิตสังขาร

มูลเหตุมัน ก่อกำเนิดมาจาก อวิชชา และอวิชชาเป็นที่มาของอาการแห่งเหตุทั้งปวง อวิชชาไม่มีผู้ดับ และอวิชชาไม่มีผู้ก่อ อวิชชาเกิดกำเนิดมาจากเหตุและปัจจัย ระหว่างธรรมธาตุกับธาตุทั้งสี่

อวิชชาก่อกำเนิดเกิดมาด้วยประการละฉะนี้ วิธีแก้อวิชชาเบื้องต้นคือ ..ช่างแม่งมัน..

และต้องช่างแม่งมัน ด้วยสติที่ไม่รำคาญ ช่างแม่งมันจึงจะแก้ อวิชชาได้……!!!

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2556 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง