กาลแห่งศีล

กาลแห่งศีล

1434
0
แบ่งปัน

กาลแห่งศีลเรื่องนี้ ถามตอบกันในเฟส จึงยกออกมาลงให้เห็นกัน

>> ลูกศิษย์ : ทำไมเกิดอาการกลัว จึงเป็นผู้ไม่มีศีลค่ะ

<< พระอาจารย์ : จะอธิบายให้หนูลักษ์ฟังนะจ๊ะ พอว่างอยู่เล็กน้อย ว่า… ทำไม เกิดอาการกลัว จึงเป็นผู้…ไม่มีศีล..

ขอให้หนูเข้าใจก่อนว่า การแสดงธรรม ย่อมมีกาลประกอบด้วย เสมอ เหตุที่เราไม่ค่อยเข้าใจธรรมกัน เป็นเพราะ เราไม่เข้าใจกาล

เรามักจะเข้าใจ รวมกันเป็นก้อนเป็นเวลาเดียวกัน แล้วใช้เหตุผลที่เราจดจำ มาเป็นตัวตัดสิน การเข้าใจธรรม มันก็เลยคลาดเคลื่อนกัน

เพราะเราไม่ได้แยกกาลเหตุและปัจจัย มาเป็นองค์ประกอบ ในการตัดสินใจ หากจะอธิบายเลย ก็ย่อมได้ แต่เราไม่รู้เหตุ เมื่อไม่รู้เหตุ เราก็ว่าไปตามเหตุและผลที่มันหลงๆ กาล

คำว่าศีล เป็นความหมายแห่งแข็งแรง เป็นศิลา เป็นปกติธรรมดา ของภาวะแห่งใจ ผู้ที่มีกำลังทางธรรม ย่อมมีปกติ ตั้งมั่นอยู่ในศีล

พวกโจร ก็มีศีลอย่างโจร พวกบ้าวิชา บ้าพลัง ก็มีศีลอย่างพวกบ้าวิชา และบ้าพลัง ศีลเป็นปกติความเชื่อมั่นแห่งใจ ที่มันปักหลักไปในกระแสใด กระแสหนึ่ง

คราวนี้ เราผู้เป็นนักบวช เราก็มีศีลอย่างนักบวช และในโลกนี้ เหล่านักบวช ต่างมีมากมายหลายลัทธิ และหลายความเชื่อกันอีก

คำว่าศีล จึงมีความหมายไม่เท่ากัน ทั้งทางด้านความเชื่อ และปฏิบัติ เราจะไปตัดสินว่า ใครผิดใครถูกในข้อศีลไม่ได้เลย เพราะเรามีความเชื่อ ไม่เท่ากัน

ชาวพุทธเมื่อพูดเรื่องศีล มันก็ไปอีกอย่าง ชาวอิสลาม ก็ไปอย่าง ชาวคริสต์ ก็ไปอย่าง พวกชาวเขาชาวป่าชาวดอย ก็ไปอย่าง

เราจะเอาศีลที่เราพูดๆ กัน มาว่ากล่าวผู้คนที่ต่างลัทธิ ต่างความคิด นี้ มันเป็นเรื่องไม่ถูก ทีนี้ เมื่อเรากล่าวถึงผู้ทรงคุณ ในพระพุทธศาสนา

ตรงนี้ ที่เรียกว่าศีล คือความตั้งมั่นในความมีหิริโอตัปปะ ที่เกิดขึ้นในใจ เกิดจากปัญญา ที่ได้เจริญแล้วว่า การเบียดเบียน การขโมย การโกหก การเป็นชู้ กับผู้อื่น เป็นสิ่งไม่ดี

เราไม่ชอบฉันใด เขาก็ไม่ชอบฉันนั้น เราจึงพึงมีสติ รักษากายวาจาใจ ไม่ควรไปกระทำเช่นกัน ใจที่ระลึกเช่นนี้ จนเป็นความเคยชิน

ย่อมเป็นใจที่ไหลต่อเนื่องด้วยสติ ที่เป็นปกติแห่งจิตใจ ย่อมเป็นใจที่เป็นศีล ผู้ที่มั่นใจว่า เราเป็นผู้ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ขโมยของใคร ไม่โกหกใคร ไม่เป็นชู้กับคนของใคร

ย่อมมีที่ยืนบนโลกนี้ ได้อย่างปลอดภัย เพราะเป็นผู้บริสุทธิ์ ด้วยประการทั้งปวง นี่..ผู้ที่มีศีล ท่านเป็นผู้มั่นใจเช่นนี้ เพราะเป็นผู้ ไม่มีอะไร ที่จะไปต้องโทษใจใคร ในสังคม

เป็นผู้อยู่ได้ อย่างไม่เก้อ เป็นผู้อยู่ได้ อย่างสง่างาม บนโลกผืนนี้ เพราะมันมั่นใจในความเป็นปกติแห่งใจ ที่มันไหลมาทาง บริสุทธิ์

ไม่ต้องกลัวและหวาดผวากับสิ่งใดๆ กับใคร ที่เขาจะมาเพ่งโทษ หรือให้โทษแก่กาย และใจเรา นี่..คนมีศีล ท่านจึงไม่กลัวเกรงอะไร เพราะมั่นใจ ในความบริสุทธิ์ ของใจตัวเอง

ส่วนศีลอย่างพระ ซึ่งเป็นผู้เข้ามาสละ มาฝึกมาปฏิบัติ ยิ่งมีความมั่นใจ ในผลแห่งความบริสุทธิ์สูง ย่อมไม่เกรงกลัวต่อสิ่งใด นี่คือผล

ผลแห่งการมีศีล อันเป็นที่ตั้งแห่งใจ ใจที่เป็นศีล มันจึงไม่หวั่นเกรงภัยอะไรใดๆ นี่..เป็นปกติใจของผู้ทรงศีล แต่เมื่อไหร่ที่ต้องเผชิญ ภาวะที่ถึงทิฏฐิ กระทบถึงทิฏฐิ

ความมีศีล มีกำลังไม่พอ ใจมันยังหวั่นไหวอย่างที่ข้าเป็น ที่ได้เล่าให้ฟังในธรรมเรื่องนี้ เพราะศีลที่ขาด สมาธิ ศีลที่ขาดปัญญา มันย่อมมีของมันอยู่ ในบางสถาณะการณ์ ที่ถึงซึ่งทิฏฐิ

เพราะความกลัว มันเป็นอาการอย่างหนึ่ง ของจิต ที่มันสร้างอาการขึ้นมา ปรุงขึ้นมา เพื่อรักษารูป ความกลัว เป็นโทสะอย่างหนึ่ง ที่รักษารูป

มันเป็นอาการ ของมัน เช่นนั้นเอง เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติแห่งสังขารจิต ที่มีที่เป็นของมันเช่นนั้นเอง ใจที่ตั้งมั่นแห่งศีล มันมีขอบอาณาเขต สุดๆ เพียงแค่นั้น เกินจากนั้น มันต้านทานไม่ได้แล้ว

ที่ต้านทานได้ เพราะมันไม่กระทบถึงทิฏฐิ แห่งตัวตน ที่มี ที่เป็น ที่มันซ่อนลึกอยู่ภายใน มันยากแก่การต้านทาน เพราะผลมันแสดงออกมาให้ประจักษ์ใจอยู่ ว่ามันกลัว มันพรั่นพรึงต่อสิ่งที่กระทบ

ทั้งๆ ที่เราก็มั่นใจ ว่าเราเป็นคนมีศีล เราไม่พรั่นพรึงต่อสิ่งใด เพราะเราไม่ได้คิดที่จะทำชั่ว เราทำแต่ความดี และรักษาความดีนั้น ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

นี่..เป็นปาฏิโมกข์ศีล ที่พระพุทธองค์เจ้าทุกๆ พระองค์ ทรงตรัสสอนชี้แนะเลยทีเดียว แต่เมื่อมันมาถึงซึ่งทิฏฐิ ความกลัวก็มีกำลังมากกว่า

กำลังใจที่เป็นปกติ ที่มันเป็น ทีพอมาเป็นกลางวัน ข้านี้ท้าเหย๋งๆ ไม่รู้สึกกลัวอะไรเลย ก่อนหน้านั้น สามสี่คืน ก็ไม่รู้สึกหวาดหวั่นอะไร

แต่พอกระทบใจเข้าหนักๆ และอาศัยบรรยากาศเป็นใจ มีศีลแค่ไหน มันก็เกิดอาการน้ำบานว่ะ เมื่อกระทบถึงทิฏฐิ เพียงแต่ใจที่ฝึกมาดีแล้ว มันย่อมประคับประคองใจของมันไปได้ อย่างหมาจนตรอก

มันถึงได้กลับมาพิจารณาใคร่ครวญอีก ถึงผลที่ปรากฏ และตกลงใจที่จะอยู่ต่อ เพราะน้ำหนักทางด้านกล้าที่จะเผชิญ มันมีมากกว่า

และการเผชิญเช่นนี้ ข้าก็เผชิญมาหลายต่อหลายครั้ง ในแต่ละที่ และมันก็ปอดแหกทุกครั้ง ที่ต้องเผชิญ เพราะสันดานมันชอบปอดแหก

ที่มันประคองตั้งมั่นอยู่ได้ มันเป็นใจที่มากไปด้วยสติ สมาธิ และปัญญา มันหาทางสอดส่องธรรม เพื่อประคับประคองและรักษาใจ ให้มันพออยู่รอดปลอดภัยทุกครั้ง

แต่พอผ่านแล้ว ประจักษใจว่าผ่าน ใจมันก็จะตั้งมั่นและไม่หวั่นไหวอีกต่อไป ในสถานที่นั้นๆ หรือบริเวณใกล้เคียง ฉะนั้น แม้เราจะมั่นใจว่าเราเป็นผู้ทรงคุณด้านศีล แต่ผลที่ประจักษ์ มันระลึกรู้อยู่ว่า มันยังหวั่นไหวอยู่

นี่แสดงว่า ศีลแห่งใจดวงนี้ ยังไม่บริสุทธิ์ เพราะยังมีความกลัวและพรั่นพรึงแอบแฝงอยู่ภายใน เมื่อกระทบถึงทิฏฐิ

เพราะ ศีลในศีลก็มี ศีลในสมาธิก็มี ศีลในปัญญาก็มี พระอรหันต์ ท่านก็มีศีล ยิ่งใหญ่อย่างพระอรหันต์ พระอริยเจ้าที่กำลังใจต่างลงมา ท่านก็มีศีลในระดับขึ้นปัญญาของท่าน เท่าที่กำลังใจท่านจะอำนวย

พระอนาคามี เราบอกว่า ท่านมีศีลอันเป็นกำลังบริสุทธิ์ แต่ศีลท่านไม่บริสุทธิ์ เมื่อเทียบศีล ขั้นอรหันต์ นี่..ศีลมันมีกาลของมันอย่างนี้

ไม่ใช่ว่า พอพูดว่ามีศีล มันจะเป็นศีลแค่ไหนแค่นั้น นั่น..เรากำลังยัดเยียดความคิด ที่เราเป็น ว่าต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้

ใจดวงนี้..เมื่อได้เผชิญแล้วหวั่นไหว มันก็ต้องเสริม สมาธิและปัญญาเข้าไป เป็นกำลัง กำลังแห่งสมาธิและปัญญาก็คือ สติที่พิจารณา สาวผลไปหาเหตุ ตามหลักอริยสัจ

เมื่อได้เหตุที่พอประจักษ์ เราก็ไปแก้ตรงเหตุนั้น เหตุที่โดนแก้ ผลย่อมคลายและจางหาย จากความพรั่นพรึง โดนธรรมชาติแห่งสันดาน มักเป็นเช่นนี้ซะด้วย

มันจึงปลงใจ ตกลงที่จะอยู่ เพื่อเผชิญต่อ นี่…เพราะกำลังใจ ที่มีศีลเป็นเหตุ เป็นที่ตั้ง แต่…..กำลังมันยังไม่พอ มันยังหลงอยู่

อาการหลงแห่งจิตนี่แหละ ทำให้ใจมันเกิด อาการพรั่นพรึง มันจึงรู้ว่า ใจดวงนี้ มันยังหลง และยังไม่บริสุทธิ์พอ ในยามที่จะต้องเผชิญ

มันจึงเป็นบทเรียน ให้หาวิธี เพื่อเสริมกำลังใจ ให้มันยิ่งใหญ่ ให้มันยิ่งๆ ขึ้นไป ก็ในเมื่อ เครื่องมือแห่งการเสริมกำลังใจ ให้มันยิ่งใหญ่ มันก็มีพร้อมอยู่แล้ว

มันอยู่ที่กำลังใจ ว่าจะสู้ฝ่าฟันต่อ หรือถอยหนี ไป แล้วมีผลและกำลังใจ…..เท่าเดิม ข้าจึงเลือกที่จะ เผชิญต่อ ก็แค่ตาย ตายแล้วจะได้ไม่ต้องมีกาย มีใจ มาพรั่นพรึงอีก

นี่..จึงว่า แม้มีศีล แต่ถ้าหากยังมีความกลัวอยู่ มันก็ยังไม่…บริสุทธิ์พอ พอที่จะเป็นนักบวช อย่างสมภูมิที่ได้เข้ามาบวช ครองผ้ากาสาวพัตร์ได้…. เที่ยงนี้ สวัสดีครับ.!!

ถาม – ตอบ ปัญหาธรรม ณ วันที่ 14 มีนาคม 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง