พุทธวจน…ท่อนแรก

พุทธวจน…ท่อนแรก

674
0
แบ่งปัน

*** “พุทธวจน…ท่อนแรก” ***

นี่..เพิ่งโม้ไปสดๆ  เมื่อกี้ จึงเอามาลงในหน้าเพจนี้ของผู้เฒ่า

หวัดยามเช้า ตื่นๆๆๆๆๆ เช้านี้น้องๆ นอนกันเต็มศาลา นอนฉีกแข้งฉีกขา น่ารักดี มาๆๆๆๆ วันนี้ ข้าจะพูดเกี่ยวกับเรื่อง พุทธวจน 

พุทธวจน ในความหมายของผู้เฒ่า อย่างข้านี้ ย่อมว่าไปตามภาษาป่าๆ เพราะข้าไม่ค่อยได้อ่านกับเขาหรอก ในป่า ไม่มีตำรา มาให้ยึดนัก

เมื่อวานนี้น้องเขาส่งข้อความมาให้ เกี่ยวกับข้อความต่างๆ ของผู้เกี่ยวข้อง จึงแสดงทัศนะไป แต่ก็มีผู้ให้ข้าจำแนกแยกย่อยออกมาอีก เป็นการส่วนตัว

เช้านี้ ก็จะโม้ พุทวจน ตามภาษาป่าๆ ให้ฟัง ความหมายแห่งคำว่าพุทวจนนี้ เป็นความหมายจาก คำตรัสจากพระโอษฐ์

สมัยหนึ่ง ข้าเอง มีความเชื่อว่า พระพุทธเจ้าน่ะ.. ไม่มี

ที่มีเป็นเรื่องของปราชญ์โบราณ ท่านรสจนา พอกพูนเอาไว้ และแต่งเรื่องขึ้น เพื่อให้เกิดที่พึ่ง ทางศาสนา นี่..ข้ามีความคิดเช่นนี้ แต่ไม่ได้คัดค้านใคร และชักชวนใครให้เห็นด้วยนะ

เพราะธรรมชาติแห่งข้า มันโต่งและดื้อรั้น หากไม่ประจักษ์ชัดกับตนเอง ข้าไม่ลงใจให้หรอก ตามสันดานนิสัยเสีย เหมือนพวกโต่งธรรม ทั่วๆ  ไป

แต่ที่สุด.. ข้าก็มั่นใจได้ด้วยตนเองได้ และกราบลงอย่างสนิทใจ ว่าพระพุทธเจ้านั้น… มี

เมื่อมี จึงเริ่มศึกษา จึงเห็นว่า หลายเรื่องที่เขียนขึ้นมา เป็นเรื่องที่แต่งพอกพูนให้ยิ่งๆ เข้าไว้ ไม่เป็นความจริง และเป็นจริงที่ขวางโลก

อย่างเรื่อง พุทธศาสนา 5,000 ปี ก็ยังมี หลายๆ ทัศนะ หลากอรรถาจารย์ ให้ความหมาย ที่เรียกกันว่า ” นยัตถะ “

ท่านก็เล่นแปลกันด้วยความเข้าใจของตัวท่านเอง เรียกว่า แปลผิดเจตนา จากสัจธรรมแห่งความหมาย ที่พระพุทธองค์ทรงชี้เลยทีเดียว

ซึ่งมันเป็นธรรมดาของ ตำราทางศาสนา ที่ผู้รสจนาต้องแต่งพอกพูนเพิ่มเติมเสริมแต่งลงไป เพื่อสร้างความเชื่อถือ

 

ตรงนี้ หากเรามีปัญญา เราก็พิจารณา แยกแยะได้ด้วยตัวเราเอง แต่หากเราขาดการพิจารณา เราจะยึดและคิดว่า ทุกเรื่องเป็นความจริง

ผู้มีวิสัยปราชญ์ ย่อมแยกแยะ ไปตามภูมิเหตุวิสัย ไม่ได้เชื่อหรือคล้อยตามไป ซะทุกเรื่อง

 

แต่ถ้าเป็นภูมิ วิสัยเปรต ภูมิพวกนี้ เชื่อและยึด อย่างไม่ลืมหูลืมตาทีเดียว ตำราก็คือตำรา มันผ่านการ สังคยานา มาอย่างมากหลาย

เราควรเสพควรอ่าน.. อย่างผู้ตรึกตรอง ไม่เช่นนั้น วิสัยพาล มันจะเอาตำรา เป็นอาวุธฟาดฟัน ผู้อื่น ด้วยทิฏฐิตน ตำราในพุทธศาสนา เมื่อมีการสังคยานา ก็ย่อมจะมีการ เปลี่ยนแปลง ไปตามเหตุและปัจจัยของผู้สังคยานา

ตำราเหล่านี้ เป็นแค่เครื่องชี้ทาง  เราบรรลุมรรคผลจากตำราไม่ได้  มันขาดเหตุปัจจัย คือกาล ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้อ่านไม่รู้ว่า คนโบราณ ท่านกล่าวธรรมออกมา มันอยู่ใน กาล กับใคร ภูมิจิตอะไร มันหลากหลายเหตุปัจจัยมากๆ

ทำให้เราเข้าไม่ถึงตัวธรรม ที่ตรงกับเหตุปัจจัยเรา จึงกลายเป็นว่าเรา ยึดทุกอย่างในตำรา ว่าเราเป็นตามตำรา ไปซะเลย ใครกระทำผิดไปจากตำรา นี่..ผิดหมด

ในพระไตรปิฏก ที่เรายึดนำมาใช้ สมัยนี้ มีการถกเถียงกัน เกี่ยวกับเรื่อง.. พระธรรมวินัย

พระธรรมวินัย ในพุทธศาสนา กล่าวกันเกี่ยวกับเรื่องศีล มีศีลของ ภิกษุ และภิกษุณี คือ 227 ข้อ และ 311 ข้อ ในที่นี้ จะพูดถึงศีล ของภิกษุ

ศีลทั้ง 227 ข้อนี้ หากกล่าวกันตรงๆ ตามภาษาป่าๆ ไม่ใช่ศีล ที่ผู้ทรงคุณ แห่งอริยชน จะยึดเอามาเป็นข้อศีล เพื่อประกาศว่า ฉันมีศีล

ข้อศีลเหล่านี้ เป็นข้อศีลที่ทางพุทธศาสนา ตั้งกำแพงขึ้นมา เพื่อรักษา เหล่ากุลบุตร ที่เป็นทายาทภูมิ ในการที่จะก้าวเขาไปเป็น ผู้นิรทุกข์

เพราะข้อศีลเหล่านี้ ทั้ง 227 ข้อ เป็นข้อศีล  เพื่อล้อมคอก พวกนอกศาสนา เหล่าเดียร์ถีย์ ไม่ให้เข้ามา สู่ความเป็น อารยชน สู่ความเป็นทายาทแห่งกุลบุตร ผู้มุ่งไปสู่ความเป็นผู้นิรทุกข์

ศีลเหล่านี้ จึงเป็นศีลเฉพาะเพื่อ พวกนอกศาสนา โดยแท้ ไม่ได้เป็นศีลของพระ อริยเจ้า พวกเดียร์ถีย์ จะกอดศีล เหล่านี้ไว้แน่น และนำเอาข้อศีลเหล่านี้ เป็นอาวุธ ฟาดฟัน เพ่งโทษผู้อื่น

ศีลทั้ง 227 ข้อ มีเหตุมาจาก พวกนอกศาสนา ที่เข้ามาบวช ในพุทธศาสนา ประพฤติทำความเสื่อมเสีย ให้แก่พุทธศาสนา ทำให้ผู้คนเกิดการติเตียน มองเห็นว่า สิ่งเหล่านั้น ไม่ควรทำ

บางอย่าง แม้จะเป็นผู้ตั้งใจ มุ่งไปสู่ความหลุดพ้น แต่การกระทำ ก็อาจกระทำให้สงฆ์ทั้งกลุ่ม โดนเพ่งโทษจากผู้คนทั้งหลาย ที่มีความเลื่อมใส ให้คลายความเลื่อมใสก็มี จึงเกิดข้อศีลขึ้นมา เพื่อป้องกัน และบัญญัติ ว่าไม่ควรทำ

ข้อศีลเหล่านี้ พระพุทธองค์เจ้า ไม่ได้ ทรงตั้งกฎข้อศีลขึ้น แต่ข้อศีลเหล่านี้ พวกเดียร์ถีย์ กระทำขึ้นมา แล้วมีผู้เห็นว่า ไม่ควร จึงมาฟ้องร้องต่อพระพุทธองค

พระพุทธองค์ ทรงเรียกมาทำการสอบสวน และว่ากล่าวตักเตือน และได้ทรงกล่าวชี้ว่า ไม่ควรทำ เพราะมันจะเป็นอันตรายต่อการรักษาพรหมจรรย์ ตั้งแต่เล็กน้อย ไปจนถึง ขั้น ปาราชิค คือผู้แพ้

ใจที่แพ้ ย่อมเข้าไม่ถึงธรรมอันบรรลุ แห่งมรรคผลได้ เหล่าผู้เดินตามทางแห่งพระพุทธองค์ จึงนำคำชี้ที่มีมูลเหตุนี้ มาเป็นคอกล้อมใจ

ในสมัย ที่ทรงประกาศ สัจธรรมทางพุทธศาสนา ผ่านไปร่วมยี่สิบปี พุทธศาสนา ยังไม่มีศีลเป็นข้อๆ แต่มีศีลที่เป็น จุลศีล มัฌชิมาศีล และมหาศีล

ซึ่งข้อศีลเหล่านี้ มีเป็นร้อยๆ เป็นพันข้อ ที่แยกย่อย ขยายลึกกันออกไป ซึ่งเป็นธรรมชาติของคน เขากระทำกัน เป็นเครื่องเลี้ยงชีพ และมีความเพลิน กับการเสพกันอยู่แล้ว

ภิกษุในพุทธศาสนา ท่านเว้นขาด จากการกระทำ ที่เป็นความเพลิน และเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีพกันอยู่แล้ว พุทธศาสนา สมัยแรกๆ จึงไม่มีข้อศีล

ท่านใช้ความละอาย ต่อความเป็นเพศพรหมจรรย์ มาเป็นคอกล้อมกั้นใจ ไม่ยอมให้ใจ ไหลออกไปสู่นอกคอก นี่..เป็นศีลแห่ง อริยชน เอาความละอายเป็นที่ตั้ง ตั้งมั่น ในปาฏิโมกข์ศีล

คือ ทำแต่ความดี ไม่ทำชั่ว และรักษาความดีนี้ไว้ ให้เจริญ ยิ่งๆ ขึ้นไป

กุลบุตร แห่งพระอริยะสงฆ์ ท่านรักษาใจ เป็นศีล ท่านไม่ได้ รักษาข้อศีล มาหล่อเลี้ยงใจ

ศีล 227 ข้อ เกิดจากการ กระทำสังคยานา โดยพระมหากัสปะ ในเรื่องของข้อแห่งพระธรรมวินัย มีพระอุบาลี เป็นผู้รวบรวมและวินิจฉัย มีพระอานนท์ เป็นผู้เล่าเรื่อง

ข้อศีลนี้ ใช้เป็นข้อเพื่อกั้นคอก ใจที่มันมักง่าย ของผู้เข้ามาบวชใหม่ และผู้บวชแล้ว ยังเข้าไม่ถึงความเป็น สัจธรรม เพื่อเป็นคอกกั้น รักษาใจตน

เพราะเหล่าพวกเดียร์ถีย์ เข้ามาบวชในพุทธศาสนา มีเป็นจำนวนมาก ด้วยความศรัทธาก็มี ด้วยเพื่ออาศัยอยู่ เพื่อการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ก็มี

ใจที่ยังไม่ได้รับการอบรม ย่อมทำลายองค์กรแห่งสัจธรรม ที่พระพุทธองค์ ได้ทรงประกาศไว้ ให้เสื่อมเสียต่อสายตา ชนทั้งหลายได้

การมีข้อศีล ที่พระพุทธองค์ ทรงห้ามปรามและชี้ไว้ จะทำให้ พุทธศาสนา รุ่งเรืองต่อไปได้ เราจึงไม่ควรทำลาย ข้อศีล ทุกข้อ ที่มีมาแต่โบราณ ที่ท่านทั้งหลาย รักษาสืบๆ กันมา

บางข้อ แม้ไม่เหมาะกับภูมิประเทศเรา แต่เราก็ควรคงไว้ ไม่ควรตัด หรือเพิ่ม เพื่อเป็นการนอบน้อม ต่อองค์พระศาสดา

แม้พ่อแม่เรา บางครั้ง ให้ความคิดเห็น ไม่ถูกใจเรา แต่บุตรที่ดี ย่อมรับฟัง ถึงไม่ยอมรับ แต่ก็ไม่ควรทำลาย เพราะเจตนาทั้งหลาย เป็นไป เพื่อความหวังดีที่พ่อแม่ มีต่อเรา

เรื่องพุทธวจนนี้ อาจคุยกันซัก สองสามวัน จะโม้ให้เห็นถึงการแตกแยก ของเหล่านิกาย และทำไม บางนิกาย ถึงไม่มีข้อศีลแห่งพระธรรมวินัย เช้านี้ ขอสวัสดี

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง