แนวทางแห่งธรรม…

แนวทางแห่งธรรม…

1104
0
แบ่งปัน
ถาม – ตอบ… ปัญหาธรรม…
แนวทางแห่งธรรม...
>> ลูกศิษย์ : สัตว์โลกย่อมเป็นไปกรรมค่ะ กรรมคือการกระทำ การปฎิบัติต้องยอมสูญเสียค่ะ ต้องหมดความสงสัยค่ะ ถ้าจะเป็นลูกพระพุทธเจ้าต้องยอมที่จะพลัดพลากจากของรักของชอบใจ  ไม่ได้พลัดพลากด้วยกายหยาบ  ก็ต้องพลัดพลากด้วยกายละเอียดรู้ละรู้ปล่อยรู้วางบ้างก็จะดีค่ะ สาธุค่ะ
<< พระอาจารย์ : ธรรมบทนี้ เข้าใจยากเด้อ เดี๋ยวมีคนบ่นอีก ธรรมแห่งปฏิจจสมุปบาทนั้น ลึกเกินหยั่งถึง สำหรับปุถุชน ลูกตาล..
เราจะปฏิบัติในคราบแห่งปุถุชน ย่อมยากแท้ เป็นดุจท่อนไม้สดที่แช่น้ำ เอามาสีให้เกิดไฟ ย่อมเป็นไปได้ยากยิ่ง ตามท่านว่า…
แม้บวชมา ก็ใช่จะเข้าใจกันได้ หากใจยังชุ่มไปด้วยตัณหา ดุจท่อนไม้ที่เต็มไปด้วยความสดแห่งยางที่โชกชุ่ม

การจะเข้าใจธรรม หากขาดสัตบุรุษผู้ชี้นำ เจ้าของก็ย่อมเดินนำตามความรู้สึกของตนเอง

แม้มีลายแทง เป็นหนทางเครื่องมือชี้นำ แต่เหตุปัจจัยมันไม่พร้อม ขาดกำลังและความชำนาญ  มันก็ย่อมออกจากห้วงภวังค์แห่งความหลงไม่ได้

มนุษย์เรา ย่อมไม่เข้าใจ ว่าทำไม ท่านกล่าวว่า.. ไม่มีตัวตน

คำกล่าวที่ว่า.. ไม่มีตัวตนนี้ คือตัวอนัตตา ที่มนุษย์ทั้งหลายไม่รู้ได้ว่า มันซ่อนอยู่ในอัตตา คือ ตัวตน เพราะความที่เราเห็นตน ว่าเป็นเรา เรา…จึงมองไม่เห็นถึงความเป็น อนัตตา

ไม่ว่าเราจะปฏิบัติแค่ไหน ถอดถอนยังไง มันก็ยังเป็นตัวเราอยู่นั่นแหละ ตรงนี้ ที่มันแยกไม่ออก สำหรับ ปุถุชน ที่แยกออก มันเป็นการแยกออกด้วยความคิด และความรู้

มันไม่ได้เป็นความจริงแห่งความเป็นอนัตตาได้เลย ท่านปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 สำเร็จด้วยคำสาธยายธรรมที่เรียกว่า อนันตลักขณสูตร

ทำไมท่านทั้ง 5 จึงสำเร็จได้ และอะไร คือความสำเร็จ ที่ชนรุ่นหลังบอกว่า คือความสำเร็จ แต่เรื่องนี้ หากอธิบาย สงสัยว่ามันคงจะยาวอีกหนอ..

เราจะประมวลภาพรวมให้เห็นก่อนว่า การเป็นพระอรหันต์ อย่างที่พวกเราเข้าใจ กับการที่ท่านทั้งหลาย บรรลุธรรมกันนั้น มันเข้าใจกันคนละฟากฝั่งทีเดียว

..พระอัสสชิ ท่านได้กล่าวกับพระสารีบุตรว่า  ธรรมอันใดเกิดแต่เหตุ ตถาคตกล่าวถึงเหตุและการดับแห่งเหตุนั้น สั้นๆ แค่นี้ ทำไมพระสารีบุตรบรรลุโสดาบันได้

และพระสารีบุตร แค่นำธรรมบทนี้ ไปบอกกล่าวกับเพื่อน คือพระโมคลานะ พระโมคลานะ ก็บรรลุพระโสดาบันได้เช่นกัน นี่…ทำไมบรรลุกันง่ายๆ จัง ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ต่างก็เป็นปุถุชนทั้งคู่

แค่เพื่อนมาบอกกล่าวกับเพื่อน ท่านก็ยังบรรลุธรรมได้ ไม่เห็นว่าจะยากเย็นแสนเข็นอะไร ตรงไหนเลย

ท่านไม่ได้ ไปนั่งสมาธิ ไม่ได้ไปเดินจงกลม ไม่ได้ไปพิจารณาให้เกิดญาณ ทั้ง 16 ขั้น ไม่ต้องอดข้าว ไม่ต้องฝึกปฏิบัติอะไร อย่างนั้นอย่างนี้ ตามที่ชาวพุทธเราสมัยนี้ ทึกทักกัน ซักกะหน่อย แต่ท่านก็บรรลุ

ฉะนั้น…การบรรลุธรรม ในความเป็นอริยชนเบื้องต้น ไม่ใช่เป็นสิ่งยากเย็นอะไรเลย ตามที่ท่านๆ ผู้ทรงคุณ ได้โม้ๆ กันมา

จิตที่เข้าไปสู่ความเป็นโคตรภูญาณ มันไม่ได้แยกเป็นดวงๆ หรือไหลไปตามขั้นๆ ของญาณนั้น ญาณนี้ ตามที่ผู้รู้ชี้ ว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้ เสมอไปเป็นแน่

การเป็นอริยชน เมื่อได้ฟังธรรม เกิดมีปัญญาเห็นจริง จากการพิจารณาธรรมที่ได้ผัสสะ ย่อมเข้าใจ และเห็นชัดว่า มันเป็นของมันเช่นนั้นจริงๆ

ใจมันจิกและปักลงไป โดยไม่โยกคลอน และมันจะถอดถอน ความยึดมั่นที่หลงยึดในบางประการ ที่ไม่รู้จริง ให้จางคลายลงมา

เรียกง่ายๆ ว่า ใจมันเห็นทางว่า มันเป็นของมันเช่นนี้ จริงๆ ตรงนี้ เรียกว่า มันคลายอุปาทานแห่งรูปทั้งหลาย ตามภูมิที่เจ้าของเข้าถึง ซึ่งแต่ละคน มันก็แจ้งไม่เหมือนกันอีก

แต่ทุกอย่างที่แจ้ง มันไปลงตรงที่ว่า มันเป็นของมันเช่นนี้เอง แท้จริง มันเป็นของมันเช่นนี้เอง

นี่..ท่านกล่าวว่า เป็นผู้คลายความสงสัย เป็นผู้ที่ไม่หลงงมงาย ที่ได้แต่ลูบคลำอีกต่อไป มันชัดแจ้ง ไม่สงสัย ในสิ่งที่ใจมันเข้าถึง

ซึ่งมูลเหตุแห่งการเข้าถึงในแต่ละคน ย่อมไม่เท่ากันและเหมือนกัน มันแยกไปตามวิสัยและภูมิปัญญาแห่งจิต

แต่สิ่งที่เป็นเหมือนกันก็คือ เกิดสติ ไม่ออกไปจากแนวทาง ที่แจ้งและรู้เห็นตามเหตุปัจจัยนั้นๆ นี่..เป็นอารมณ์ของชาวบ้านชั้นดี เรียกภาษาบาลีว่า พระโสดาบัน

พระโสดาบัน คือชาวบ้านที่ใจเป็นอริยชน คือมีใจที่เข้าใจอะไรได้สูงและทะลุลึกกว่าชาวบ้านทั่วๆ ไป

เป็นผู้มีสติ อันเป็นที่ตั้งแห่งใจ เป็นผู้เข้าใจเหตุ เข้าใจผล ผู้ที่เข้าใจเหตุเข้าใจผล ตามกำลังแห่งภูมิปัญญาตน นี่เรียกว่า เป็นผู้ที่เข้าถึงความเป็น อริยสัจ

รู้และพิจารณาได้ว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี่ดับ สิ่งนี้จึงดับ นี่…มันเข้าใจตามหลักเหตุหลักผลกันเช่นนี้

บาลีเรียกว่า กฏอิธทัปปัจจยตา เป็นกฏหลักแห่ง ความเป็นเหตุและเป็นผล ผู้ที่ใจเข้าถึงความเป็นอริยชน มันจะเข้าใจเหตุ เข้าใจผล

คือเป็นคน พูดรู้เรื่อง ไม่งมงายไปตามแนวแห่งความคิดตนตามมูลเหตุแห่ง สัญญาที่ยึดมั่นไม่ยอมวางด้วยความงมงาย

นี่..เป็นผู้ที่ใจมันละแล้วในอาการแห่งความหลงบางส่วน ที่ท่านเรียกว่า สังโยชน์ 3 คือหลงในความไม่รู้ในรูปทั้งหลาย

นี่ เรียกว่า สักกายทิฏฐิ หลงในความยึดมั่นแห่งตน หากผัสสะกับสิ่งที่ไม่ตรงกับที่ตนยึด ก็เกิดความสงสัย เรียกว่า วิจิกิจฉา

ยึดมั่นในสิ่งต่างๆ ด้วยความไม่รู้ ถึงรู้ก็รู้แบบลูบๆคลำๆ ไม่สว่างแจ้งโล่งด้วยใจที่มันประจักษ์จริง เรียกว่า ยังงมงายในสิ่งที่ยึดนั้น หรือ บาลีว่า สีลพตปรามาส

นี่..เป็นเครื่องร้อยรัด ให้ใจเป็นปุถุชน หรือชาวบ้านทั่วๆ ไป ไม่สามารถเป็นใจ อริยชน หรือชาวบ้านชั้นดีไปได้

ผู้ที่รู้อยู่เช่นนี้ จะเป็นใจ ที่มีความละอายชั่วกลัวบาป มันเป็นสติที่ระลึกถึงเขาและเรา เหตุและผล ด้วยการพิจารณาคือ  โยนิโสอยู่เนืองนิจ หากเกิดการผัสสะ ที่ถึงทิฏฐิ คือ..ต้องทำ ทางกาย วาจา และใจ

ผู้ที่เข้าถึงความรู้เห็นเช่นนี้ โจร ผู้ร้าย คนชั่ว ผู้ทุศีล คนดี ต่างก็มีใจเข้าถึงได้เสมอกันทุกคนเช่นกัน

เป็นเพียงแต่ท่าน ที่ประคองใจ ด้วยสติ ระลึกถึงความละอายชั่วกลัวบาป จนกายแตก ด้วปัญญาเพียงเท่านี้ นี่..จึงเรียกว่า พระโสดาบัน

แต่หากรู้แล้ว ประจักษ์แล้ว ใจประคองความดีนี้ ที่ได้ประจักษ์ใจไม่ได้ นี่…หวลกลับไปสู่ความหลง ที่ยึดมั่นและงมมงาย

ท่านเหล่านี้ ยังเป็นใจที่ไม่ก้าวเข้าไป เป็นอริยชน แม้จะรู้แค่ไหน ก็ยังเป็นใจปุถุชน ที่พ่ายแพ้ เรียกว่าเป็นใจที่เป็น ปาราชิค

ผู้ที่ไม่ปาราชิค คือผู้ที่มีใจ ตั้งมั่น ประคองตามกำลังแห่งภูมิปัญญาที่พึงมี โดยไม่ยอมถอดถอน ปัญญาขั้นนี้ เรียกว่า อริยชนขั้นต้น ที่เรียกว่า พระโสดาบัน

พระโสดาบัน เป็นใจที่ประคองไว้ได้ โดยไม่หลงไหลตกลงไปในความชั่ว ที่กระแสโลกเขาเขาสมมุติกัน เป็นใจที่ตั้งมั่นดีแล้วด้วยสติตน ที่ได้เฝ้าดูแล จนกายแตกตาย

ฉะนั้น…ทุกคนที่พบพระพุทธศาสนา เป็นผู้ที่เป็นใจอริยชนได้ทั้งนั้น หากมีกำลังสติสอดส่อง และประคองใจ ให้เข้าใจ ว่าใดๆ มันก็เป็นของมันเช่นนั้นอยู่แล้ว

เรา..พึงยอมรับมัน เมื่อได้รับการแก้ไข และวินิจฉัยถึงที่สุด ความเป็นพระโสดาบัน ง่ายๆ แค่นี้ ทุกๆ คนเป็นกันได้ ไม่เป็นการยากเย็น

แต่หากมีปัญญา มากไปกว่านี้ ก็จะเกิดปัญญาสอดส่องลงไปถึง เวทนา จิต และธรรม ซึ่งธรรมเหล่านี้ มันแสดงตนอยู่รอบๆ ตัวเราตลอดเวลาอยู่แล้ว

เพียงแต่เรา ต้องเริ่มมีปัญญามีดวงตาเห็นธรรมในเบื้องต้นให้ชัดเจนซะก่อน ที่เหลือจากนั้น เป็นเรื่องไม่ยาก เพราะมันต่อเนื่องและสืบต่อไป ด้วยกำลังแห่งภูมิปัญญาที่แต่ละคน สร้างสมมา

เรา..ประคองใจให้ได้ ดั่งที่ท่านได้ประกาศไว้ใน ปาฏิโมกข์ศีลว่า เราจะไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี และจักรักษาความดีนี้ ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ทรงตรัสเช่นนี้ เพราะนี่คือ…หัวใจของพุทธศาสนาในทุกๆ ยุค พระอัสสชิ วันที่ท่านเข้านิพพาน ท่านได้รับทุกขเวทนาจากการปวดท้อง ที่แสนสาหัส

เมื่อท่านทนไม่ไหว จึงได้อัญเชิญพระพุทธองค์มาทรงโปรด ท่านอัสสชิกล่าวต่อหน้าพระพักต์ว่า ข้าพระพุทธองค์เจ้า ข้าพเจ้า คงตกจากความดีเสียแล้ว เพราะเวทนาอันแรงกล้า ข้าพเจ้า ไม่สามารถข่มได้เสียแล้วพระเจ้าข้า..

ตรงนี้ ย่อมแสดงว่า แม้แต่ความเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ยังต้องประคองใจ ไม่ให้ตกไปจากความดี จนกว่ากายเจ้าของจะแตกตายไป เช่นกัน

พระพุทธองค์เจ้า จึงทรงตรัสเตือนสติ ด้วยคำแห่ง อนัตตา เพราะพระอัสสชิบรรลุถึงความเป็นอรหันต์ ด้วยธรรมแห่ง อนัตตา

เป็นธรรมบทที่สอง ที่พระพุทธองค์ ทรงรสจนาต่อจาก ธรรมจักร์ฯ ที่ได้ประกาศเป็นปฐมเทศนา เมื่อได้สติ ธรรมแห่งวิวัชจยะ ก็เกิดการสอดส่อง

ใจก็เกิดปิติธรรม ระลึกถึงความเพียรที่ได้ประคองใจมา ความเย็นกายเย็นใจสงบกายสงบใจก็พึงเกิด

เมื่อความสงบใจเกิด สมาธิก็เกิด

เมื่อสมาธิเกิด อุเบกขาก็เกิด

เมื่ออุเบกขาเกิด ความยึดมั่นในธรรมทั้งหลาย ที่มีที่เป็น ก็จางคลาย

นี่..เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ เรียกว่า โพชฌงค์

พระอัสสชิ เข้าสู่นิพพาน ด้วยอาการแห่งสติ ที่เรียกว่า โพชฌงค์ คือเข้าใจในกระบวนการแห่งธรรม ที่เป็นความอนัตตา เรียกว่า มันเป็นธรรมดาของมันเช่นนั้นเอง

ท่านเข้าใจธรรมตรงตามความเป็นจริง ด้วยสติ ที่ได้รับการวินิจฉัยธรรม ตรงตามความเป็นจริง เมื่อมีรูป เวทนาย่อมมี มันเป็นธรรมดาของมันเช่นนี้

ที่สุด ท่านนิพพานไป ด้วยใจที่วางอุเบกขา ถึงแม้ว่า ท้องจะเจ็บปวดด้วยเวทนาอันแรงกล้าอยู่เช่นเดิมก็ตาม นี่…เพราะท่านมีหัวใจที่เข้าใจธรรม

เช้านี้ ขอโมทนาบุญกับทุกท่าน ที่ได้มาร่วมฟังธรรมสดๆ แห่งมุตโตทัย

เช้านี้ ขอความสุขสวัสดีมีชัย พึงบังเกิดแก่ใจในทุกๆท่าน ขอสวัสดี..!!

พระธรรมเทศนา จากบทธรรม เรื่อง แนวแห่งปฏิจสมุปบาท… ณ วันที่ 16 เมษายน 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง