มรรคแปดเข้าใจแค่ไหน???

มรรคแปดเข้าใจแค่ไหน???

1214
0
แบ่งปัน

วันนี้ได้ไปเทศธรรมให้น้องเขาฟังเรื่องมรรคแปด เราจะฟังกันไหม ธรรมยามเที่ยง

มรรคมีองค์แปด…??

>> ลูกศิษย์ : ตอนเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ เถียงกับอาจารย์ จนเพื่อนงง เพราะปกติเป็นคนเรียบร้อย…. ศิษย์เสนอเรื่องศิลปะแห่งการดำเนินชีวิตตามมรรคแปด

ศิษย์บอกว่าจะสำรวจเก็บข้อมูลผู้สูงอายุ แล้วมาวิเคราะห์ จับลงว่าเป็นมรรคข้อไหน แล้วถ้าเรียนต่อป.เอก จะสร้างเครื่องมือ วิธีการ ที่จะทำให้คน ดำเนินชีวิตตามมรรคทั้งแปดได้

อาจารย์บอกว่า มันสูงเกินไป ใครจะเดินตามมรรคแปดได้ครบ ศิษย์ก็ว่า เรามาเรียนมหาวิชชาลัย ก็เพื่อขจัดอวิชชาไม่ใช่เหรอคะ การเดินเข้าเส้นทาง มันยาก แต่จะไม่เดินเหรอ

ถ้าทำวิทยานิพนธ์ หัวข้อโหลๆ จบง่ายๆ ศิษย์ไม่ทำ เสียเวลา สูญเปล่า ไร้ค่า เปลืองกระดาษ เปลืองหมึก

นมัสการวันพระค่ะ…หลวงพี่..

<< พระอาจารย์ : คนไม่เข้าใจ ว่าอะไรคือมรรคแปด มันก็คิดอย่างแปดเปื้อนไปหมด ดีแล้ว ที่ไม่ได้ทำวิทยานิพนธ์

เราเอาเปลือกที่เขาเรียกว่า มรรคแปด มาเรียนรู้กัน ควรกลับไปศึกษาวิเคราะห์ ธรรมจักรกัปปะวัตนสูตรดูใหม่ซิ อะไรคือเหตุแห่งมรรคแปด

อะไรคือเหตุ แห่งคำว่า สัมมา อะไรคือเหตุแห่งคำว่า มิจฉา

>> ศิษย์ : ได้การบ้าน

<< พระอาจารย์ : ลองพิเคราะห์ด้วยปัญญาดูซิ อาจเห็นอะไรที่แท้ตรงตามความเป็นจริงบ้าง นี่พุทธเรา เอาผลมาขยาย ไม่เอาเหตุมาขยาย ไม่ชี้ลึกสาวลงไปที่เหตุ จึงเป็นพุทธแบบเปลือกๆ มีแต่ผลของความรู้ ไร้เหตุแห่งความรู้

>> ศิษย์ : สาธุ… เมื่อวานเด็กกระติก ชวนไปเกาะค่ะ เอ๊….จะให้ง่าย นี่ต้องอาราธนาหลวงพี่แสดงธรรมเรื่องมรรคซะเลย…. จะโดนเคาะหัว ฐานขี้เกียจมั้ยเนี่ย…. อัดเสียงได้นะคะ มาแกะเอง….อิ…อิ หาทางง่ายจนได้ มรรค…ง่าย

>> พระอาจารย์ : ขี้เกียจนั่งจิ้ม เรื่องมรรค แสดงไปเยอะแล้ว ก็โอเค จะโม้ให้ฟังซักเล็กน้อย

เห็นส้มไหม ส้ม 1 ผล มันมีองค์ประกอบ ด้วย เปลือก ด้วยเส้นใย ผิวเนื้อ เนื้อ น้ำหล่อเลี้ยงเนื้อ เมล็ด กลีบเนื้อ และไส้ใน นี่..องค์ประกอบของมัน ทั้งหมดนั้นแหละ เรียกว่า ส้ม

เราเอาองค์ประกอบ มาทำอะไร เพื่อสมมุติเรียก เพื่อให้รู้ เพื่อแยกย่อย ว่าอะไรเป็นอะไร กับส้มผลนั้น

ผู้มัวแต่ หาความจริง ว่านี่ เป็นอย่างนี้ แยกย่อยออกมา เป็นอย่างนี้ มันมีประโยชน์ แค่ชื่อเรียก

แต่เด็กเลี้ยงควาย มาเจอส้ม ไม่รู้จักหรอก ว่านี่อะไร หากกินได้ กูกินเลย มันคงไม่มานั้งแยกแยะอะไร ให้วุ่นวาย นี่..เด็กเลี้ยงควายก็อีกนัยหนึ่ง

มรรคแปดก็เหมือนกัน มันเป็นองค์ประกอบของส้ม แค่ผลเดียว หากจะเทียบกับก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม ท่านก็จะแยกออกอีกว่า นี่เส้น นี่เนื้อ นี่ผัก นี่น้ำ นี่ๆๆๆๆ แท้จริง มันก็คือก๋วยเตี๋ยว แค่ ชามเดียว

การแยกให้เห็นนี่ เพื่อชี้ว่า มีอย่างนี้ ไม่ใช่ให้ไปเป็น ท่านชี้อยู่แล้วว่า มันเป็นองค์ประกอบ ท่านแยกองค์ประกอบ นั้นออกมาให้เห็นว่า มีอะไรบ้าง

องค์ประกอบแห่งมรรคนี้ก็เช่นกัน มรรคนี้เป็นผล เหตุมันเกิดจากใจ ที่มีตัณหา ผุดขึ้นมาไม่รู้จบโน่น ตรงนั้น เป็นเหตุและผลแห่งมรรค

ตัณหา มันก็อาศัยเวทนา ที่มาจาก ผัสสะ เหตุของผัสสะ ก็คือ อายตนะ ที่เป็นนามรูป ในกาลปัจจุบันที่เป็นเราเขานี่แหละ

นี่..กล่าวถึงปัจจุบันอัตภาพ เอาอาณาเขตกาลขั้นไว้แค่นี้ อย่าให้ล้ำไปไหน ไม่งั้นคุยไม่รู้เรื่อง เพราะกาลมันซ้อนๆ กันมาก

ทีนี้ เมื่อเข้าใจในกาลนี้ ขั้นไว้แค่รูปและนามนี้ เราก็สาวผลนี้ไปหาเหตุมันอีก และสาวเหตุย้อนกลับไปหาผล ที่ต่างกาลกันในปัจจุบันของรูปนามอีก

เพราะนามรูปมี สฬายะตนะ จึงมี
เพราะสฬายะตนะมี ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะมี เวทนาจึงมี
เพราะเวทนามี ตัณหาจึงมี

ตัณหาตัวนี้ มันผุดขึ้นมา ด้วยเหตุแห่งกระบวนการอย่างนี้ กระบวนการเช่นนี้นี่แหละ เราเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ใจ ใจ..เป็นอาการของจิต หากอธิบาย ก็จะยาวขยายออกไปอีก

ตัณหาที่ผุดขึ้นมาจากใจไม่รู้จบนี่แหละ คืออาการและเหตุที่มา ตามที่พระพุทธองค์กล่าวมาในบท ธรรมจักรฯ

>> ศิษย์ : ปฏิจจสมุปบาท.????

<< พระอาจารย์ : ตรงนี้ เราจะเรียก ปฏิจสมุปบาท หาได้ไม่

>> ศิษย์ : อ้าว..!!

<< พระอาจารย์ : เพราะเหตุผล มันไม่วนครบกาล ที่เป็นรอบแห่งวัฏฏะ ทั้งสามกาล เราเรียกตรงนี้ว่า อิธทัปปัจจยตา ไม่ต้องมาอ้าว ไอ้น้อง..

นี่..เป็นกฏอิธทัปปัจจยตา เพราะ อาศัย เหตุและปัจจัยซึ่งกันและกัน เพราะเหตุนี้ มันเป็นธารไหลมาเช่นนี้

เมื่อเกิดผัสสะ เวทนาย่อมเกิด

เวทนาเกิด ตัณหาย่อมเกิด

เมื่อตัณหาเกิด อยาก ก็เป็นตัณหา ไม่อยาก ก็เป็นตัณหา เฉยๆ ก็เป็นตัณหา

ที่เป็นตัณหา เพราะมันได้ผ่านกระบวนการ จนผุดออกจากใจไม่รู้จบนี่แหละ

ท่านจึงชี้ให้มาสกัดกั้น อยู่ตรงนี้ คือสกัดกั้น ตรงตัณหาที่ผุดออกมาจากใจไม่รู้จบ ตรงนี้

หากเราได้สดับ ได้รับฟังธรรมจากสัตบุรุษมา มันก็จะเกิดศรัทธา

เมื่อเกิดศรัทธา ก็จะเกิดการ พิจารณา

เมื่อเกิดการพิจารณา ก็จะเกิด สติ

ผู้มีสติ ย่อมมีความสำรวม อินทรีย์

ผู้สำรวมอินทรีย์ ย่อมเป็นผู้ สำรวม ทั้งทาง กาย วาจา ใจ

บุรุษเช่นนี้ ย่อมมีสติ เลือกและพิจารณา เหตุที่เป็นตัณหาผุดขึ้นมาจากใจ ไม่รู้จบนี้ได้

หากมีสติ ตรองและพิจารณา มาทางดับ นี่..เรียกว่ามรรค ผลก็คือ นิโรธะ

หากไร้สติ ไหลไปตามผัสสะ ที่มันผุดขึ้นมาไม่รู้จบ เรียกว่า สมุทัย ผลก็คือ ทุกข์

นี่..คือหลักอริยสัจ เป็นหลักเหตุ หลักผล

เหตุนอก เป็นสมุทัย เหตุใน เป็นมรรค

ผลนอกก็ทุกข์ ผลในก็เป็นนิโรธ

ใจที่ดำเนินมาทางก่อ คือสมุทัย ผลวิบากก็ทุกข์

ใจที่ดำเนินมาทางดับ คือมรรค ผลก็คือ สงบ เย็น จางคลาย นี่..คือนิโรธะ

ใจที่ไหลมาทางดับ เรียกว่า สัมมา

ใจที่ดำเนินมาทางก่อ เรียกว่า มิจฉา

>> ศิษย์ : สาธุ….ศิษย์โชคดีจริงๆ

<< พระอาจารย์ : ทีนี้ สัมมา มันก็มีองค์ประกอบ ที่เรียกว่ามรรค มรรคไม่ใช่ แยกทำกันอย่างที่เหล่าอรรถาจารย์อธิบายอย่างนั้น

สัมมา ก็เสมือน เราติดกระดุมเม็ดแรกถูก ที่เหลือ ย่อมถูกหมด

มิจฉา เปรียบเสมือน ติดกระดุมเม็ดแรกผิด ที่เหลือ ย่อมผิดหมด

นี่..เป็นธารดำเนินแห่งอริยสัจ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสกล่าวไว้ ในธรรมจักรฯ นักตำรา แปลกันมั่วเอง

อย่างสัมมาอาชีโว ไปแปลเป็นการประกอบอาชีพของชาวบ้านไปโน่น สัมมาวาจา ก็ไปแปลว่า พูดดี พูดเพราะไม่พูดโกหกไป คงลืมไปว่า โจรมันก็ตอแหลในอาการได้

ชาวพุทธนักตำราเรา แปลกันโง่หลาย เราก็เลยโง่ตามๆ ไปด้วย เราถึงไม่เข้าใจกันตามวิถีมรรค

ใจที่เป็นกุศล มีสติระลึกถึงกุศล มีความละอายชั่วกลัวบาป นี่..เป็นใจที่ดำเนินมาทางมรรคแล้ว

รู้เหตุรู้ผล อะไรควรไม่ควร พิจารณาดีแล้ว ไม่ทำให้ตนเองหรือใครเดือดร้อน นี่..ก็เป็นใจที่ดำเนินอยู่ในวิถีมรรค

แค่ยกมือไหว้พระ ด้วยใจที่นอบน้อม นี่… จะเรียกว่า เป็นสัมมาวาจาก็ได้ จะเรียกว่า สัมมา อาชีโวก็ได้ จะเรียกอะไรก็ได้ ในชื่อทั้งแปด เพราะมันเป็นอาการแห่งส้ม แค่ผลเดียว

กล่าวเช่นนี้ นักวิชาการทางมรรคก็งง และคงแย้งในใจ การยกมือไหว้ด้วยใจที่นอบน้อม ด้วยใจที่เป็นกุศล มันเป็นสัมมาวาจาได้อย่างไร

ก็วาจา ความหมายคือการแสดงออก อะไรก็ได้ ที่แสดงออก และสื่อออกมา เป็นวาจาทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่พูดอย่างเดียว อย่างที่เราๆ เข้าใจกัน

การแสดงออก ทางกาย วาจา ใจ ล้วนเป็นสัมมาวาจาทั้งสิ้น หากแสดงออกและสื่อออกมา ด้วยจิตที่เป็นกุศล

เรากวักมือ คนเขาย่อมเข้ามาหา เราเอ่ยคำซะที่ไหน ไม่งั้นคนบ้าใบ้ ก็คงจะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง เพราะไม่มีคำที่เปล่งออกมาเป็น วาจา

นี่..เรื่องมรรคนี้ เรื่องสัมมานี้ เรื่องมิจฉานี้ แปลความหมายกันผิดถนัด แค่เอามาพูดเพื่อเป็นการฟาดฟัน ด้วยความรู้กันแค่นั้น

อย่างสัมมาอาชีโว อาชีพชอบนั่น หมายความว่า เป็นเครื่องอยู่ และเครื่องดำเนินเลี้ยงจิตใจ ให้เป็นไปตามครรลองแห่งทางสติที่เป็นกุศล

นี่..เป็นความหมายแห่งองค์มรรค มันเป็นเป็นองค์สัมมาที่ดำเนินมาทางดับ จากตัณหาที่ผุดจากใจขึ้นมา ไม่รู้จบ

อธิบายเช่นนี้ จึงเป็นการยอมรับกันยาก เพราะดูเป็นการขวางโลกที่เขา ว่าๆ กัน แต่เราก็ควรดูผลปัจจุบัน แห่งตัวเราซิ ว่า ผลที่แสดงออกมาทางใจเรา มันเป็นเช่นไร

ใจออกจากทุกข์ได้ไหม หากผลยังเหมือนเดิม แสดงว่า หนทางที่รู้มา เราเข้า ไม่ถึงธรรมเลย ติดแค่เปลือกหมด…

เที่ยงนี้ก็คงสาธยายธรรมตามความเป็นจริง ที่ได้ประจักษ์และพิจารณาอย่างดีแล้ว ในทางแห่งปัญญา และรู้เห็นมา ตามวิสัยและอัธยาศัยแห่งจิตใจเช่นนี้ อย่าว่าขวางใครเลย เราเห็นเป็นอย่างนี้จริงๆ หวัดดี…

ธรรมบทนี้ พอข้าแสดงไป ทั้งๆ ที่เขาขอมา ยิ่งฟัง เขายิ่งเดือดร้อน ข้าเลย จบซะ จะได้ไม่ต้องเหนื่อย เหตุเพราะเขากลัวว่า จะเป็นการย่ำยี สถาบันอาจารย์เขา แสดงว่า ธรรมที่ข้าแสดงออกไปนี่ หากเป็นพวกนอกๆ มันแทงใจแห่งทิฏฐิ แต่แย้งอะไรข้าไม่ได้ ฮ่าๆๆ

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 8 มีนาคม 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง