จิต กับ ใจ.. 

จิต กับ ใจ.. 

990
0
แบ่งปัน

….พูดคุยและถกธรรมจากเรื่อง เมื่อไหร่…กรรมจะหมดซะที

หวัดดียามเช้าครับ ทุกท่าน อ่านเรื่องนี้แล้ว ลองย้อนไปอ่าน เรื่อง ผีจะเอาทำผัว หากเราวิเคราะห์เป็น โดยไม่อาศัยใครชี้ เรียกว่า เราเกิดการสอดส่องลงไปในธรรม เราจะเห็นว่า แม้พระอาจารย์ จะมั่นใจ ในความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่นั้น คือความมั่นใจ ไม่เกี่ยวกับจิต ที่ปรุงแต่ง 

จิตมันปรุงแต่ง มันทำงานไปตามกระแสแห่งผัสสะ มันทำหน้าที่ของมันไปตามปกติ เมื่อผีมายั่วยวนที่จะเอาเป็นผัวให้ได้ จิตมันก็ปรุงพร้อมที่จะไปเป็นผัวผี ใจนั้น ไม่เอา เพราะกลัวและละอายต่อบาป ในเพศบรรพชิต แต่จิตมันเอา

ใจก็อย่างหนึ่ง จิตก็อย่างหนึ่ง เราทั้งหลาย เข้าไม่ถึงตรงนี้ มันจึงมีปัญหา ในการเข้าใจธรรม มันมีเราไปเป็นเจ้าของ จิตกับใจ และที่สำคัญ เราแยกจิตกับใจ ไม่ออก เราเหมารวมกันคลุกๆ เคล้าๆ ว่า มันเป็นเรา

เมื่อมีเรารวมๆ กันเป็นเจ้าของ ทุกข์ทั้งหลายมันก็เกิดกับเรา เพราะมีเรา ให้มันเกิด การมีเรานี้ มันก็ต้องมี เป็นปัจจัยเหตุอยู่แล้ว มันต้องฝึกสติพิจารณา เข้าไปทวน หากไม่มีการทวน และยับยั้งด้วยสติ ความเสือกในการมี การเป็น การไม่อยากมี การไม่อยากเป็น

มันก็เกิดคลุมครอบใจ และใจก็จะป้อนโปรแกรมทั้งหลายนี้ เข้าไปย้อมจิต จิตก็เหมือนน้ำใสๆ หนึ่งแก้ว เราจะใส่สีอะไร มันก็กลายเป็นสีนั้น ใส่รส ใส่กลิ่นอะไร มันก็เป็นไปตามที่เราย้อมใส่เข้าไป มันไม่รู้ไม่ชี้ต่อสิ่งใดอยู่แล้ว

เหมือนคอมพิวเตอร์ที่ว่างเปล่า เราจะใส่โปรแกรมอะไรลงไป มันรับหมด และมันก็แสดงผลไปตามโปรแกรมที่โดนใส่ มันย่อมทำงานตามที่ย้อมโปรแกรมลงไป อย่างไม่รู้ไม่ชี้ ความไม่รู้ไม่ชี้ของจิต มันก็เหมือนโปรแกรมในคอมฯ
แล้วเราจะมาบอกว่า คอมฯและโปรแกรมนี้ เป็นเรา ที่แสดงออก มันก็คงเพี้ยนกันเต็มคราบ จิตก็เหมือนกัน มันแสดงออกเพราะมีใจ ไปย้อมโปรแกรม แล้วเราจะบอกว่า จิตนี้เป็นเรา มันก็เพี้ยนๆ อีกเหมือนกัน แต่เราไม่รู้ว่าเป็นการเพี้ยน เพราะเราเหมาว่า มันทั้งหลายเป็นเรา นี่…คืออาการหลง

หลงนี้ เป็นอาการหนึ่ง ที่เรียกว่า ” มโนวิปลาส ” มันแยกแยะไม่ออก เหตุเพราะขาดปัญญา มันเอาจิตมาเป็นตัวตน และไม่เข้าใจ ว่าอะไรคือจิต ที่กล่าวว่า จิตนี้ ประภัสสร นี่มันกล่าวแบบนิยามนักแปล ที่แปลในวลีของสุภัททะ ปริพาชก ในคืนวันปรินิพาน ที่มองดวงจันทร์

ท่านให้นิยามว่า ” จันทร์ ” มันก็งามสว่างกระจ่างใจของมันอยู่แล้ว เป็นเพราะเมฆแท้ๆ มาบดบัง ทำให้จันทร์ อันอร่ามนี้ เศร้าหมอง ชนรุ่นหลังก็เลยโมเมว่า จิตเดิมนี้ ประภัสสร มันบริสุทธิ์ และไม่มีกิเลส ที่มันมัวหมอง เพราะโดนกิเลสเข้าไปย้อม เลยทำให้จิตนี้มัวหมองไปตามกิเลส

วลีนี้ มันมีนัยยะการแปล ที่เราเข้าใจนั้นเป็นเปลือก เราเจาะเข้าไม่ถึงกาล ท่านกล่าวเป็นนิยาม แค่ช่วงกาลหนึ่ง ไม่ใช่หมายถึงความเป็นจิตทั้งหมด ท่านกล่าวเป็นลักษณะ จิต ที่มีเราเข้าไปหลงเป็นเจ้าของ จิต..ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เหมือนเช่นพระจันทร์ เป็นแต่มันมีเรา เข้าไปเป็นเจ้าของ ดุจเมฆ ที่มาสร้างความมัวหมอง ให้แก่จิต

เมฆนี้ คือตัวตน ที่สุด เมื่อโยนิโส จนประจักษ์ใจเช่นนี้ ท่านก็ละอุปาทาน ใจมันถอดถอน การยึดมั่นในตัวในตน บรรลุเข้าถึง สัจธรรมแท้ ตรงนี้ที่ยกตัวอย่างมา จะเห็นว่า จิตก็อาการหนึ่ง ใจก็อาการหนึ่ง

ทีนี้… หากอธิบายแยกย่อยลงไปอีก ว่าจิตอาศัยอะไร เป็นแดนเกิด เป็นแดนกำเนิด และใจ อาศัยอะไร เป็นแดนเกิด เป็นแดนกำเนิด มันก็ต้องให้ผู้รู้และเข้าใจชี้ อธิบายแยกย่อยลงไปอีก หากเราพอเข้าใจ และแยกแยะได้ ธรรมที่แสดงมาอันหลากหลาย มันจะฟ้องตัวมันให้คลายผลออกมา หากเรามีปัญญาเข้าใจ

แต่หากอ่านเอาหนุกเอามันอย่างเดียว มันก็ได้แค่ความรู้ และแค่ผ่านๆ ตาไป มันเข้าไม่ได้ถึงความจริง และแยกแยะไม่ออก มันก็โง่หลายเหมือนเดิม ยิ่งรู้ก็ยิ่งเพิ่มมานะและทิฏฐิ ให้หนาแน่นขึ้นไปอีก ไม่ได้รู้เพื่อเป็นแนวทางถอดถอน

ในเรื่องผีจะเอาทำผัว เมื่อนำมาประกอบกับเรื่องนี้ เราจะเห็นอาการแห่งจิต ว่าเราคุมไม่ได้ ใจไม่ต้องการ แต่โปรแกรมจิตมันปรุงไปตามหน้าที่ของมัน

จึงดูว่า จิตมันยังเอา ซึ่งความเป็นจริง มันก็ต้องเอาของมันอยู่แล้ว มันมีหน้าที่ตามธรรมชาติของมัน ตามสัญญา แต่ใจซิ มันเป็นใหญ่ ในอินทรีย์ เมื่อมันครองสังขารอยู่ มันรู้ดีรู้ชั่ว ตามที่มันอบรมมา ในอัตภาพนี้

 

แต่จิต มันโดยย้อมและอบรมมา นับเป็นอสงไขยชาติ กำลังแต่ชาติเดียวและอบรมมาไม่กี่ปี มันก็เหมือนเอาน้ำหอม เตะปลายนิ้ว ไปกลบขี้ในส้วม มันคงหอมไปทั้งส้วมอยู่หรอก และคนทั้งหลาย ก็มักเข้าใจกันเช่นนี้ เอาตัวตนความคิดเข้าไปเป็น เข้าไปเท็จตัวเจ้าของ ให้หลงไปว่า มันเป็นของมันเช่นเจ้าของคิด นี่แหละ… ความโง่หลาย

 

ใจที่ไม่เอา และไม่ไหลไปตามภวังค์จิต มันก็ต้องฝืนโดยการไม่หลับ เพราะการไม่หลับ มันมีสติคุ้มครองอยู่ แต่หลับเมื่อไหร่ มันเป็นเรื่องของจิต จิตมันไม่มีสติคุ้มครองนะ จะบอกให้ มันดำเนินวิสัย ไปตามหน้าที่ นั่นคือปรุง ไปตามเหตุและปัจจัย ที่ไร้การควบคุม

สำหรับวิถีจิต พรหมจรรย์มันไม่เสียหรอก แต่มันฝืนยาก และที่สุด ใจก็จะไหลลงไปในกระแสจิตอีก สติมันก็จะอ่อนลงๆ เพราะธรรมชาติของใจ มันก็ไหลไปตามผัสสะ ง่ายอยู่แล้ว เพราะใจ มันก็เป็น อาการของจิต แต่ไม่ใช่จิต ใจมันเป็นใหญ่ ทำหน้าที่ในวิถีจิต อาศัยผัสสะ ทาง ตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ เป็นเครื่องดำเนิน ย้อมเข้าไปสู่จิต

ตัวที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์ รักษาใจ ไม่ให้ไหลไปตามกระแสแห่งผัสสะ ก็คือ สติ สตินี้ เป็นตัวเหตุปัจจัยแห่งศีล ที่จะมาเป็น หมาเฝ้ารักษาภัยให้เจ้าของ เราหาลูกหมา มาเลี้ยงดูกันมั่งรึยัง แรกๆ ก็ต้องเลี้ยงดู ฝึกหัดอบรมลูกหมาให้มันรู้จัก อะไรเป็นอะไร

เลี้ยงให้มันเป็นหมาใหญ่ ไม่ใช่เลี้ยงให้เป็นหมาน่ารัก เลี้ยงให้มันโตขึ้นเพื่อคุ้มครองเรา ไม่ใช่เลี้ยงเพื่อให้เรา คุ้มครองมันตลอดชีวิต พอภัยมา สติกลาย หมาหายหนีหมด เลี้ยงหมาอย่างนี้ ไม่มีทางที่มันจะมาคุ้มภัยเราได้ วันหนึ่งเราต้องเผชิญภัย ขอให้หมาที่เลี้ยงไว้ คอยเห่าภัยให้เจ้าของบ้าง ก็ยังดี

ภัยนี้คือความตาย อย่างน้อยหมั่นเลี้ยงหมาไว้ ไม่เติบใหญ่ ยังไง ก็ขอให้มีหมาไว้ เห่าภัย กับเขาซักตัว

เช้านี้ มาโม้ในเพจ ขอความสุขความสวัสดี พึงมีแก่ทุกๆ ท่าน สวัสดี..

พระธรรมเทศนา จากบทธรรม เรื่อง กรรม…เมื่อไหร่จะหมดซะที.… ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง